ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและสกุลเงินเพื่อนบ้าน ตอนนี้เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปีแล้ว ว่าแต่ทำไมสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าถึง 30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กรุงศรีฯ เผย สัปดาห์นี้ค่าเงินบาทมีโอกาสแตะ 30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า สัปดาห์นี้ (16-20 กันยายน 2562) ค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.35-30.75 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (13 กันยายน 2562) ที่ปิดตลาดระดับ 30.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556
ทั้งนี้ สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ตลาดยังเห็นสัญญาณว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน Trade War มีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
ส่วนของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1,700 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 9,600 ล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย
หลังจากนี้ต้องจับตาปัจจัยอะไรบ้าง
- การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 17-18 กันยายน ตลาดคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75-2.00% ทั้งนี้ หาก Fed ประเมินเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเชิงบวกมากกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาแข็งค่าได้
- Trade War ระหว่างสหรัฐฯ-จีน หากมีทิศทางที่ดีขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงได้
- จับตาผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันที่ 19 กันยายน
- ติดตามสถานการณ์การโจมตีโรงงานน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ซึ่งลดอุปทานพลังงานโลกที่ส่งผลให้ราคาสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในตลาดล่วงหน้าพุ่งขึ้นกว่า 15% แต่ทางกรุงศรีฯ มองว่า จะกระทบตลาดอัตราแลกเปลี่ยนชั่วคราวเท่านั้น
- หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินฝาก -0.5% (จากเดิม -0.4%) และเริ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตรขนาด 20,000 ล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยไม่กำหนดวันสิ้นสุด ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่พอใจ และอาจเพิ่มแรงกดดันให้ Fed เพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล