×

จับตาเงินบาท ก็อาจ ‘แข็งค่า’ ทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์

21.08.2024
  • LOADING...

Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า ในระยะสั้นเงินบาทก็อาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามโมเมนตัมการแข็งค่าที่ยังคงมีกำลังอยู่ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

 

วันนี้ (21 สิงหาคม) พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ ‘แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย’ จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.25 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทว่าเงินบาทก็มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำ และอาจมีโฟลวธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงตามรายงานข่าวว่า ทางการอิสราเอลยอมรับข้อเสนอการทำข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาแล้ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 

 

เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการปรับตัวลดลงของ Bond Yield 10 ปีสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นจากโซน 146.50 เยนต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.3-101.9 จุด) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เริ่มเจอโซนแนวรับและอาจแกว่งตัว Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธาน Fed 

 

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงแรกราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม) จะทยอยปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และ Bond Yield 10 ปีสหรัฐฯ ทว่าราคาทองคำก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลงราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงขายต่อเนื่องของผู้เล่นในตลาด หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีแนวโน้มคลี่คลายลง หากอิสราเอลและฮามาสสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ 

 

ทั้งนี้ ราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้โซน 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยแนวโน้มเงินดอลลาร์และ Bond Yield 10 ปีสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวลดลง  

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเราประเมินว่า กนง. อาจมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ตามเดิม ทว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิดว่า กนง. จะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยอย่างไรจากพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้ รวมถึงจากรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ซึ่งได้ประกาศไปในช่วงต้นสัปดาห์ 

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น (Preliminary Annual Payrolls Benchmark Revision) ซึ่งอาจสะท้อนว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non-Farm Payrolls) ในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจน้อยกว่าที่ได้รับรายงานก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดการจ้างงานในส่วนของ Household Survey (ที่ใช้คำนวณอัตราการว่างงาน) นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุม Fed ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะเปิดเผยในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี เวลาราว 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย  

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทเรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีกำลังอยู่มากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับที่ประเมินไว้ ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวของเงินบาทได้รับอานิสงส์จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติ และโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ (หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่) แต่เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทก็ยังมีความเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง หลังการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องดังกล่าวของเงินบาทได้รับรู้ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าไปมากแล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าว อย่างเช่น แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงหนัก หรือบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ย้ำว่า Fed อาจไม่ได้จำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย 

 

นอกจากนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็อาจจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง จนกว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่จะเสร็จสิ้น 

 

ทั้งนี้ ในระยะสั้นเงินบาทก็อาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ตามโมเมนตัมการแข็งค่าที่ยังคงมีกำลังอยู่ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

 

โดยในวันนี้เรามองว่า แม้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามคาด แต่หาก กนง. ยังคงมุมมองเดิมต่อแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า กนง. อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ Bond Yield ไทย ทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งเราก็เห็นแรงซื้อจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

 

ดังนั้นหาก กนง. ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนบอนด์ออกไปบ้าง อย่างไรก็ตามเรามองว่า แม้เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่ก็อาจติดโซนแนวต้านแรกแถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวต้านสำคัญในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก็อาจจะยังไม่เห็นได้ในเร็ววันนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม  

 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตามการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่างเช่น มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย Fed หรือการปรับสถานะ JPY Carry Trade / Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising