×

‘เงินบาท’ อ่อนยวบทะลุทุกแนวต้าน ไร้สัญญาณกลับตัว ล่าสุดแตะ 36.50 ต่อดอลลาร์ สูงสุดรอบ 7 ปี พิษดอกเบี้ยถ่าง

14.07.2022
  • LOADING...
เงินบาท

นักวิเคราะห์มองไทยขึ้นดอกเบี้ยช้า-เงินเฟ้อสูง กดดันเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 ปี วัดใจแบงก์ชาติปรับนโยบายการเงินช่วยชะลอ เชื่อมีโอกาสอ่อนต่อถึง 36.70 บาทต่อดอลลาร์

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ (14 กรกฎาคม) อ่อนค่าสูงสุดแตะระดับ 36.51 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2015 โดยปัจจัยหลักเกิดจากตลาดกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 9.1% ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมที่กำลังจะมาถึงสูงถึง 1%

 

ขณะเดียวกันธนาคารกลางของหลายประเทศก็ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยในส่วนของภูมิภาคอาเซียน ฟิลิปปินส์ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ขณะที่สิงคโปร์ก็มีการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้แคนาดาและเกาหลีใต้ก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ 1% และ 0.50% ไปในวันก่อนหน้า

 

“เงินเฟ้อของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 6.1% ส่วนดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.25% ขณะที่เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 7.7% แต่ดอกเบี้ยเรายังอยู่ที่ 0.50% หลายประเทศที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเราก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปหมดแล้วเหลือแต่เราเจ้าเดียว การที่เราขยับดอกเบี้ยช้าทำให้เราเสียเปรียบสกุลเงินอื่นๆ สกุลเงินที่อ่อนหนักๆ ในวันนี้คือบาทและเยน ซึ่งชัดเจนว่านโยบายดอกเบี้ยมีผล” รุ่งกล่าว

 

รุ่งระบุว่า ทิศทางของค่าเงินบาทในระยะต่อจากนี้จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะขยับขึ้นดอกเบี้ยช้าเร็วและมากน้อยอย่างไร รวมถึงจะมีการประชุมนัดพิเศษหรือไม่ หรือจะใช้วิธีเข้าแทรกแซงเพื่อลดความผันผวนและประคองค่าเงินบาท โดยเชื่อว่าหากไทยยังขึ้นดอกเบี้ยช้าและน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าไปได้ถึงระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์

 

“เงินบาทตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณกลับตัว ทะลุมาทุกแนวต้าน คงต้องวัดใจแบงก์ชาติว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะบาทอ่อนตอนนี้ไม่ได้ส่งผลบวกต่อการส่งออกของเรามากกว่าผลลบที่เราได้รับผ่านเงินเฟ้อจากการนำเข้าสินค้า โดยมองว่าโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนสิงหาคมนี้มีค่อนข้างสูง” รุ่งกล่าว

 

ด้าน พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาดูในช่วงนี้คือ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะออกมาในวันศุกร์นี้ โดยหากเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสหรัฐฯ ออกมาไม่สูงมาก ก็มีโอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไม่ถึง 1% ในการประชุม FOMC ปลายเดือนนี้

 

พูนระบุว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่อนข้างมากในวันนี้เป็นผลมาจากความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยหากดูตัวเลขเงินทุนไหลออกของไทยยังไม่รุนแรง ต่างชาติขายสินทรัพย์ออกไม่มาก ทำให้คาดว่าเงินบาทจะยังเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องคาดการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมา

 

“โอกาสที่บาทจะอ่อนค่าหลุดจาก 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกลๆ ได้คือจีนต้องมีการล็อกดาวน์ ในกรณีที่จีนมีปัญหา บาทอาจไปถึง 37 บาทต่อดอลลาร์ แต่เรายังไม่เห็นสัญญาณนั้น” พูนกล่าว

 

พูนยังเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่มีการจัดประชุมนัดพิเศษหรือเร่งขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากพื้นฐานเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันยังมีความแตกต่างจากเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันไทยยังมีโจทย์เรื่องหนี้ครัวเรือนที่ต้องระมัดระวัง โดยเชื่อว่า ธปท. จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงในกรณีที่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของไทยในระยะปานกลางเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดของสหรัฐฯ จะออกมาสูงถึง 9.1% แต่หากดูไส้ในแล้วจะพบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อยังจำกัดอยู่ในหมวดพลังงานที่ราคาโดดสูงขึ้นราว 7.5% จากปัญหาระหว่างรัสเซียและยุโรป ขณะที่ราคาของสินค้าในหมวดอื่นๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ยังปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1% ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เข้าใกล้จุดพีคแล้ว

 

“ตัวเลขที่ออกมา ในมุมหนึ่งอาจสร้างความกังวลใจให้กับตลาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้ถึง 1% ทำให้ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ณ สิ้นปีจะไปอยู่ที่ 4% แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งตลาดอาจจะชอบก็ได้ เจ็บแล้วจบไปเลย สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น ดีกว่าอยู่กับความไม่แน่นอน” อมรเทพระบุ

 

อมรเทพประเมินว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะอยู่ในภาคการส่งออกที่อาจขยายตัวได้ลดลง หากในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะเดียวกันในระยะสั้นไทยก็อาจเผชิญกับเงินทุนไหลออกที่มากขึ้น เนื่องจากการที่นักลงทุนหันกลับไปถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม รวมถึงการส่งออกจะยังเป็นบวก

 

“เราต้องแยกให้ออกว่าภาวะถดถอยไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตช้าลงหรือติดลบติดต่อกันสองไตรมาสแต่ก็ยังโตเป็นบวก เศรษฐกิจโลกก็จะไม่ถดถอยเพราะจีนเองยังช่วยพยุงได้อยู่ จีนยังมีมาตรการกระตุ้นอยู่ในมืออีกหลายตัว ประเทศที่เสี่ยงจะเกิดวิกฤตคือกลุ่มที่มีทุนสำรองต่ำ หนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูง ซึ่งไทยเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้” อมรเทพกล่าว

 

นอกจากนี้อมรเทพยังประเมินว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะไม่สร้างแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่า 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากรูปแบบเงินเฟ้อของไทยและสหรัฐฯ มีความต่างกัน โดยเงินเฟ้อในไทยอยู่ในฝั่งอุปทานเป็นหลัก ยังมีเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ไม่มาก ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีทั้งสองส่วนผสมกัน

 

อย่างไรก็ดี มองว่าหากดอกเบี้ยไทยมีการปรับขึ้นไปแล้ว 0.25% ในเดือนสิงหาคม แต่เงินเฟ้อไม่จบและยังเร่งตัวต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป 0.50%

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X