×

‘บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์’ เดินหน้าขาย IPO เข้าตลาดหุ้นปีนี้ ระดมทุนลุยธุรกิจต่างประเทศ เมินผลกระทบโควิด

19.08.2021
  • LOADING...
ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์

บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM ยันเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ตามแผน จ่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 109.3 ล้านหุ้น เพื่อนำเงินระดมทุนไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ ยอมรับผลประกอบการปีนี้ยังเผชิญผลกระทบจากโควิด ซึ่งกดดันภาคการบริโภค แต่เชื่อว่าปีหน้าฟื้นตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในปีนี้ 

 

ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม TU กล่าวว่า TFM น่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO และเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมี บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

 

TFM จะเสนอขาย IPO จำนวน 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย TU จำนวน 19.3 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 21.9% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ โดยจะนำเงินระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต

 

การนำ TFM เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดการเติบโต โดยเฉพาะในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทคาดว่าจะมีการเติบโตได้อย่างโดดเด่น ประกอบกับการมองหาการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่จะเข้ามาต่อยอดธุรกิจของ TFM เพื่อเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

ทั้งนี้ยอมรับว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งกระทบต่อการบริโภคอาหารสัตว์ ทำให้ยอดขายอาหารสัตว์น้ำยังมีการชะลอตัวอยู่ ซึ่งกลุ่มอาหารสัตว์น้ำเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดของ TFM ที่ 90% ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งกระทบต้นทุนการผลิตของอาหารสัตว์ของ TFM แต่บริษัทไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าอาหารสัตว์บางรายการเนื่องจากต้องการช่วยลดผลกระทบของลูกค้า ทำให้ปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในปี 2564 

 

ทั้งนี้ TFM คาดหวังว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นจุดต่ำที่สุด และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงปี 2565 เป็นต้นไป

 

“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ TFM ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากโควิดมาต่อเนื่อง และราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะราคากากถั่วเหลืองที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 30% แต่เรายังไม่มีการปรับราคาขายอาหารกุ้งกับปลา เพราะต้องการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่มีการปรับราคาขายอาหารสัตว์น้ำจืดไป 3-5% หลังกรมประมงอนุญาตให้ปรับราคาขึ้นได้ แต่ภาพรวมก็จะกระทบต่อกำไรในปีนี้ของ TFM บ้าง ซึ่งเรามองว่าปีนี้คงเป็นปีที่ผลงานของ TFM เป็นปีที่ต่ำสุด แต่เราคงไม่รอให้ฟื้นแล้วค่อยเข้าตลาด เรามองว่าการเข้าตลาดในช่วงนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ TFM มีศักยภาพมากขึ้น สามารถเตรียมความพร้อมต่อยอดการเติบโตเพื่อฟื้นตัวขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป” ฤทธิรงค์กล่าว

 

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญของโลก จากปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำที่มีเพียงพอสำหรับส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป โดยผลผลิตสัตว์น้ำที่มีการส่งออกสูง ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็น กุ้งสดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์กุ้ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตกุ้งเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2563

 

บรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าว่า แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจในปี 2564 จะยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์โควิด และราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง แต่เชื่อว่าจะเห็นการฟื้นตัวมากขึ้นในช่วงปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งมองว่าสถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายลง และทำให้การบริโภคสัตว์น้ำกลับมาฟื้นตัว และราคาสัตว์น้ำจะเริ่มกลับมาดีขึ้น จากปัจจุบันการบริโภคยังชะลอตัวกดดันราคาขายสัตว์น้ำลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์น้ำที่มียอดขายลดลงและชะลอการสั่งซื้ออาหารสัตว์น้ำ แต่หากปี 2565 สถานการณ์ดีขึ้นจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวขึ้นของยอดขายตามภาวะของตลาด คาดว่าจะเห็นยอดขายฟื้นตัวขึ้นสูงกว่าจากปี 2564 ที่มียอดขายทรงตัวที่ 4-5 พันล้านบาท

 

ขณะเดียวกันโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำใหม่ในประเทศอินโดนีเซียที่บริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น 2 ราย จะสามารถเดินเครื่องการผลิตได้เต็มที่ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ขึ้นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ โดยโรงงานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มติดตั้งเครื่องจักรในช่วงเดือนตุลาคม 2564 และเริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2564 ช่วงแรกจะผลิตอาหารกุ้งเป็นหลัก และจะเริ่มขยายไปผลิตอาหารปลา โดย TFM ถือหุ้น 65% มีการลงทุนกว่า 300 ล้านบาทตามสัดส่วนการถือหุ้น จากมูลค่าลงทุนรวม 560 ล้านบาท

 

นอกจากนี้หลังจากที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมองการขยายธุรกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้ามาต่อยอดการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีที่คาดว่าตลาดจะเริ่มพลิกฟื้นจากสถานการณ์โควิด โดยจะเน้นการขยายในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เพราะมองว่าเป็นตลาดใหญ่และยังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก จากปัจจุบันที่บริษัทได้ขยายไปยังตลาดอินโดนีเซียและปากีสถาน ขณะที่สัดส่วนยอดขายของบริษัทส่วนใหญ่ยังมาจากในประเทศราว 90% และมาจากต่างประเทศเพียง 5-10%

 

TFM ดำเนินธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ และผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี สั่งสมองค์ความรู้รวมถึงมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้า ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น 

 

และมีผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่

 

  1. อาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาด 17% ของปริมาณอาหารกุ้งในไทยปี 2563 และมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารกุ้งในไตรมาส 1/64 ที่ 43.3%

 

  1. อาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพง ปลาเก๋า, อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล ปลาดุก, อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และอาหารกบ โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารปลากะพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ ส่วนแบ่งการตลาดอาหารปลากะพง 24% ของปริมาณอาหารปลากะพงไทยในปี 2563 และมีสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารปลา ณ ไตรมาส 1/64 ที่ 41.4%

 

  1. อาหารสัตว์บก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาหารสุกร และอาหารสัตว์ปีก ได้แก่ อาหารไก่ อาหารเป็ด และอาหารนกกระทา โดยบริษัทเริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์บกปลายปี 2561 และปริมาณการขายอาหารสัตว์บกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ โดยมีสัดส่วนรายได้ ณ ไตรมาส 1/64 ที่ 10.5%

 

บริษัทมีกำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมทั้งหมด 288,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 168,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตอาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และกำลังการผลิตอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี ภายใต้ระบบการผลิตที่ทันสมัยทั้งแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติที่ควบคุมและสั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถแสดงคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้าแต่ละขั้นตอนการผลิตที่สำคัญทั้งหมดในโรงงานจังหวัดสมุทรสาครและสงขลา จึงทำให้สามารถติดตามข้อมูลในระหว่างกระบวนการผลิตได้ทันที

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising