วันนี้ (1 กรกฎาคม) บมจ.การบินไทย หรือ THAI ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ปรับลดวงเงินกู้ มุ่งเน้นการแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อเติมให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกราว 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 เปิดทางกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในต้นปี 2568 มั่นใจเงินสดไม่ใช่ปัญหาหลังรัฐเปิดประเทศหนุนการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อปริมาณผู้โดยสารและรายได้รวม
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะยื่นขอปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันนี้ หลังจากรายได้มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดคลี่คลายลง และหลายประเทศรวมถึงไทยได้กลับมาเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันมากขึ้น
โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้นบริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย
- ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคง และเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้
ก. ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท
ข. จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลัก เดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่นๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน 24.5% เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตรา 75.5% จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม
ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติม และเป็นบวกราว 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 และลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท
ค. จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท
ง. จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควร และไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่เหลือมาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัทและหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอขอแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568
- แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน
- แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความมั่นใจว่า การยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นแก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ผู้โดยสาร และลูกค้าต่อการฟื้นฟูกิจการของบริษัท และเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการวางรากฐานเพื่อการเติบโตและสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพื่อให้บริษัทเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนในชาติภาคภูมิใจ เป็นสายการบินหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ และเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้
สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิมจัดทำขึ้นจากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะขาดกระแสเงินสด ดังนั้นเป้าหมายหลักของการฟื้นฟูฉบับดังกล่าวจึงมุ่งเน้นการจัดหาเงินทุนใหม่เข้ามาจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท และอีก 2.5 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ต่อมาพบว่าการกู้เงินมีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน THAI จึงได้หาวิธีจัดหาเงินทุนอื่น โดยการขายทรัพย์สินและเครื่องบินเก่าออกไป ซึ่งได้รับเงินสดกว่า 9 พันล้านบาท
ประกอบกับขณะนี้การเดินทางระหว่างประเทศทำได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้ยอดผู้โดยสารฟื้นตัวเร็วมาก โดยจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยที่เดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 ที่มีจำนวนไม่ถึง 1,000 คน/วัน มาเป็น 13,000 คน/วัน อัตราขนส่งผู้โดยสารขึ้นมาระดับ 80% ซึ่งหลายเส้นทางก็ขึ้นมาถึงระดับ 90% ส่งผลให้รายได้ในเดือนมิถุนายน 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 มาเป็น 8,000 ล้านบาท จากยอดจองตั๋วล่วงหน้า
ดังนั้นปัญหาขาดกระแสเงินสดก็ลดลงจากรายได้ของการขายตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินสดในมือช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมี 5 พันล้านบาท ดังนั้นการกู้เงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของแผนฟื้นฟูแล้ว
“พอเห็นการฟื้นตัวชัดเจน ตอนนี้เราต้องการแก้ไขแผนฟื้นฟูอีกครั้ง การกู้เงินลดลง แก้ให้การบินไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนจริงๆ และออกจากแผนได้ นี่คือที่มาที่จะยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ” ปิยสวัสดิ์กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP