×

กุลวุฒิ-พาณิภัค-ภูริพล-พิชฌามลณ์-ณัฐรินีย์ คว้ารางวัลนักกีฬาดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565

โดย THE STANDARD TEAM
16.12.2022
  • LOADING...

วันนี้ (16 ธันวาคม) อารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะผู้บริหาร บุคลากร ผู้ฝึกสอน และนักกีฬา ร่วมงาน ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย  

 

สำหรับงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 พิจารณาโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้รับรางวัลด้านกีฬาดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มีการทูลเกล้าขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพระราชทานแก่นักกีฬาสมัครเล่น นักกีฬาเยาวชน นักกีฬาอาชีพ นักกีฬาคนพิการ นักกีฬามวยไทยอาชีพดีเด่น ทั้งชายและหญิง รวม 12 ประเภท 39 รางวัล ดังนี้

 

  1. รางวัลทรงคุณค่าทางการกีฬา จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ พล.ต. โอสถ ภาวิไล ประธานสหพันธ์กีฬาคนพิการแห่งอาเซียน เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการกีฬาสู่ความเป็นเลิศระดับนานาชาติรวมทั้งกีฬาคนพิการ

 

  1. รางวัลปูชนียบุคคลกีฬา จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย

 

  1. รางวัลนักบริหารกีฬาผู้ทรงคุณค่า จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และประธานพัฒนาฟุตซอลและฟุตบอลชายหาดทีมชาติไทย

 

  1. รางวัลบุคลากรทางการกีฬาดีเด่น จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลผู้บริหารดีเด่น ได้แก่ สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย, รางวัลนักวิชาการดีเด่น ได้แก่ เอกวิทย์ แสวงผล ผู้ควบคุมเวตเทรนนิ่งของกลุ่มนักกรีฑาทีมชาติไทย, รางวัลผู้จัดการทีมดีเด่น ได้แก่ ธวัช กุมุทพงษ์พานิช ผู้จัดการทีมเซปักตะกร้อ และรางวัลผู้ตัดสินดีเด่น ได้แก่ รศ.ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ ผู้ตัดสินมวยสากล

 

  1. รางวัลผู้ฝึกสอนกีฬาดีเด่น จำนวน 5 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาสมัครเล่นดีเด่น ได้แก่ ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลในร่มทีมชาติไทย, รางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาต่างประเทศดีเด่น ได้แก่ ปาร์ค ฮีคัง ผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย, รางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาอาชีพดีเด่น ได้แก่ บรรพต บุญไพศาลเสรี ผู้ฝึกสอนกอล์ฟ, รางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาส่วนภูมิภาคดีเด่น ได้แก่ จ.อ. สุวัฒน์ จันดำ ผู้ฝึกสอนยกน้ำหนักสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีสะเกษ และรางวัลผู้ฝึกสอนนักกีฬาคนพิการดีเด่น ได้แก่ วิสุทธิพงศ์ พันธ์ธง ผู้ฝึกสอนว่ายน้ำผู้พิการทางปัญญา

 

  1. รางวัลประเภทชนิดทีมกีฬาดีเด่น (EVENTS) และรางวัลชนิดกีฬาทีมดีเด่น (SPORTS) จำนวน 4 รางวัล  ประกอบด้วย รางวัลประเภทกีฬาทีมคนพิการดีเด่น (EVENTS) ได้แก่ บอคเซีย ทีม BC1-2, รางวัลชนิดกีฬาทีมคนพิการดีเด่น (SPORTS) ได้แก่ ฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย, รางวัลประเภทกีฬาทีมดีเด่น (EVENTS) ได้แก่ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักกีฬาแบดมินตันประเภทคู่ผสม และรางวัลชนิดกีฬาทีมดีเด่น (SPORTS) ได้แก่ วอลเลย์บอลทีมหญิงทีมชาติไทย

 

  1. รางวัลสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยดีเด่น จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยดีเด่น ได้แก่ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยดีเด่น ได้แก่ สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดดีเด่น ได้แก่ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีสะเกษ

 

  1. รางวัลนักกีฬาคนพิการดีเด่น จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักกีฬาคนพิการชายดีเด่น ได้แก่ พงศกร แปยอ นักกรีฑาวีลแชร์เรซซิง, รางวัลนักกีฬาคนพิการชายรองดีเด่น ได้แก่ ณัฐพล แก้วมณี นักกรีฑาพิการทางปัญญา, รางวัลนักกีฬาคนพิการหญิงดีเด่น ได้แก่ ณัฐรินีย์ ขจรเมธา นักว่ายน้ำพิการทางปัญญา และรางวัลนักกีฬาคนพิการหญิงรองดีเด่น ได้แก่ อรวรรณ ฉิมแป้น นักกรีฑาพิการทางสมอง

 

  1. รางวัลนักกีฬามวยไทยอาชีพดีเด่น จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักกีฬามวยไทยอาชีพชายดีเด่น ได้แก่ รณชัย แสวงทรัพย์ หรือฉายา รณชัย แป๊ะมีนบุรี (ต.รามอินทรา) และรางวัลนักกีฬามวยไทยอาชีพหญิงดีเด่น ได้แก่ รุ่งนภา อ้นวิเชียร หรือฉายา รุ่งนภา พ.เมืองเพชร

 

  1. รางวัลนักกีฬาอาชีพดีเด่น จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักกีฬาอาชีพชายดีเด่น ได้แก่ สมเกียรติ จันทรา นักแข่งรถจักรยานยนต์ รุ่นโมโตทู ซึ่งปี 2565 ลงแข่งขัน 18 สนาม เก็บได้ 128 คะแนน คว้าอันดับ 10 ของโลก พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแข่งไทยคนแรกที่คว้าแชมป์การแข่งรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกได้ที่อินโดนีเซีย และรางวัลนักกีฬาอาชีพหญิงดีเด่น ได้แก่ อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟหญิง ซึ่งคว้า 2 แชมป์ในการเล่นแอลพีจีเอทัวร์ ฤดูกาลแรก โดยทำได้ในศึกเจทีบีซี คลาสสิก และศึกวอลมาร์ท เอ็นดับเบิลยู อาร์คันซอ แชมเปียนชิป โดยตลอดปียังรักษาผลงานการเล่นได้อย่างสม่ำเสมอ โดยติด 10 อันดับแรก ถึง 16 รายการ จากทั้งหมด 26 รายการที่ลงเล่นในแอลพีจีเอทัวร์ พร้อมก้าวขึ้นมารั้งมือ 1 ของโลก ด้วยวัยเพียง 19 ปี 8 เดือน 11 วัน พร้อมกับคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปี 2565

 

  1. รางวัลนักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นชายดีเด่น ได้แก่ ภูริพล บุญสอน นักกรีฑา, รางวัลนักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นชายรองดีเด่น ได้แก่ วีรพล วิชุมา นักยกน้ำหนัก และ ม.ล.เวฆา ภาณุพันธ์ นักกีฬาเรือใบ, รางวัลนักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นหญิงดีเด่น ได้แก่ พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยว, รางวัลนักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นหญิงรองดีเด่น ได้แก่ ณัฐกมล วาสนา นักเทควันโด และ ปัณชญา จันทร์น้อย นักสนุกเกอร์

 

  1. รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายดีเด่น ได้แก่ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักกีฬาแบดมินตัน, รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายรองดีเด่น ได้แก่ จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน นักกรีฑา และ ณัฐวุฒิ สืบสวน นักยกน้ำหนัก, รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นหญิงดีเด่น ได้แก่ ร.ต.หญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโด, รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นหญิงรองดีเด่น ได้แก่ รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตัน และ ส.อ.หญิง อรวรรณ พาระนัง นักเทเบิลเทนนิส

 

นอกจากนี้ ในการประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 ยังมีการมอบรางวัลนักกีฬาดีเด่นของสมาคมกีฬา ประจำปี 2565 จำนวน 232 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักกีฬาดีเด่นของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด จำนวน 121 รางวัล และรางวัลนักกีฬาดีเด่นของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย จำนวน 111 รางวัล โดยทุกรางวัลถือเป็นขวัญและกำลังใจให้นักกีฬาทุกคนที่เสียสละ มุ่งมั่น ทุ่มเททั้งแรงกายและใจในการทำหน้าที่เพื่อชาติ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่ารางวัลในครั้งนี้จะเป็นเครื่องกระตุ้นและเตือนให้ทุกคนรักษาผลงานพร้อมกับพัฒนาตัวเองต่อไป  

 

ดร.ก้องศักด กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2529 ได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันกีฬาแห่งชาติ’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ในนามนักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งถือเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมในวันกีฬาแห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อการกีฬาของประเทศชาติ อีกทั้งการจัดงานวันกีฬาแห่งชาติยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานด้านกีฬาของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับการจัดงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาดีเด่น เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 ถือเป็นครั้งที่ 36 ในนามของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ขอบคุณ และให้กำลังใจ นักกีฬา บุคลากร และสมาคมกีฬาที่ได้สร้างผลงานอันทรงคุณค่า และสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ประจักษ์ นำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศไทยตลอดทั้งปี 2565 และการจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘การพัฒนากีฬาสู่ความยั่งยืน’ (Sports Make Sustainability) ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกีฬาที่ต้องสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีตามกรอบนโยบายเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ของรัฐบาล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising