แม่ทัพ การบินไทย เล็งออกจากแผนฟื้นฟูธุรกิจเร็วกว่ากำหนด พร้อมเดินหน้าเพิ่มเครื่องบินใหม่ 9 ลำ เพิ่มความถี่เส้นทางจีน-ญี่ปุ่น รองรับดีมานด์พุ่ง ตั้งเป้าปีนี้โต 40%
Nikkei Asia รายงานว่า ในช่วงปี 2563 การบินไทยได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายท่ามกลางกระแสโควิด จนกระทั่งในปี 2565 ได้ประกาศเป้าหมายทำตามแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นในปี 2567 ผ่านการเปลี่ยนหนี้เป็นทุนและเตรียมกลับเข้าซื้อ-ขายในตลาดหุ้นในปี 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การบินไทยฟื้นฟูกิจการไปถึงไหนแล้ว หลังระบุมีทิศทางบวก
- ผลงาน ‘การบินไทย’ ปี 2564 พลิกขาดทุนแสนล้านเป็น ‘กำไร’ 55,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139% อันมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สิน และเงินลงทุน
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างลดต้นทุนและเจรจาเจ้าหนี้ จนถึงขณะนี้แผนการปรับโครงสร้างฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเสร็จสมบูรณ์แล้ว 70% ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระยะถัดไปจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะอยู่ประมาณ 90,000 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าถ้าเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้ประมาณ 25,340 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแถลงผลประกอบการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
สำหรับทิศทางและแนวโน้มธุรกิจสายการบินในปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 40% และจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด ทั้งนี้ เป็นผลมาจากโควิดคลี่คลายและมีการผ่อนคลายมาตรการการแพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางมากขึ้น
เช่นเดียวกับการบินไทยที่มีแผนเพิ่มจำนวนเครื่องบิน 9 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 49 ลำ ก็จะมีทั้งหมด 58 ลำ เพื่อให้บริการทุกเส้นทางการบิน พร้อมเพิ่มเที่ยวบินไป 5 เมืองหลักในประเทศจีน รวมถึงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ญี่ปุ่นได้เพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีอยู่มากกว่าการสร้างเส้นทางใหม่
โดยรวมแล้วปัจจุบันการบินไทยกลับมาให้บริการได้เพียง 65% เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ 85% ภายในปี 2568
อ้างอิง: