×

การบินไทยเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูฯ พร้อมกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้นปลาย ก.ค. หรือต้น ส.ค. นี้ ด้าน ‘ปิยสวัสดิ์’ ชี้ บริษัทจะเดินหน้าต่อได้ต้องเลือกผู้บริหารที่มีคุณภาพมาทำงาน ไร้การแทรกแซงจากภายนอก

10.05.2025
  • LOADING...
การบินไทย

‘การบินไทย’ เตรียมออกจากแผนฟื้นฟูฯ และเตรียมนำหุ้นกลับมาซื้อ-ขาย อีกทั้งในช่วงปลายเดือนก.ค. หรือต้นเดือน ส.ค. นี้ โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ให้มุมมองว่า วิกฤตของการบินทุกครั้งเกิดจากการถูกแทรกแซงจากภายนอก

 

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI แถลงข่าวผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ระบุว่า ความคืบหน้าในการนำหุ้นของบริษัท การบินไทย กลับเข้ามาซื้อ-ขาย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) และการออกจากการฟื้นฟูกิจการ ภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ และได้ดำเนินการจดทะเบียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568

 

ล่าสุด ศาลล้มละลายกลางกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 น. หลังจากบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 เมษายนปีนี้ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

ทั้งนี้ ยังต้องรอคำสั่งศาลที่จะออกมา ซึ่งคาดว่าหากศาลมีคำสั่งออกมาในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้หน้าที่ของคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ยุติหน้าที่ลงทันที ส่งผลให้อำนาจของคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จะถูกถ่ายโอนไปยังคณะกรรมการของ บมจ.การบินไทย จากนั้นจะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคาดว่าหุ้นของ บมจ.การบินไทย จะสามารถกลับเข้ามาซื้อ-ขาย ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ 

 

การบินไทย

ภาพ: เปิดไทม์ไลน์หุ้น บมจ.การบินไทย เตรียมกลับมาเทรด

 

สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 1/2568 บริษัทฯ มีรายได้รวม 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) ที่ 12,728 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers-ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers-RPK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จากจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6% 

 

โดย บมจ.การบินไทย แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในไตรมาส 1/ 2568 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 9,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 9,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308% 

 

โดยบริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้น 78 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 5 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน 

 

 

ภาพ: ข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ที่สำคัญของ บมจ.การบินไทย

 

อีกทั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติให้จดทะเบียนเลิกกิจการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (สายการบินไทยสมายล์) ภายหลังดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินสำเร็จลุล่วงตามแผนอย่างดียิ่ง โดยบริษัทฯ รับโอนเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ครบถ้วน และสายการบินไทยสมายล์หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา 

 

ในปี 2568 บริษัทจึงมีแผนที่จะรับมอบเครื่องบินในฝูงบินเพิ่มเป็น 81 ลำ จากปัจจุบันมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินรวม 77 ลำ โดยเบื้องต้นจะมีการทยอยรับมอบเครื่องบินรุ่น Airbus A330 จำนวน 1 ลำ, Boeing 789 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo จำนวน 2 ลำ หลังจากในช่วงไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ มีการปลดระวางเครื่องบินเก่า คือ Boeing 777-200ER จำนวน 2 ลำ 

 

‘ปิยสวัสดิ์’ ชี้ตั้งผู้บริหารที่เก่งเป็นคนดีบริษัทจะเดินหน้าต่อได้

 

ดร.ปิยสวัสดิ์ เปิดเผยมุมมองว่า ประเด็นที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.การบินไทย กับประชาชนทั่วไป มีความเป็นห่วงมากที่สุดเกี่ยวกับบริษัทฯ คือ มีความไม่มั่นใจ และมีความกังวลว่าการบินไทย จะกลับไปประสบปัญหาเช่นที่ประสบในอดีตอีกหรือไม่ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหม่ของบริษัทที่จะมารับหน้าที่ต่อคณะผู้บริหารแผนจะมารับหน้าที่ต่อเป็นผู้พิสูจน์ว่าการบินไทยจะไม่กลับไปประสบปัญหาเช่นเดียวกับในอดีตอีก

“ความกังวลว่าการบินไทยจะกลับเป็นปัญหาเหมือนเดิม เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้การขายหุ้นเพิ่มของบริษัทฯ ช่วงปลายที่แล้วที่ขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นค่อนข้างน้อย” ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตทุกครั้งของการบินไทย มักมีสาเหตุมาจากการถูกแทรกแซงในกระบวนการการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของบริษัทฯ รวมทั้งมีการแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้างที่มาจากภายนอกหรือกรรมการบริษัทฯ

 

อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหาของการบินไทยปัจจุบันที่สามารถดำเนินการจนสามารถประสบความสำเร็จกำลังเตรียมจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้นั้นมาจากปัจจัยหลักจากการทำงานของพนักงานกับการบริหารจัดการของผู้บริหารระดับสูงที่เป็นบุคลากรของการบินไทย ขณะที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ มีหน้าที่ในการกำกับและให้คำแนะนำเพียงเท่านั้น

 

 

ภาพ: ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย 

 

“ในช่วง 5 ปีที่การบินไทยหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นเอกชน ในช่วงอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ทำให้เราสามารถเลือกคนเก่งคนดีเข้ามาบริหารงานได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าคุณภาพของผู้บริหารการบินไทยในปัจจุบันจะมีความแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้” ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว

 

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่สำคัญของการบินไทยที่เกิดขึ้นในอดีต คือการที่กรรมการบริษัทฯ จะเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจเอง เพราะมีความมั่นใจในประสบการณ์ของตนเองจนเป็นปัญหาจุดเริ่มต้นของวิกฤต 

 

ดังนั้นมีผลกระทบตามมาทำให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ เลิกคิดหรือเลิกให้ความเห็นในการบริหารจัดการธุรกิจกับกรรมการบริษัทฯ ที่จำนวนประมาณ 10 คนซึ่งมองว่าจะมีความเห็นที่ไม่รอบคอบมากเพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับความคิดหรือความเห็นของผู้บริหารที่มีจำนวนถึงประมาณ 200 คน

“ดังนั้นมองว่าจึงควรให้เกียรติหรือฟังความเห็นจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ด้วย โดยเลือกคนที่เก่งและที่ดีที่สุดมาบริหารบริษัทฯ ต่อไป รวมทั้งให้อิสระในการคิดในการทำงานต่อไป” ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว

 

ด้าน ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย กล่าวว่า คาดว่าหุ้นของบริษัทฯ จะกลับเข้าไปซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมองว่าความเสี่ยงสูงสุดของบริษัทฯ ในขณะนี้สภาพโดยรวมของตลาดทุนไทยและตลาดทุนโลกที่เป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของบริษัทฯ

“ในมุมของการบริหารจัดการภายในองค์กรตอนนี้เรามีความมั่นใจว่าเรามีความแข็งแกร่งจากเมื่อก่อนมากสะท้อนจากอัตราส่วนการเงินต่างๆ ที่สะท้อนออกมา” ชายกล่าว

 

โดยบริษัทฯ ยังคงเป้าหมายทั้งปี 2568 โดยยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 1.8-1.9 แสนล้านบาท และคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปีนี้ไว้ที่ประมาณ 16.5 ล้านคน

 

ขณะที่จากกรณีผลกระทบสถานการณ์ของการสู้รบระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ บริษัทฯ ได้ยกเลิกเที่ยวบินเส้นทางบินไทย-ปากีสถาน ที่ปัจจุบันมีเส้นทางบินใน 3 เมืองไว้ชั่วคราว ได้แก่ การาจี, ละฮอร์ และอิสลามาบัด เนื่องจากมีการปิดน่านฟ้าและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้อง 

 

โดยสถานการณ์การสู้รบในอินเดียกับปากีสถานตอนนี้ บริษัทฯ มีการติดประเมินติดตามทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงติดตามดูสายการบินอื่นๆ ด้วยว่ายังปฏิบัติการอยู่หรือไม่

 

ชายอธิบายต่อว่า ในส่วนผลกระทบเส้นทางบินจากประเทศไทยไปยังเส้นบินยุโรปของการบินไทยมีผลกระทบให้ใช้ระยะเวลานานในการบินนานขึ้นประมาณ 20-30 นาทีจากเดิม เนื่องจากเดิมเส้นทางบินไปยังยุโรปจะบินผ่านน่านฟ้าของปากีสถาน แต่หลังเกิดภาวะสงคราม ส่งผลให้เครื่องบินโดยสารของบริษัทฯ ต้องบินอ้อมหลีกเลี่ยงผ่านน่านฟ้าของปากีสถาน โดยบินไปผ่านน่านฟ้าของอิหร่านแทน อีกทั้งยังต้นทุนน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 แสนบาทต่อเที่ยวบิน (ไป-กลับ) หรือคิดเป็น 0.3-0.4% ของต้นทุนรวมน้ำมันไปกลับที่ 5-6 ล้านบาทต่อเที่ยวบิน (ไป-กลับ) 

 

ด้านกรณีที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อนำน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน (SAF) มาใช้ภายในปี 2569 โดยคาดว่าจะเริ่มกำหนดให้สายการบินที่เดินทางออกจากประเทศไทยจะต้องใช้น้ำมัน SAF เป็นสัดส่วน 1% ของปริมาณน้ำมันเครื่องบินนั้นจากการศึกษาของบริษัทฯ จะมีผลกระทบทำต่อต้นทุนน้ำมันของบริษัทฯ ให้เพิ่มประมาณ 1% ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนของบริษัทฯ หรือคิดเป็นประมาณ 0.3-0.4% ของต้นทุนรวมทั้งหมดของบริษัทฯ 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุนรวมทั้งหมดของบริษัทฯ 

 

 

ภาพ: ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย 

 

เมื่อสื่อถามถึงกรณีที่ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมพิจารณาทบทวนปรับลดเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 ลดลงจากที่เคยตั้งไว้ที่ 39 ล้านคนนั้น จะมีผลกระทบต่อการบินไทยอย่างไร

 

ชายระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจใหม่ โดยมีหลักการหันมาเน้นการใช้ให้กรุงเทพเป็นจุดศูนย์กลางการบินในการเปลี่ยนเครื่องบินเพื่อขนส่งผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางต่อข้ามทวีปมากขึ้น โดยไม่เน้นการพึ่งพาผู้โดยสารต่างชาติที่ต้องการเดินทางที่ประเทศไทยเพียงเท่านั้นซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยที่ลดลงได้ค่อนข้างดี

 

อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีการบริหารจัดการกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้โดยไม่ได้พึ่งพิงแหล่งรายได้จากในไทยเท่านั้น เช่น ปัจจุบันบริษัทฯ มีเส้นทางบินจากไทย-จีน จำนวน 5 เมือง มีจำนวน 35 เที่ยวต่อสัปดาห์ แม้อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้โดยสารเป้าหมายของบริษัทฯ จะเป็นผู้โดยสารที่เดินทางคนเดียวที่มีราคาตั๋วโดยสารที่สูง โดยไม่ใช่ในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ที่มีราคาตั๋วโดยสารที่ต่ำกว่า

“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยคงกระทบกับภาพรวมของประเทศไทยเยอะหน่อย แต่จะกระทบกับการบินไทยบ้าง แต่ไม่มากเพราะเราได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจใหม่มาแล้วก่อนหน้านี้” ชายกล่าว

 

ส่วน ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า ยกตัวอย่างกลุ่มลูกค้าหลักชาวจีนของการบินไทยที่เดินทางจากจีนมาประเทศไทย มักจะใช้บริการการเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ ด้วยเช่น เดินทางต่อไปเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย

 

ชายกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีกระแสเงินสดประมาณ 1.24 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเข้าแผนฟื้นฟูฯ ที่มีอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ในอนาคต

 

ชะลอแผนเช่าเครื่องบินระยะสั้น 10 ลำ รอความชัดเจน Tariff War

 

ขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการชะลอแผนการจัดหาเครื่องบินระยะสั้นผ่านการเช่าเครื่องบิน Airbus A330 จำนวน 10 ลำ ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ไว้ชั่วคราว ซึ่งเดิมแผนในการจัดหาเครื่องบินระยะสั้นดังกล่าวจะนำมาใช้เพื่อเพิ่มกำลังผลิตของฝูงบินในช่วงระหว่างการรอรับมอบเครื่องบินใหม่ตามแผนในการจัดหาเครื่องบินใหม่ในระยะยาวของนี้บริษัทฯ จำนวนรวม 45 ลำ คือ Boeing 787 Dreamliner จำนวน 45 ลำ ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ซึ่งจะเริ่มทยอยรับมอบตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2570 

 

เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากประเด็นสถานการณ์สงครามภาษี (Tariff War) ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ซึ่งบริษัทประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง อีกทั้งเพื่อรอประเมินสถานการณ์ความชัดเจนผลการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า

 

ยอดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้ายังเติบโตดีดีมานด์บินยุโรปยังสูง

 

ด้าน กรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ภาพรวมแนวโน้มการจองตั๋วการเดินทางในเดือนเมษายนปีนี้ มีแนวโน้มการจองตั๋วโดยสารที่ดีขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยเชิงบวกจากที่วันอีสเตอร์ ขยับอยู่ในเดือนเมษายนปีนี้ ส่งผลให้มีความต้องการเดินทางในเส้นทางการบินระยะไกลมีเพิ่มขึ้นทั้งในเส้นทางบินยุโรปกับสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดีในเดือนพฤษภาคมปีนี้ แม้ภาพรวมจะเป็นช่วงโลว์ซีซันของการเดินทาง แต่ยังมีบางเส้นทางบินที่มีไฮซีซันของการเดินทาง เช่น เส้นทางบินอินเดียแม้จะมีภาวะสงครามบ้างในขณะนี้ แต่ชาวอินเดียยังมีความต้องการเดินทางที่สูงต่อเนื่อง 

 

อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2-3/2568 จะมีความต้องการเดินทางเส้นทางบินออสเตรเลียทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปีนี้จะมีความต้องการเดินทางเส้นทางบินยุโรปที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

 

ภาพ: กรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย

 

ส่วนกรณีที่ ททท. เตรียมปรับลดเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลงนั้น ปัจจัยหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง ขณะที่เส้นทางบินไปยังยุโรปที่มี 11 จุดบิน ขณะนี้ของบริษัทฯ ยังถือว่ามีความแข็งแกร่งทั้งในส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) และยอดจองตั๋วล่วงหน้า

 

อีกทั้งมีเส้นทางบินที่พร้อมในเส้นทางบินออสเตรเลีย ทั้งในเส้นทางบินไปเมืองซิดนีย์ กับเมลเบิร์น ส่งผลให้การบินต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางต่อไปยังยุโรป โดยใช้กรุงเทพเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องบิน รวมเส้นทางบินไปอินเดีย ซึ่งยังมีแนวโน้มที่ดี รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีปัจจัยสนับสนุนหลังจากปรับกลยุทธ์การขายตั๋วโดยสารมาเป็นแบบ Network ส่งผลให้การขายตั๋วล่วงหน้าเติบโตขึ้นแบบนัยสำคัญ

 

ทำ FX Hedging ปิดความเสี่ยงผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน

 

ส่วน เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์. ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เริ่มทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) เพื่อลดกระทบความผันผวนการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนต่องบการเงินของบริษัทฯ โดยในไตรมาส 1/2568 จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่า 

 

ทั้งนี้ ส่งให้บริษัทฯ มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็น Unrealized Gain จากการคำนวณภาระหนี้ที่บริษัทฯ มีในอนาคต แต่จะมีผลการขาดทุนจากการทำ Mark to Market 

 

 

ภาพ: เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์. ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย 

 

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ ปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยได้การทำประกันความผ่านตราสารอนุพันธ์ไปแล้วเกือบทั้งสำหรับสัญญาของเครื่องบินที่เป็น รูปแบบ Financial Lease ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ อีกทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาทยอยทำประกันความเสี่ยงเพิ่มเติมในกลุ่มเครื่องบินเช่าในสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มด้วยเมื่อสถานการณ์ตลาดเอื้ออำนวย

“การทำธุรกรรมเหล่านี้เพื่อให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ คงที่ รวมทั้งเพื่อลดผลกระทบความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทฯ

 

“ปัจจุบันบริษัทฯ มีภาระหนี้ที่เป็นสกุลดอลลาร์ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ สมมติหากไมทำอะไรเลย ทุกครั้งที่เงินบาทขยับขึ้นลง 1 บาทต่อดอลลาร์ จะกระทบงบการเงินให้กำไรหรือขาดทุนประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งเราพยายามลดผลกระทบตรงนี้ลงจากทำธุรกรรมป้องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน” เฉิดโฉมกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising