×

บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ของทัพนักกีฬาไทยในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม ผ่านกล้องฟิล์ม

27.05.2022
  • LOADING...
ซีเกมส์

ช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ผ่านมา THE STANDARD มีโอกาสเดินทางไปรายงานข่าวการแข่งขันครั้งนี้ที่กรุงฮานอย 

 

โดยนอกจากโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทัล และคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่เราได้นำไปใช้รายงานข่าวแบบเรียลไทม์ในครั้งนี้แล้ว เรายังได้นำเอากล้อง Kodak แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไป เพื่อบันทึกเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันถึงในสนามอีกด้วย 

 

และหลังล้างฟิล์มจากกล้องออกมา นี่คือภาพบรรยากาศซีเกมส์จากอีกมุมมองหนึ่งของ THE STANDARD 

 

ภาพที่ 1: จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน เจ้าของ 4 เหรียญทองซีเกมส์ในการลงแข่งสมัยแรก 

 

ซีเกมส์

 

ภาพนี้บันทึกหลังจากที่การแข่งขันวิ่งผลัด 4×400 เมตรชาย ได้ปิดฉากลง และนับเป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายของทัพกรีฑาไทยในซีเกมส์ครั้งนี้ 

 

จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน นักวิ่งลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียวัย 19 ปี เดินมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนชาวไทย พร้อมกับทีม 4×400 

 

โดยเขายอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นที่มีข้อความการให้กำลังใจผ่านโซเชียลมีเดียของเขาที่เขาได้เปิดอ่านหลายข้อความ แต่ไม่สามารถตอบด้วยตัวเองได้ทั้งหมด 

 

ซึ่งการเปิดตัวของจอชชัวครั้งแรกของเขากับทีมชาติไทยในศึกซีเกมส์ครั้งนี้ พร้อมกับผลงาน 4 เหรียญทอง ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกตื่นเต้นกับอนาคตของวงการกรีฑาไทย ที่มีทั้งจอชชัว และ บิว-ภูริพล บุญสอน นักกีฬาวัย 16 ปี เจ้าของสถิติซีเกมส์ 200 เมตรชายที่เขาทำได้ในครั้งนี้ พร้อมกับ 3 เหรียญทองซีเกมส์ 

 

รวมถึง คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่ได้ลงแข่งขันในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยมาแล้วในศึกโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของกรีฑาไทยบนเวทีโลกที่ทุกคนเฝ้าคอยติดตามในการลงแข่งขันรายการต่างๆ 

 

 

ภาพที่ 2: เทควันโดทีมชาติไทย กับ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่ถูกสื่ออาเซียนจับตามอง 

 

ซีเกมส์

 

‘กล้องฟิล์มมม’ เสียงของเทนนิส เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว และเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ตะโกนเรียกช่างภาพ ระหว่างที่เรากำลังยกกล้องขนาดเล็กที่ไม่เหมือนกับช่างภาพหลายๆ คนที่ใช้กล้องใหญ่ถ่ายภาพหมู่ของทัพนักกีฬาเทควันโดไทยหลังเสร็จสิ้นภารกิจซีเกมส์ที่ประเทศเวียดนาม 

 

โดยก่อนหน้านั้น THE STANDARD มีโอกาสไปสัมภาษณ์เทนนิสหลังจบการแข่งขัน และพบว่าเราต้องเข้าไปต่อแถวผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ซึ่งผู้สื่อข่าวเหล่านั้นมาจากหลายประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย 

 

โดยเริ่มจากสื่อโทรทัศน์ของเวียดนาม ตามด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ ซึ่งทุกคนให้ความสนใจไปที่ชีวิตของเทนนิส ที่เดินทางมาแข่งขันซีเกมส์ในฐานะเจ้าของเหรียญทองมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก 

 

ซึ่งเทนนิสได้ยืนยันกับทุกสำนักว่าทุกการแข่งขันมีความสำคัญเทียบเท่ากัน โดยเฉพาะซีเกมส์ ที่ตัวเธอเองก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการแข่งขันครั้งนี้ที่ฮานอย จนได้เหรียญทองมาครองตามเป้าหมาย 

 

ภาพที่ 3: Liaison Officers หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครแห่งซีเกมส์ 

 

 

ภาพสองอาสาสมัครชาวเวียดนาม บันทึกระหว่างการแข่งขันเซปักตะกร้อวันสุดท้ายในกรุงฮานอย ระหว่างที่ทีมชายและทีมหญิงของไทย เตรียมที่จะลงแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ 

 

ในทุกมหกรรมตั้งแต่ระดับซีเกมส์จนถึงโอลิมปิกเกมส์จะมีองค์ประกอบสำคัญหนึ่งคืออาสาสมัคร หรือ Liaison Officers ที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือและประสานงานกับนักกีฬา แฟนกีฬา สื่อมวลชน และฝ่ายจัดการแข่งขัน เพื่อให้ดำเนินการไปอย่างสะดวกสบายและรวดเร็วสำหรับทุกฝ่าย 

 

ภาพที่ 4: THE GOAT of Sea Games: พรชัย เค้าแก้ว กับซีเกมส์ครั้งที่เขาชื่นชอบที่สุด 

 

ซีเกมส์

 

ภาพนี้ถูกบันทึกหลังจากที่ ปุ้ย-พรชัย เค้าแก้ว นักกีฬาเซปักตะกร้อทีมชาติไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ปฏิเสธข่าวลือที่ก่อนหน้านี้มีรายงานออกมาว่า ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ซึ่งโคจรกลับมาแข่งขันที่เวียดนาม ประเทศแรกที่ปุ้ยลงแข่งขันซีเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 2003 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเช่นกัน จะเป็นครั้งสุดท้ายของเขา 

 

โดยเขาได้ยอมรับว่านี่จะเป็นช่วงท้าย แต่ยังไม่ท้ายสุดของ พรชัย เค้าแก้ว ในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 

 

ปุ้ยได้เปิดเผยว่า เขาลงเล่นซีเกมส์มาทั้งหมด 10 ครั้ง และประทับใจซีเกมส์ที่มาเลเซียเมื่อปี 2017 มากที่สุด เพราะครั้งนั้นนอกจากจะเก็บได้ 3 เหรียญทองที่ลงแข่งขันแล้ว ปีนั้นเขายังได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาตัวแทนถือธงชาติไทย นำทัพนักกีฬาไทยเข้าสู่พิธีเปิดการแข่งขันอีกด้วย 

 

ภาพที่ 5: แฟนกีฬาชาวเวียดนาม กับความรู้สึกที่พวกเขามีต่อซีเกมส์ 

 

ซีเกมส์

 

ภาพนี้บันทึกเจ้าหน้าที่เวียดนามของสนามเซปักตะกร้อ มาแอบชมกีฬาอยู่ด้านบนของอัฒจันทร์ 

 

โดยตลอดช่วงเวลาของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ หลายครั้งที่ชมการแข่งขันผ่านโทรทัศน์หรือได้พบเห็นคอมเมนต์ตามเพจข่าวต่างๆ จากชาวเวียดนาม อาจเข้าใจว่าทุกคนที่ประเทศเวียดนามต้องการเป็นเจ้าเหรียญทองในทุกกีฬาที่ลงแข่งขัน 

 

แต่ความเป็นจริงที่ THE STANDARD ได้พบเจอคือ แฟนกีฬาเวียดนามหลายคนเป็นแฟนกีฬาที่ชื่นชอบกีฬาจริงๆ และหลายคนชื่นชอบนักกีฬาไทยมากเป็นพิเศษ ไม่แพ้กับที่พวกเขาชื่นชอบ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตเฮดโค้ชและนักฟุตบอลทีมชาติไทย 

 

ระหว่างที่เราอยู่ที่สนามแข่งขันเซปักตะกร้อ THE STANDARD ได้พูดคุยกับแฟนกีฬาเวียดนามที่มาเกาะขอบสนามซ้อมของทีมชาติไทย และได้สอบถามว่าชื่นชอบนักกีฬาไทยคนไหน ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือเขาสามารถบอกชื่อได้ทั้งทีมชาติไทย และบอกได้ด้วยว่าใครเป็นตัวเก๋า และใครเป็นดาวรุ่งที่กำลังจะขึ้นมาทดแทน 

 

เช่นเดียวกับที่สนามเทควันโด ที่แฟนกีฬาเวียดนามเข้าแถวต่อคิวเพื่อถ่ายภาพคู่กับ เทนนิส พาณิภัค เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกจากประเทศไทยหลังจบการแข่งขันทุกรายการแล้ว 

 

จากการสอบถามตั้งแต่นักกีฬาจนถึงสื่อมวลชนเวียดนาม ส่วนใหญ่ยอมรับว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่แล้วเมื่อปี 2003 มีคนให้ความสนใจมากกว่าการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ 

 

โดยมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องของการเดินทางที่บางสนามอยู่ห่างไกล จนต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถชมกีฬาที่ชื่นชอบได้ทุกรายการตามที่ต้องการ เพราะปัจจัยของการเดินทาง 

 

แต่บางคนก็เห็นด้วยกับการกระจายตัวของกีฬาไปตามเมืองต่างๆ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค 

 

มุมมองที่หลากหลายเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ประเทศไทยที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2025 ที่มีรายงานออกมาว่าจะเป็นที่กรุงเทพมหานครและชลบุรี  

 

ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพที่ให้ความสำคัญทั้งมาตรฐานของกีฬาในภูมิภาคอาเซียน และประสบการณ์ของแฟนกีฬาทั้งในไทยและจากเพื่อนบ้าน 

 

ภาพที่ 6: ฟุตบอลชายซีเกมส์ รอบชิงฯ​ ภาพสุดท้ายก่อนกลับบ้าน 

 

ซีเกมส์


ภาพนี้บันทึกหลังจากที่เรากำลังจะเดินออกจากสนามกีฬาแห่งชาติหมีดิ่ญ เพื่อไปยังห้องแถลงข่าว หลังจบการแข่งขันฟุตบอลชาย รอบชิงชนะเลิศ ที่ทีมชาติไทยพ่ายให้กับเวียดนาม เจ้าภาพ ไป 0-1 และพลาดเป้าหมายการทวงคืนเจ้าอาเซียนในเวทีฟุตบอลไปอย่างน่าเสียดาย 

 

ภาพที่เราพบเห็นหลังจบเกมคือ โจนาธาร เข็มดี กองหลังทีมชาติไทย เดินคนเดียวไปยังหน้าประตู และนั่งลงร้องไห้อยู่คนเดียวเป็นเวลานานกับความผิดหวังที่เกิดขึ้นก่อนที่ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูและนักเตะรุ่นพี่ของทีมชาติไทยชุดรองแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 จะเดินมาปลอบใจ และดึงโจนาธารให้ลุกขึ้นกลับไปรับเหรียญเงินซีเกมส์ 

 

ฟุตบอลในซีเกมส์ โดยเฉพาะที่เวียดนามเป็นกีฬาที่คนทั่วทั้งเมืองฮานอยให้ความสำคัญที่สุด ทุกคนที่ THE STANDARD พบเจอตั้งแต่ร้านข้าว ร้านกาแฟ ที่พัก จนถึงคนขับรถ Grab พูดถึงการพบกับทีมชาติไทยในรอบชิงชนะเลิศ 

 

ทุกคนล้วนแต่ตั้งเป้าหมายที่จะล้มทีมชาติไทย เพื่อเป็นแชมป์ซีเกมส์อีกสมัย 

 

ความมุ่งมั่นของเวียดนามล้นออกมาเป็นเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่มในสนามหมีดิ่ญ และถูกปลดปล่อยออกมาทั่วทั้งกรุงฮานอย หลังจากที่พวกเขาได้ชัยชนะตามที่ต้องการ 

 

มาโน โพลกิง เฮดโค้ชฟุตบอลทีมชาติไทย คือตัวแทนนักกีฬาไทยคนสุดท้ายที่ THE STANDARD มีโอกาสอยู่ในห้องแถลงข่าวด้วยก่อนจบทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ 

 

ซึ่งมาโนได้กล่าวเพียงแค่ว่า 

 

“เวียดนามได้เปรียบเราเรื่องเวลาการเตรียมทีมที่มีเป็นเดือน และมีผู้เล่นชุดที่พร้อมที่สุด สถานการณ์แตกต่างกัน เรามีเวลาเตรียมทีมแค่วันเดียว ไม่มีเวลาซ้อม แต่เราก็พยายามทำเต็มที่ ทุกคนเล่นได้ดี เราพยายามบุกแล้วแต่ทำไม่ได้ สุดท้ายมีประตูเดียวที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นประตูที่สวยงาม การมาถึงตรงนี้ได้ผมต้องภูมิใจในตัวผู้เล่นทุกคน” 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising