แม้ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จะอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มอยู่กลางตารางเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค (เงินบาทอ่อนค่าลง 4.1% YTD อ่อนค่าเป็นอันดับ 6 ของสกุลเงินเอเชีย) แต่หากเทียบเฉพาะในเดือนกันยายน เงินบาทมีการอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในเอเชีย โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เงินบาทได้อ่อนค่าผ่านแนวรับสำคัญที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 10 เดือนที่ 36.34 บาทต่อดอลลาร์
มองต่อไปในระยะข้างหน้า เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
- ท่าทีของ Fed และเงินดอลลาร์
- ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน และ
- ปัจจัยเฉพาะของไทย
สำหรับปัจจัยแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า Fed ยังน่าจะส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้ม ซึ่งอาจหนุนความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ โดย Fed ยังเหลือการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) อีก 2 ครั้งในปีนี้ คือการประชุม FOMC ในวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 และการประชุม FOMC ในวันที่ 12-13 ธันวาคม 2566 ซึ่งจากสัญญาณล่าสุดสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ และหากสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ายังคงสอดคล้องกับมุมมองของ Fed ก็น่าจะสะท้อนว่า Fed จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน และจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปี 2567 ก็อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ
ปัจจัยต่อมา เงินหยวนของจีนยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และต้องยอมรับว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนในปีนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในเอเชีย รวมถึงค่าเงินบาท โดยในส่วนของเงินบาท ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินหยวนอยู่ที่ 0.81 (ค่า Correlation เข้าใกล้ 1.0 แปลว่าค่าเงินทั้ง 2 สกุลมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน) ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินหยวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามในบางจังหวะด้วยเช่นกัน
ปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยเฉพาะของไทย โดยเฉพาะสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดและฐานะการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ตลาดรอติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้า และสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น อาจกดดันให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลง ขณะที่มาตรการภาครัฐที่เตรียมจะดำเนินการในระยะข้างหน้าก็เป็นอีกปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน เพราะจะมีผลต่อการประเมินสถานะทางการคลัง แนวทางและขนาดการก่อหนี้ รวมไปถึงภาระทางการคลังทั้งในและนอกงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกดดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะที่ Fed ยังคงไม่จบรอบวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะยังคงโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และอาจทดสอบระดับใกล้ๆ 36.60 บาทต่อดอลลาร์
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา