×

ส.ประกันวินาศภัยไทย คาดยอดเคลมโควิดอาจทะลุ ‘หมื่นล้าน’ หลังผู้ติดเชื้อรายวันยังพุ่ง นักคณิตศาสตร์ฯ เชื่อบริษัทประกัน ‘จบแบบจ่ายหนัก’

10.08.2021
  • LOADING...
สมาคมประกันวินาศภัยไทย

อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทประกันมีการจ่ายค่าสินไหมประกันภัยโควิดไปแล้วราว 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่ายอดเคลมอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,500-8,000 ล้านบาท ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี

 

“ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม เราพบว่ามียอดเคลมเพิ่มขึ้นถึง 2,000 ล้านบาท และยอดเคลมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม เพราะสัดส่วนคนไทยที่ทำประกันโควิดเทียบกับผู้ติดเชื้อคิดเป็น 10% ดังนั้นในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 17,000-18,000 คน หรือเฉลี่ย 5 แสนคนต่อเดือน จะมีคนทำประกันโควิดที่ 50,000 คน เมื่อนำมาคำนวณกับยอดเคลมเฉลี่ยที่ 70,000 บาทต่อคน จะทำให้ยอดเคลมในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นอีกราว 3,500 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยยังมีเคส IBNR (ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้รายงาน) ที่ต้องนำมาคำนวณอีก” อานนท์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี อานนท์ประเมินว่ายอดเคลมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคมน่าจะเป็นจุดพีกแล้ว เนื่องจากสัดส่วนของคนที่ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเริ่มใกล้เคียงกับเป้าหมายของภาครัฐ ทำให้ยอดเคลมในเดือนต่อๆ ไปหลังจากเดือนสิงหาคมจะเริ่มลดลง

 

“เราคาดหวังว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ยอดการจ่ายเคลมโควิดชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ดี ประกันโควิดส่วนใหญ่มีระยะเวลาการคุ้มครอง 1 ปี และส่วนใหญ่ยังเหลือเวลาคุ้มครองจนถึงเดือนเมษายนปีหน้าหรืออีก 8 เดือน ทำให้ยอดเคลมในภาพรวมยังมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นทะลุ 10,000 ล้านบาท แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงแล้วก็ตาม” อานนท์กล่าว

 

นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวอีกว่า แม้ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจากประกันโควิด แต่บริษัทประกันทั้งหมดยังพร้อมดูแลผู้เอากรมธรรม์ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทประกันได้ปรับเงื่อนไขความคุ้มครองช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้ได้ประโยชน์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุดตามประกาศของ คปภ. โดยมีการขยายความคุ้มครองในการจ่ายค่ารักษาและชดเชยรายวันให้แก่ผู้ติดเชื้อที่รักษาในโรงพยาบาลสนามและ Hospitel เพิ่มเติมจากเงื่อนไขปกติที่กำหนดให้คุ้มครองเฉพาะการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาล

 

นอกจากนี้ ในภาวะที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและขาดแคลนเตียงรักษา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ บริษัทประกันฯ ยังได้ผ่อนเงื่อนไขให้คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกแก่ผู้ติดเชื้อที่แยกพักรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation และพักรักษาภายในชุมชน Community Isolation ได้อีกด้วย 

 

ส่วนกรณีการเลือกจ่ายค่าชดเชยรายวันให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ภาวะอ้วน และผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยงที่รักษาตัวที่บ้านหรือชุมชนนั้น เป็นเพราะบริษัทประกันไม่สามารถจ่ายชดเชยให้ผู้ป่วยทั้งหมดได้ เนื่องจากปริมาณผู้ป่วยสีเขียวมีมากกว่าผู้ป่วยในถึง 40 เท่า อีกทั้งในกรมธรรม์และเบี้ยประกันก็ไม่ได้มีเงื่อนไขคุ้มครองในส่วนนี้ แต่บริษัทประกันพยายามอนุโลมช่วยเหลือให้ตามสถานการณ์ ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวมีอาการหนักขึ้นเป็นสีเหลืองและแดง เมื่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็จะได้ชดเชยสูงสุด 14 วันเช่นกัน

 

ด้าน พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น และ อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 3 สมัย เปิดเผยว่า จากการทำแบบจำลองการแพร่เชื้อโควิดในช่วงหลังจากนี้ พบว่าแม้การฉีดวัคซีนจะช่วยลดอัตราการตายลงได้อย่างมาก และลดอัตราการติดได้ในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของอัตราการแพร่เชื้อจะไม่ลดลง 

 

“สังเกตได้ว่าอัตราการแพร่เชื้อของประเทศที่ฉีดวัคซีนได้ดีเมื่อผ่านไปสักระยะแล้วจะเพิ่มสูงขึ้น นั่นคงเป็นเพราะสายพันธุ์เดลตานั้นไม่แสดงอาการอยู่แล้ว คนที่ฉีดวัคซีนเข้าไปแล้วและยิ่งเจอกับสายพันธุ์เดลตาเข้าไปด้วย เราจะเห็นจากสถิติตอนนี้ก็คือ 80% ของคนที่ติดเชื้อนั้นจะไม่แสดงอาการเลย และจะเหมือนคนปกติทุกอย่าง ไม่ไอ ดมกลิ่นได้ปกติ อาจจะมีรู้สึกเจ็บคอบ้าง เหมือนคนปกติทั่วไป แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสไปแพร่ต่อให้คนอื่นต่อไปได้อีก ซึ่งถ้าไปแพร่โดนคนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็กลายเป็นการกระจายเชื้อต่อไป แต่ถ้าแพร่ไปยังคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็จะทำให้คนกลุ่มหลังเกิดอาการรุนแรงได้” พิเชฐกล่าว

 

พิเชฐกล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญในเวลานี้อยู่ที่ความเข้าใจของคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วปลอดภัย เข้าใกล้ได้ หายห่วง และยิ่งถ้าคนกลุ่มนั้นไม่ได้แสดงอาการอะไรจากการติดเชื้อเพราะฉีดวัคซีนมาแล้วด้วย จึงทำให้วางใจ และต่างคนต่างประมาท ทำให้ติดเชื้อจากกลุ่มคนพวกนี้ได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วด้วยกันเองก็จะติดกันเอง แบบที่ไม่แสดงอาการ ได้ง่ายขึ้น

 

“ภายใต้กรอบความคิดที่ว่ายิ่งคนที่ฉีดวัคซีนเริ่มมีมากขึ้นในประเทศเท่าไร คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็จะมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อมากทวีคูณขึ้นเท่านั้น เพราะตอบยากว่าคนรอบข้างใกล้ตัวนั้นติดโควิดมาหรือไม่ ผมเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่เชื้อในตอนนี้ว่ายอดการติดเชื้อต่อวัน คงต้องพุ่งขึ้นถึง 30,000 คนต่อวันเป็นแน่และตัวเลขจริงคงจะสูงกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเชิงรุกของคนที่ไม่แสดงอาการนั้นสามารถทำได้โดยการซื้อชุดตรวจมาตรวจเอง ก่อนที่จะไปตรวจละเอียดจริงในภายหลัง ดังนั้นประกันแบบ เจอ จ่าย จบ คงจะทำให้บริษัทประกันจบแบบจ่ายกันหนักพอสมควรไปเรื่อยๆ อีกระยะหนึ่ง” พิเชฐระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising