×

การบินไทยขาดทุนเพิ่ม 4.5 เท่า ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเกือบหมื่นล้านบาท ย้ำยังต้องการเครื่องบินชุดใหม่

04.03.2019
  • LOADING...

สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการประชุมบอร์ดการบินไทย เห็นชอบให้เสนอที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันที่ 1 เมษายน 2562 เพื่อขออนุมัติให้โอนทุนสำรองตามกฎหมายเกือบ 2.7 พันล้านบาท และเงินสำรองที่เกิดจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจำนวนกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการจำนวน 2.8 หมื่นล้านบาทเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยวิธีนี้จะส่งผลให้ผลขาดทุนสะสมของบริษัทลดเหลือ 296 ล้านบาท และจะไม่กระทบต่อส่วนผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด กรณีที่การบินไทยมีกำไรเกิน 300 ล้านบาทก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ทันที


สำหรับปีงบประมาณ 2561 การบินไทยมีผลขาดทุนสุทธิเกือบ 1.16 หมื่นล้านบาท ขาดทุนมากกว่า 4.5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ขาดทุนราว 2 พันล้านบาท โดยปัญหาหลักคือการแข่งขันที่รุนแรง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งฝูงบินยังเก่าและมีอายุการใช้งานสูง ส่งผลต่อการบำรุงรักษา การหมุนเวียนเครื่องบิน ประสิทธิภาพการบริการ และภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งยากต่อการเพิ่มรายได้


สำหรับรายได้รวมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน ค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ รวมไปถึงรายได้อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นถึง 19.7% จากราคาเฉลี่ยน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 30.1% นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานไม่รวมน้ำมันอยู่ที่ 9.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น


ส่วนแนวโน้มปี 2562 คาดว่าอัตราขนส่งผู้โดยสารและปริมาณผู้โดยสารจะยังเติบโต ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ยอยู่ที่ 81.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 7.2%

 

ผู้บริหารการบินไทยให้ความเห็นว่าถ้าบริษัทจัดหาฝูงบินใหม่ไม่ได้ก็จะไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรนี้ ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างผลักดันฝูงบิน 38 ลำในปี 2562 นี้ และปี 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้จะหารือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และไทยกรุ๊ป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย โดยผู้บริหารการบินไทยยอมรับว่าองค์กรจะต้องบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันทันทีเพื่อลดความผันผวน และเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างชัดเจน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising