×

ตลาดแรงงานจีนตึงเครียด เมื่อเหล่าวัยรุ่นเลือกรองานในฝันมากกว่าทำงานที่ไม่ใช่ แม้ต้องแลกด้วยการว่างงาน

07.06.2023
  • LOADING...

นิตยสาร The Wall Street Journal รายงานว่า ตลาดแรงงานจีนกำลังเจอกับความท้าทาย เมื่อเหล่าเยาวชนหน้าใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเริ่มมีความช่างเลือกงานมากขึ้น ตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน ปี 2023 ของเยาวชนอายุ 16-24 ปีในประเทศจีนสูงถึง 20.4% หรือ 2 ใน 10 ของคนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำ ไม่ใช่เพราะไม่มีบริษัทเปิดรับสมัครงาน แต่เพราะตำแหน่งงานที่ว่างไม่ตรงต่อความคาดหวังของนักศึกษาบางกลุ่ม จึงทำให้งานเหล่านั้นไม่สามารถดึงดูดเด็กจบใหม่ให้เข้าไปทำงานได้

 

ภาพ: China’s National Bureau of Statistics, US Bureau of Statistics, National Statistical Office of Thailand

 

David Wang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ Credit Suisse ประเทศจีน ชี้ว่า ปัญหาหลักของตลาดแรงงานจีนคือ ความไม่สมดุลระหว่างการสร้างงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะความสามารถที่มาพร้อมกับผลตอบแทนที่น่าดึงดูด ให้ควบคู่ไปกับการขยายตัวของจำนวนแรงงานในปัจจุบันที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ซึ่งเดวิดมองว่า นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวมากกว่าจะเป็นปัญหาแบบชั่วคราว

 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติประเทศจีนแสดงให้เห็นว่า แค่ในช่วงเวลา 3 ปีของ 2020-2022 มีนักศึกษากว่า 28 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของแรงงานใหม่ในเขตเมืองที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีตำแหน่งว่างอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นผลมาจากการสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาระดับสูงที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2000

 

จำนวนนักศึกษาจบใหม่ในแต่ละปีของประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

แรงงานรุ่นใหม่ชาวจีนรองานที่ใช่ แม้งานนั้นจะมีที่ว่างไม่เพียงพอ

 

แม้ทางการจีนจะพยายามรณรงค์ให้บริษัทต่างๆ จ้างงานเด็กจบใหม่มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเยาวชนลองทำงานแรงงานดูก่อน (Blue-Collar) แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาสนใจเข้าไปทำงานแบบนั้นได้

 

Sun Yuexing นักศึกษาหญิงชาวจีนที่กำลังจะเรียนจบ ให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal ว่า เธอใช้เวลากว่าหลายชั่วโมงเพื่อยื่นสมัครงานในมหกรรมการจัดหางานในกรุงปักกิ่ง (Beijing Job Fair) แต่ก็ต้องผิดหวังที่ไม่ได้ข้อเสนอจากบริษัทไหนเลย แม้เธอจะยอมลดเงินเดือนที่จะได้แล้วก็ตาม 

 

“มันน่าผิดหวังนะคะที่หนูจะต้องตกงานหลังจากเพิ่งเรียนจบ การแข่งขันทุกวันนี้มันดุเดือดมาก”

 

นี่ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสำหรับเด็กจบใหม่เท่านั้น แต่รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมด้วย หากจีนไม่สามารถลดอัตราการว่างงานของคนกลุ่มนี้ได้ เพราะนั่นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าแรงโดยเฉลี่ยของประเทศหยุดนิ่ง ซึ่งจะส่งผลให้จีนที่มีเป้าหมายจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการบริโภคจะยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้น 

 

สำหรับด้านของปัญหาทางสังคม Nancy Qian อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคลล็อก กล่าวเสริมว่า เมื่อคนมีความขัดสนทางการเงิน พวกเขาก็เริ่มมีมุมมองหมดหวังมากขึ้นกับอนาคตและความอดทน โดยการรับมือปัญหาอื่นๆ ก็จะลดลงไปด้วย

 

ถึงแม้ระบบเศรษฐกิจจีนจะมีความเชื่อมโยงกับภาคการบริการที่สูง และยังคงต้องการแรงงานในส่วนนี้อยู่ แต่งานบริการที่จีนสร้างขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นงานบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารและพนักงานส่งอาหาร ซึ่งผิดไปจากสิ่งที่เด็กจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยตามหา เพราะพวกเขามองว่ามันอาจเป็นการเสียโอกาสในการใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมา

 

ปริญญาบัตร สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จหรือเป็นเพียงใบเบิกทาง?

 

Fu Zihao นักศึกษาสาขาการกีฬา เล่าถึงความท้อแท้ในการหางานว่า เขาส่งใบสมัครไปในแทบทุกโรงเรียนที่เปิดรับคุณครูสอนวิชาพลศึกษาในกรุงปักกิ่ง แต่กลับยังไม่โรงเรียนใดตอบตกลงรับเขาเข้าทำงานเลย 

 

“ผมถูกปฏิเสธเพียงเพราะผมมีแค่ใบปริญญาตรี สมัยนี้แม้กระทั่งโรงเรียนอนุบาลเขายังกำหนดให้ผู้ฝึกสอนวิชาพลศึกษาจำเป็นต้องจบปริญญาโทเลยครับ” อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าจะมุ่งมั่นหางานนี้ต่อไปจนกว่าจะได้

 

วัยรุ่นชาวจีนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะกลับไปเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อหวังที่จะสร้างความแตกต่างให้กับโปรไฟล์ของตน แต่ความจริงเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อผู้ที่จบปริญญาตรีจำนวน 4.7 ล้านคนลงทะเบียนเข้าสอบเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มีความสามารถในการรับนักศึกษาได้เพียง 1.2 ล้าน ที่หมายความว่า จะมีแค่ 1 ใน 4 ของผู้สมัครเท่านั้นที่จะได้เรียนต่อ 

 

Yao Lu อาจารย์สังคมศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ให้ความเห็นถึงตลาดแรงงานปัจจุบันของจีนว่า ผมมองว่าใบปริญญามีบทบาทความสำคัญน้อยลงในการตัดสินว่าใครจะได้งานหรือไม่ได้งาน แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความจำเป็นมากขึ้น เพราะคนอื่นๆ เขาก็มีกัน

 

สำหรับประเทศจีนนั้น การเร่งบรรเทาปัญหาและวางแผนกับโครงสร้างตลาดแรงงานต่อไปในอนาคต จะเป็นกุญแจสำคัญต่อการฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจจีน เพราะว่ากำลังการบริโภคของคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากถึง 20% ของประเทศ ฉะนั้นการปรับสมดุลระหว่างชนิดของงานให้ตอบสนองกับทรัพยากรมนุษย์ที่จีนผลิตออกมาจึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐ หน่วยงานการศึกษา และบริษัทต่างๆ อาจต้องนำไปทบทวนดูอีกครั้ง

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising