ที่ประชุมเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย มีมติเห็นชอบให้แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ จำนวน 3 ฉบับ แต่เรื่องยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากมีเจ้าหนี้เตรียมยื่นเรื่องร้องให้ศาลไต่สวนกรณีที่กระทรวงการคลังมีการโหวตในการประชุมเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สามารถทำได้หรือไม่
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการนัดประชุมเจ้าหนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ จำนวน 3 ฉบับ ของ บมจ.การบินไทย ที่เลื่อนการลงมติมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยการประชุมเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การบินไทยไม่กลับสู่ ‘รัฐวิสาหกิจ’ คือทางออกจากวิกฤต พร้อมคืนชีพ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ นำหุ้นกลับเข้าเทรดในปี 68
- คลังยื่นแก้แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ขอเพิ่มโควตาผู้บริหารแผน 2 คน จับตาเจ้าหนี้โหวต 8 พ.ย. นี้
- เจ้าหนี้การบินไทยสั่งเลื่อนโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ หวั่นเพิ่มอำนาจให้คลัง ทำกระทบสิทธิ์เจ้าหนี้
- แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
- แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อเพิ่มข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
- เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน ได้แก่ ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และ พลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย ประกอบด้วยผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน ดังนี้
- ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผน
- ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผน
- พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผน
ซึ่งปัจจุบันผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหนึ่งในตัวแทนที่มาจากกระทรวงการคลัง หมายความว่าหากเป็นไปตามมติของเจ้าหนี้ในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ในรอบนี้ กระทรวงการคลังจะมีเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนเพิ่มเป็น 3 ใน 5 เสียง จากเดิมที่มี 1 ใน 3 เสียง
ปิยสวัสดิ์ชี้ สัญญาณภาครัฐส่อกลับมาครอบงำ ‘การบินไทย’
ด้าน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยอมรับว่ามีความกังวลว่าการที่กระทรวงการคลังส่งตัวแทนจำนวน 2 คน มานั่งเพิ่มในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ของ บมจ.การบินไทย จะเป็นสัญญาณว่าภาครัฐต้องการกลับเข้ามาครอบงำและแทรกแซงการบินไทยเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอดีต
ดังนั้นจึงกังวลว่าผลการประชุมที่ออกมาจะมีผลกระทบต่อการขายหุ้นเพิ่มทุนกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) เพราะเป็นประเด็นที่กังวลมากว่าจะมีการครอบงำและแทรกแซงจากรัฐ โดยบริษัทจะเปิดให้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงานของบริษัท คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ในระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคมนี้ โดยกังวลว่าอาจไม่สามารถระดมทุนได้ตามแผนที่วางไว้
“ตอนนี้นักลงทุนที่กำลังจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทยมีความกังวล เพราะเห็นสัญญาณว่าภาครัฐต้องการที่จะเข้ามาครอบงำและแทรกแซงการบินไทย เพราะในคณะผู้บริหารแผนจะมีตัวแทนจากฝ่ายกระทรวงการคลังเป็น 3 ใน 5 คน เป็นเสียงข้างมาก จากเดิม 1 ใน 3 คน”
เจ้าหนี้การบินไทยจ่อร้องศาลขอไต่สวน มองคลังไร้สิทธิ์โหวต
อย่างไรก็ดี ในประเด็นการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับ แม้ว่าที่ประชุมเจ้าหนี้จะลงมติเห็นชอบไปแล้ว ขณะนี้อาจยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายใหญ่และเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์บางราย เตรียมยื่นเรื่องร้องคัดค้านการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับต่อศาลถึงมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ออกมาแล้ว โดยเฉพาะมีเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์บางรายเตรียมยื่นเรื่องร้องให้ศาลไต่สวน กรณีที่กระทรวงการคลังโหวตในการประชุมเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สามารถทำได้หรือไม่
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย
เนื่องจากก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ กระทรวงการคลังซึ่งเดิมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย แปลงหนี้เป็นทุนแล้วทั้งจำนวนในสัดส่วนเต็ม 100% ตามแผนการปรับโครงสร้างทุนและเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ ส่งผลให้ ณ วันที่มีการประชุมเจ้าหนี้ กระทรวงการคลังจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย จึงไม่สิทธิ์ออกเสียงโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว อีกทั้งฝ่ายกฎหมายของ บมจ.การบินไทย ยังให้ความเห็นด้วยว่า กระทรวงการคลังไม่มีสิทธิ์โหวตลงคะแนนเพราะไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย แม้ในวันดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้รับเพิ่มทุนจดทะเบียนก็ตาม
อย่างไรก็ดี ให้ติดตามการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทชุดใหม่ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูฯ ที่สรรหาแต่งตั้งในช่วงต้นปี 2568 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) ของการบินไทย เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ภายในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า โดยขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะหากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เหมาะสมก็อาจมีผลกระทบให้ บมจ.การบินไทย กลับไปประสบภาวะปัญหาเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจะมีผลกระทบกับผู้ถือหุ้นตามมาด้วย
ชี้คลังยึดการบินไทยเบ็ดเสร็จ-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่อผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
ด้าน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ผลการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการลงคะแนนโหวตข้อเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ มีผลก็คือ รัฐบาลควบคุมเสียงผู้บริหารแผนได้ 3 ใน 5 เสียง เป็นการยึดแบบเบ็ดเสร็จ เหลือแค่ต้องทำให้มีผลถาวร โดยดันสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังให้สูงขึ้น
โดยมีวาระลับอนุมัติให้กระทรวงการคลังขายหน่วยลงทุนคืนกองทุนวายุภักษ์ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนการบินไทย เพื่อจะดันสัดส่วนให้ถึง 40%
อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลนี้พยายามจะแทรกตัวเข้าไปยึดคืนการบินไทย เป็นประโยชน์ต่อการบินไทยหรือไม่ มองว่าสาเหตุหนึ่งที่การบินไทยบริหารงานขาดทุนจนต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เกิดจากเดิมรัฐเป็นเจ้าของ ทำให้มีการฝากพนักงาน จ้างงานเกินจำเป็น มีการวิ่งเต้นประมูลงาน และมีข่าวผลประโยชน์ใต้โต๊ะจากการซื้อเครื่องบินและอุปกรณ์อยู่เนืองๆ
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ส่วนกรณีทำไมการเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังขายหน่วยลงทุนคืนกองทุนวายุภักษ์ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนการบินไทย ต้องทำเป็นวาระลับ มีมุมมองว่ารัฐบาลไม่มีเหตุผลที่จะทำเป็นวาระลับ เพราะการใช้เงินส่วนรวมของประเทศชาติต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ต้องอธิบายเหตุผลให้ประชาชนทราบ
สำหรับการที่รัฐบาลนี้กำหนดให้กองทุนวายุภักษ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนการบินไทยเพื่อจะดันสัดส่วนให้ถึง 40% เป็นการลงทุนตามครรลองปกติของกองทุนรวมหรือไม่ มองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะการลงทุนตามปกติของกองทุนรวม เน้นการแสวงหาผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน แต่การลงทุนกรณีนี้ซึ่งเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระลับ หากจริงก็น่าจะมุ่งเพื่อควบคุมกิจการมากกว่า
ส่วนนโยบายให้กองทุนวายุภักษ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนการบินไทยเพื่อควบคุมกิจการ เป็นประโยชน์เพื่อคนไทยหรือไม่ มองว่าเนื่องจากการบินไทยฟื้นตัวได้ดี และมีแนวโน้มจะเดินหน้าไปได้ด้วยตนเอง น่าจะมีความสามารถหาแหล่งเงินทุนได้เองโดยไม่ต้องอาศัยเงินทุนจากรัฐ ดังนั้นการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเพื่อยึดคืนจึงไม่ได้ก่อประโยชน์เพื่อคนไทยโดยรวม แต่น่าจะเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองมากกว่าประชาชน
ด้านแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กระทรวงการคลังในฐานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นของการบินไทย มีเจตนาหลักคืออยากให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูฯ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน และยืนยันว่าไม่ต้องการดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือครอบงำการบินไทยแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน ซึ่งเป็นคนที่กระทรวงการคลังมั่นใจในคุณสมบัติ ก็เพราะต้องการให้เกิดการส่งต่อนโยบายจากผู้บริหารแผนและคณะผู้บริหารที่ราบรื่นและสอดรับกับเป้าหมายที่รัฐบาลกำลังผลักดัน นั่นก็คือการเป็น Aviation Hub