×

ค่าเงินบาท อ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี นักวิเคราะห์มองแนวโน้มสิ้นปียังกลับมาแข็งค่าได้

16.09.2022
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาท ไทยยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย โดย ณ เวลา 12.40 น. ของวันนี้ (16 กันยายน) เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงราว 0.41% ถือเป็นระดับการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในระยะต่อไปเงินบาทไทยมีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 4 ของปีนี้ เนื่องจากดัชนีดอลลาร์มีความเป็นไปได้ที่จะทรงตัวหรืออ่อนค่าท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงแนวโน้มส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่น่าจะกว้างขึ้น พร้อมมองว่า การลดลงของทุนสำรองประเทศไทยจะไม่ซ้ำรอยวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 เนื่องจากงบดุลของบริษัทเอกชนมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง การทำสัญญากู้เงินต่างประเทศมีการปิดความเสี่ยง และอัตราแลกเปลี่ยนของไทยปัจจุบันเป็นลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะนี้มาจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินในโลก และส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น

 

“ในระยะสั้นๆ เทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 1.5% ถือว่าอ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาค แต่หากดูย้อนหลังไปในรอบ 1 เดือน, 3 เดือน, กลางปี หรือตั้งแต่ต้นปี ยังมีบางสกุลที่อ่อนค่ามากกว่า เช่น วอนของเกาหลีใต้ และเยนของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องเดิมๆ คือส่วนต่างของดอกเบี้ย” สงวนกล่าว

 

ขณะนี้มุมมองของตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังไม่จบ ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในสัปดาห์หน้า ตลาดก็มีมุมมองว่า โอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 Basis Point ค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่โอกาสที่ปรับขึ้นถึง 100 Basis Point มีประมาณ 30% แล้วในสัปดาห์ต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะมีการประชุม ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.25% ก็จะยิ่งทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น และมากดดันค่าเงินบาทได้

 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สงวนระบุว่า เดิมทีคาดการณ์ว่ากรอบค่าเงินบาทจะต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 และฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 แต่ตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไฟเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะยังไม่จบ ที่สำคัญนักท่องเที่ยวจีนน่าจะยังไม่กลับมาจนกว่าจะไตรมาสที่ 2 หรือกลางปีหน้า ดังนั้นปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกมากๆ ก็ลดกำลังลง

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 4 มีความเป็นไปได้ที่จะเห็น Dollar Index ทรงตัวหรืออ่อนตัวลงได้บ้างแล้ว จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้างในไตรมาสที่ 4 ดังนั้นกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยไตรมาส 4 มีความเป็นไปได้ที่จะเงินบาทจะกลับมาอยู่ที่ 35-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ดอลลาร์สหรัฐและทุนสำรองไทยเคลื่อนไหวสัมพันธ์กัน

สำหรับประเด็นเรื่องทุนสำรองไทยลดลง สงวนมองว่า มีปัจจัยมาจากมูลค่าของสินทรัยพ์ต่างๆ ในทุนสำรองที่ลดลง และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์ลดลง

 

“เราต้องมองว่าทุนสำรองคล้ายกองทุนชนิดหนึ่ง คือกองทุนชนิดนี้เข้าไปถือสินทรัพย์ทางการเงินอะไรแล้วราคาตกลงไป เงินทุนสำรองก็ลดลงตามไปด้วย เช่น การถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ แต่ในเมื่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ราคาลง มูลค่าเงินทุนสำรองก็จะลดลงไปด้วย โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ทางการเงินส่วนใหญ่บนโลกนี้ราคาตก แม้กระทั่งทองคำยังไม่รอด โดย Year to Date ราคาทองคำลงไปประมาณ 9%” สงวนกล่าว 

 

ประการที่สองคือ ค่าเงิน เนื่องจากทุนสำรองเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วถ้าเราไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินอื่น เช่น ยูโร เยน หรือหยวน และต่อให้สินทรัพย์เหล่านั้นราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่สกุลเงินเหล่านั้นอ่อนค่า เมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ตัวเงินทุนสำรองก็เลยลดลงได้ นี่จึงเป็นสาเหตุหลัก อาจพูดได้ว่าต่อให้แบงก์ชาติไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน แต่ค่าเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงก็สามารถทำให้มูลค่าของทุนสำรองลดลงได้ สอดคล้องกับทุนสำรองของหลายประเทศทั่วโลก

 

นอกจากนี้สงวนยังชี้ให้เห็นว่า ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index) และทุนสำรองของประเทศไทย เคลื่อนไหวสัมพันธ์กัน โดยตั้งแต่ต้นปีหรือประมาณ 8 เดือนกว่า ดัชนีดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 15% ขณะที่ทุนสำรองเราลดลงประมาณ 13% ดังนั้นเราจึงอนุมานได้ว่า ตราบใดที่เงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่า ก็เป็นไปได้ว่าเงินทุนสำรองของไทยจะยังลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

 

ไทยจะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 หรือไม่ 

สงวนมองว่า การลดลงของทุนสำรองประเทศไทยตอนนี้ไม่น่าจะซ้ำรอยวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 เนื่องจากงบดุลของบริษัทเอกชนมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง การทำสัญญากู้เงินต่างประเทศมีการปิดความเสี่ยง และปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเป็นลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) 

 

“ย้อนกลับไปในช่วงปี 1997 หัวใจของปัญหาคือ ภาคเอกชนไปก่อหนี้สกุลเงินต่างประเทศไว้สูงมาก เมื่อบาทอ่อน ปัญหาหนี้จึงลุกลามกลายเป็นปัญหาสถาบันการเงิน แต่ปัจจุบันหนี้ภาคเอกชนที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อเงินทุนสำรอง ยังน้อย” สงวนกล่าว

 

นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเป็นบรรษัทข้ามชาติ มีรายได้จากต่างประเทศเป็นสัดส่วนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น มีการปิดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนและมีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย เพราะสัญญาเงินกู้ในปัจจุบันไม่เหมือน 25 ปีที่แล้ว โดยต้องมีการตกลงกันว่าถ้ากู้เงินเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย จะต้องปิดความเสี่ยงอย่างไรและเมื่อไร แต่ถ้ากู้เงินเป็นสกุลต่างประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องปิดอย่างไรและเมื่อไร แทบจะระบุลงไปทั้งหมด

 

ดังนั้นผู้กู้ที่เป็นบริษัทและผู้ปล่อยกู้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินจึงเหมือนลงเรือลำเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าบริษัทผู้กู้มีปัญหา สถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ก็จะมีปัญหาเหมือนกัน จึงแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันภาคเอกชนมีวินัยและการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมอย่างมาก ไม่มีใครอยากซ้ำรอยปี 1997

 

นอกจากนี้ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนบ้านเราเป็นแบบ Managed Float ไม่ใช่ Fixed Exchange Rate แบบ 25 ปีที่แล้ว ดังนั้นแบงก์ชาติจึงไม่จำเป็นต้องนำเงินทุนสำรองไป Defend ค่าเงินบาท รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานของประเทศคือ งบดุลของบริษัทเอกชนมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ทำให้พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยแข็งแรงและไม่มีความเสี่ยงที่จะซ้ำรอยวิกฤตปี 1997 อีก

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X