×

บาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาท หนักสุดในรอบ 3 เดือน หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงเกินคาด

14.02.2024
  • LOADING...
เงินบาทอ่อนค่า

เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์แล้ว! เหตุดอลลาร์แข็งค่า หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงเกินคาด ดันตลาดหันเดิมพัน Fed หั่นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ช้ากว่าที่เคยมองไว้

 

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ ‘อ่อนค่าลงหนัก’ จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นการอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 3 เดือน หรือตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน

 

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.20% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งช้ากว่าที่ตลาดเคยมองไว้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม

 

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำสู่โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานหนัก

 

Krungthai Global Markets มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.15 บาทต่อดอลลาร์

 

เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อได้

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้านสำคัญแถว 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้ปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้าไปได้ ทำให้ในระยะสั้นเรามีมุมมองว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อได้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา เช่น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมาเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ยังเกิดในเดือนพฤษภาคมได้ หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของไทยออกมาดีกว่าคาด ลดโอกาสการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเข้าใกล้โซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากโมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงไม่อ่อนแรงลง เราคาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เรามองว่าระดับการอ่อนค่าดังกล่าวถือว่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงจนถูกมาก (Undervalued) ในเชิง Valuation และเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอย Sell on Rally USDTHB หรือเริ่มสะสมสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้)

 

Krungthai Global Markets เน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X