สรุปอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไตรมาส 1 ยังไม่สู้ดี! ยอดผลิต ส่งออก และยอดขายเดือนมีนาคมลดลงทุกเซ็กเตอร์ เหตุเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน แบงก์ยังเข้มสินเชื่อ ‘ส.อ.ท.’ จับตากลางปี อาจปรับเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือ 1.4 ล้านคัน ลุ้นผลเจรจาสหรัฐฯ มีความชัดเจนหลังทรัมป์ชะลอขึ้นภาษี 90วัน
วันนี้ (29 เมษายน) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การค้าโลก โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไตรมาสแรก จึงประเมินว่า อาจมีความจำเป็นต้องปรับลดเป้าการผลิตรถยนต์ลดลงในช่วงกลางปี
โดยเฉพาะตัวเลขส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มปรับลดต่ำกว่าล้านคัน หรือคิดเป็นยอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกของไทยลดลงกว่า 100,000 คัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะส่งออกรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน อาจเหลือ 900,000 คัน ขณะที่ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศน่าจะอยู่ที่ 500,000 คันตามเป้าหมายที่คาดไว้
ดังนั้นเบื้องต้นยอดผลิตรถยนต์ปี 2568 ทั้งปีอาจลดลงอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน จากเดิมคาดว่าจะผลิตได้ 1.5 ล้านคัน
สุรพงษ์ระบุว่า ต้องขอดูปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์สักระยะ ซึ่งกลางปี 2568 จึงจะบอกได้ว่าจะปรับลดเป้าตัวเลขยอดผลิต-ส่งออกเป็นเท่าไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไม ‘ฮอนด้า’ เลือกที่จะปิดไลน์ผลิตรถยนต์ที่ ‘อยุธยา’ ย้ายไปโรงงานปราจีนบุรีที่เดียว
- ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าไทยสูง 37% ส.อ.ท. ถกด่วนผู้ส่งออกสหรัฐฯ
- นับถอยหลัง ‘วันปลดแอก’ สหรัฐฯ! ทรัมป์รีดภาษีเขย่าโลก
“ต้องรอความชัดเจนภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) จากสหรัฐฯ ที่ชะลอการจัดเก็บภาษีไป 90 วัน โดยไทยโดนภาษีศุลกากร 36% แต่กลุ่มยานยนต์เสียภาษีฐานเดิมอยู่แล้ว 25% รวมเป็น 27.5% และไทยเองก็ส่งออกรถจักรยานยนต์ เช่น บิ๊กไบค์ไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 จึงต้องรอการเจรจาระหว่างกันอีกครั้งถึงจะสามารถสรุปยอดผลิตรถยนต์โดยรวมทั้งปีได้”
อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วไทยส่งออกทั้งหมด 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยส่งไปตลาดสหรัฐฯ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สัดส่วน 18% ต้องรอดูว่าการตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่จะทำให้เราส่งออกลดน้อยลงหรือไม่
“ที่แน่ๆ จะมีส่วนหายไปแน่นอน คือรถยนต์นั่งราว 3-4 หมื่นคัน จากการเปลี่ยนรุ่นรถ ในขณะที่ชิ้นส่วนมียอดส่งออก 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ไปทั่วโลก ส่งไปสหรัฐฯ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ครั้งนี้สงครามการค้ามีผลต่ออุตสาหกรรมซัพพลาย และการส่งออกชิ้นส่วนอย่างมาก ตรงนี้น่าห่วง”
บวกกับเมื่อดูตัวเลขส่งออก 3 เดือนก็เป็นที่น่าห่วง เพราะตลาดคู่ค้าอย่างออสเตรเลียก็ยังเป็นตลาดที่ติดลบ และตลาดยุโรป เยอรมัน ฝรั่งเศสก็ติดลบ มีเพียงตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม ยังคงเป็นบวก สะท้อนว่าตลาดเอเชียยังเติบโต รวมถึงบราซิล แคนาดา เม็กซิโก ยังเป็นบวก
ต่อคำถามที่ว่า มีกระแสข่าวสหรัฐฯ อาจผ่อนคลายการขึ้นภาษีรถยนต์บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น สุรพงษ์ มองว่า “สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ถือว่ามีความสัมพันธ์ทางทหาร ซึ่งญี่ปุ่นส่งรถยนต์ไปสหรัฐฯ มายาวนานและได้เปรียบดุลการค้า มีโรงงานทั้งในสหรัฐฯ และเม็กซิโก ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเป็นคู่ค้าสำคัญ ตลาดหลัก และเป็นพันธมิตร มีภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีกับสหรัฐฯ หากเริ่มผ่อนคลายกับญี่ปุ่นได้ ก็ส่งผลดีต่อไทยด้วย มองว่าเป็นแนวโน้มที่ดี แต่คงต้องเฝ้าติดตามในช่วง 90 วันที่สหรัฐฯ ยืดเวลาว่าสุดท้ายจะขึ้นภาษีอัตราเท่าไรหรือจะเป็นอย่างไร”
ไตรมาสแรก รถ EV จีนแย่งคู่ค้า แบงก์เข้มสินเชื่อ ฉุดยอดผลิตลดลง 14.88%
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อดูจากยอดผลิตรถยนต์เดือนมีนาคม 2568 จะพบว่า ยอดผลิตอยู่ที่ 129,909 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.09% ส่งผลให้ภาพรวมไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2568) ยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 13.48% อยู่ที่ 236,796 คัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ไตรมาส 1/68 ลดลง 14.88% อยู่ที่ 352,499 คัน เนื่องจากมีสัดส่วนถึง 67.18% ของยอดการผลิตทั้งหมด
สอดคล้องกับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนมีนาคม 2568 ส่งออกได้ 80,914 คัน ลดลงจากปีก่อน 14.91% เพราะมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งบางรุ่น และจากการเข้มงวดในการลดการปล่อยคาร์บอนของบางประเทศและการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ราคาถูกของจีนในบางประเทศคู่ค้า จึงส่งออกลดลงในตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตามส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ขณะที่ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมีนาคม 2568 ผลิตได้ 46,692 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย 0.36% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 55,798 คัน ยังคงลดลง 0.54% เพราะการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังกังวลหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำ ค่าครองชีพสูง
ส่งผลให้ไตรมาส 1/68 ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 115,703 คัน ลดลง 17.62% เป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายในประเทศอยู่ที่ 153,193 คัน ลดลง 6.45%
อย่างไรก็ตาม ประเมินแนวโน้มยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายนอาจติดลบไม่มาก แม้จะมีวันหยุดมากก็ตาม แต่ยังคงได้อานิสงส์จากยอดจองรถในงานมอเตอร์โชว์ 2568 ที่มียอดจอง 77,379 คัน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มียอดจองโดยรวมเป็นอันดับหนึ่ง สูงกว่ายอดจองรถยนต์น้ำมันที่เคยอันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์ในประเทศไปแล้ว และน่าสนใจว่า กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV และ PHEV ยังเติบโตในไทยต่อเนื่อง
ภาพ: Kevin Frayer / Getty images