Tenet (2020) กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน และ Mulan (2020) กำกับโดย นิกิ คาโร
สองภาพยนตร์แห่งความหวังของวงการภาพยนตร์โลกอย่าง Tenet และ Mulan ไม่ได้มอบความหวังให้กับวงการภาพยนตร์ได้สักเท่าไร
รายได้ของ Tenet ไม่ได้ย่ำแย่ แต่เรียกว่าไม่ได้เข้าเป้าอย่างที่สตูดิโอวอร์เนอร์หวังไว้ จนกระทั่งทางสตูดิโอเองในช่วงหลังๆ ก็ไม่กล้าเปิดเผยรายได้ออกมาอย่างชัดเจน (คงน้อยมาก) และยังไม่ทีท่าว่าหนังจะสามารถคืนทุนสร้างให้กับทางสตูดิโอได้ ในขณะเดียวกันทาง Mulan ที่เริ่มแผนการปล่อยหนังสองทางคือทางโรงภาพยนตร์ปกติและช่องทาง Premium VOD ในช่อง Disney+ แบบพร้อมๆ กัน แต่ภาพรวมที่ออกมาก็ไม่ได้ฟู่ฟ่าอย่างที่หลายคนจับตา ในฟากฝั่งโรงภาพยนตร์ปกตินั้น ตัวหนังก็มีปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ทั้งหลากหลายประเทศที่แบนเรื่องนี้ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างจีนและฮ่องกง ส่วนทางฝั่ง Disney+ ก็ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขยอดซื้อใดๆ ออกมาเช่นกัน มีแต่การคาดการณ์กันว่ามันทำเงินให้ Disney+ ไปเพียงเล็กน้อย และไม่ได้เพิ่ม Subscriber ใหม่ๆ ให้กับตัว Disney+ สักเท่าไร
เอาเป็นว่ารวมๆ ง่ายๆ หนังทั้งสองเรื่องเหมือนเป็นหน่วย (ที่ยอม) กล้าตายเพื่อบอกวงการว่าพวกเขายังชนะโควิด-19 ไม่ได้ และผลลัพธ์ของหนังสองเรื่องนี้ส่งผลให้หนังหลายเรื่องที่เตรียมจะลงสนามตอนปลายปีนั้นปิดกระเป๋าเก็บของหนีไปปีหน้าเลย นี่อาจจะเป็นปีแรกของ Marvel ที่ไม่มีหนังฉายโรง เพราะ Black Widow ก็ถูกเลื่อนออกไปเรียบร้อย หนังที่ยังคงยืนหยัดสู้ก็เหลือเพียง No Time to Die, Dune และ Wonder Woman 1984 แต่ก็นั่นแหละครับ ในเวลาหลังจากที่บทความนี้ออกไป เราก็ไม่รู้ว่าเราจะยังเหลืออยู่กี่เรื่องจริงๆ เมื่อถึงวันฉาย (เสริม: หลังจากเขียนบทความนี้เสร็จ หนังเรื่อง No Time to Die ก็ประกาศหนีไปฉายปีหน้าเรียบร้อย เท่ากับว่าตอนนี้เกือบจะไม่เหลือหนังฟอร์มยักษ์แถวท้ายปีแล้ว)
Kajillionaire (2020) กำกับโดย มิแรนดา จูลาย
กลุ่มที่ยังสู้อยู่จริงๆ อาจจะเป็นแก๊งหนังขนาดกลางและหนังขนาดเล็ก อาจจะเป็นเพราะสภาวะปกติแบบไม่มีโควิด-19 รายได้ของพวกเขาก็อาจจะไม่ได้เยอะไปกว่านี้เท่าไร พวกเขาเลยยอมสู้ๆ ฉายไป แต่แผนการจัดจำหน่ายอาจจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย เพราะหนังเล็กๆ อย่าง Kajillionaire ผลงานใหม่ล่าสุดของ มิแรนดา จูลาย ก็มีการวางแผนฉายในจำนวนโรงภาพยนตร์มากกว่า 500 โรง (ซึ่งปกติหนังของเธอจะได้เพียงแค่ 100 โรง) ว่าง่ายๆ คือผู้จัดจำหน่ายหนังไม่ยอมเล่นเกมเล็กอีกต่อไป พวกเขาตัดสินใจเสี่ยงโปรยระเบิดไปตามจุดต่างๆ ของประเทศไปเลย เพื่อให้หนังเข้าถึงคนได้มากที่สุด และหวังว่าคนจำนวนมากเหล่านั้นอาจจะสร้างกระแสบางอย่างได้ ต่อให้เป็นหนังเล็กๆ ถ้าเราแค่งุบๆ งิบๆ ฉายไปในเวลานี้ อาจจะตายคาที่แน่นอน แต่ถ้ายอมฉายเยอะก็อาจจะมีเปอร์เซ็นต์รอดได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายรายได้ของ Kajillionaire ก็ถือว่าทำไปได้น้อยอยู่ดี สรุปว่าแผนการโปรยระเบิดเพื่อสร้างกระแสก็ไม่สำเร็จเช่นกัน ดังนั้นอีก 2 เดือนข้างหน้าเราก็ต้องมาดูว่าหนังที่ยังยืนหยัดฉายจะเป็นอย่างไร พวกเราคงไม่ได้มองหาผู้ปลดปล่อยวงการอีกแล้ว แต่เราอาจจะมองเป็นเหมือนการทดลองอีกครั้งของฮอลลีวูดเพื่อเรียนรู้ทิศทางของคนดูหนังในยุคโควิด-19 นี้และครีเอตหาแผนการใหม่ๆ ในการที่จะทำให้หนังเรื่องหนึ่งรอดชีวิตได้ในโมงยามนี้
หันมามองบรรดาประเทศอื่นๆ ที่พอจะควบคุมสถานกาณ์โควิด-19 ได้นั้น กลับมีตัวเลขที่ค่อนข้างโอเคและสวยงาม Mulan ในประเทศไทยนั้นยังครองอันดับหนังทำเงินสูงสุดหลังจากหมดล็อกดาวน์ด้วยตัวเลขรวมประมาณ 60 ล้านบาท (ถ้าภาวะปกติ หนังก็มีสิทธิ์ได้ร้อยล้านเหมือนกัน แต่ถ้าได้ 80 ล้านบาทในภาวะนี้ก็ถือว่าดีงามแล้ว) ในขณะที่เมืองจีนนั้น ตัวหนังจีนที่เข้าฉายช่วงหยุดยาววันชาติ หนังแอนิเมชันภาคต่ออย่าง Jiang Ziya: Legend of Deification ก็ทำรายได้ถล่มทลาย 2 วันเกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐกันไปเลย เฉพาะรายได้วันแรกวันเดียวเกือบเท่ากับ Tenet ทั้งโปรแกรมที่ฉายในจีน
Jiang Ziya: Legend of Deification (2020) กำกับโดย Teng Cheng, Li Wei
ทั้งหมดเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบต่อการสร้างหนังในปีนี้ของสตูดิโออย่างมากมาย แผนการสร้างหนังแบบทุ่มทุน 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐน่าจะสร้างความกังวลไม่น้อย แผนการทำให้หนังฟอร์มใหญ่สุดๆ เพื่อแก้ปัญหาคนไม่ยอมมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์อาจจะเริ่มเป็นอะไรที่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไปแล้วจะคุ้มไหม เพราะยิ่งหนังทุ่มทุนหนักเท่าไรยิ่งต้องถอนทุนคืนให้ได้มากเท่านั้น นั่นแปลว่าหนังจำเป็นต้องฉายให้ประสบความสำเร็จแบบทั่วโลก ซึ่งถ้ามันเป็นภาวะปกติ ตลาดทั่วโลกทุกประเทศพร้อม มันก็น่าเวิร์กและพอคืนทุนกันได้ไม่ยาก (แน่นอนว่าฟอร์มหนังแบบ No Time to Die ย่อมเรียกคนดูได้เร็วกว่า Kajillionaire) แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าโจทย์ใหม่สำหรับผู้สร้างไม่ใช่การที่คนไม่อยากไปโรงภาพยนตร์เพราะติดดูหนังอยู่บ้านผ่านสตรีมมิง แต่คือการที่มันไม่มีโรงภาพยนตร์ให้ดูไปเลย รวมถึงสิ่งแวดล้อมของโรงภาพยนตร์ไม่ได้เอื้ออำนวยให้การดูหนังที่โรงสะดวกสบายอีกต่อไป การไปดูหนังหนึ่งครั้งมีความเป็นพิธีกรรมที่ต้องเตรียมตัวมากขึ้นเหมือนไปดูละครเวทีหรือบรอดเวย์
การเดินหน้าผลิตหนังฟอร์มใหญ่จึงเริ่มเปิดโมเดลใหม่ๆ มากขึ้น ถ้าให้ว่ากันง่ายๆ คือ เนื่องจากสตูดิโอเริ่มไม่มีเงินลงทุน พวกเขาจึงเริ่มต้องหาพาร์ตเนอร์มาร่วมหุ้นในการผลิตหนัง และต้องทำใจที่จะร่วมแบ่งส่วนแบ่งกำไรให้กับคนอื่นๆ มากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นโปรเจกต์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เช่น ค่าย Paramount เปิดดีล 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับโปรดิวเซอร์คนนอกบริษัท ซึ่งดีลนี้จะเป็นแพ็กเกจไปลงทุนหลายโปรเจกต์ที่กำลังวางแผนสร้าง ยกตัวอย่าง Top Gun และ Mission Impossible ภาคใหม่ของ ทอม ครูซ ว่าง่ายๆ คือแพ็กรวมขายหลายๆ เรื่องไปเลย ได้เงินก้อนมาทีเดียว สิ่งเหล่านี้ปกติแล้วไม่ค่อยเกิดขึ้นในการสร้างหนัง เพราะทุกที่ก็ไม่ได้อยากจะแบ่งผลประโยชน์ให้ใครหลายๆ คน และการแบ่งกำไรให้ผู้ลงทุนเหล่านี้ เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งที่ต้องให้จะเยอะมาก เยอะกว่าการไปกู้ธนาคารมาสร้าง (มีคนกล่าวว่าบริษัทอย่าง Disney ไม่เคยให้คนนอกมาร่วมแชร์อะไรแบบนี้หลายสิบปีแล้ว) แต่เนื่องจากโควิด-19 ทำให้สตูดิโอหนังขาดรายได้ รวมถึงค่าโปรดักชันในช่วงโรคระบาดนี้ก็ถือว่าถีบตัวสูงขึ้นไปหลายเท่า เพราะต้องมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยมากขึ้น เสียค่าทำประกันต่างๆ ให้ทีมงานมากขึ้น คนที่ตกที่นั่งลำบากมากกว่าเพื่อนก็อาจจะเป็นคนทำหนังอิสระที่จะไม่สามารถไปกู้ธนาคารมาทำหนังให้เกิดขึ้น เพราะธนาคารก็ไม่อยากเสี่ยงกับการปล่อยกู้ไปทำหนังในเวลานี้ หรือถ้าผู้สร้างไม่ทำประกันสำหรับการถ่ายหนังช่วงโควิด-19 (ซึ่งมีราคาสูงเพราะการถ่ายทำมีสิทธิ์โดนปิดเมื่อไรก็ได้) ธนาคารก็ไม่ให้กู้อยู่ดี
ชั่วโมงนี้จึงเป็นเวลาที่ท้าทายที่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ไม่มีอะไรยากไปกว่านี้แล้วทั้งฝั่งคนทำและฝั่งผู้จัดจำหน่าย แม้ใกล้จะถึงท้ายปี สัญญาณแห่งความหวังก็ดูจะยังไม่มา จนตอนนี้บรรดาผู้กำกับต้องช่วยกันยื่นจดหมายไปหารัฐบาลให้ช่วยลงมาจัดการอะไรสักอย่าง เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอเมริกานั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่และสร้างเงินสร้างงานให้กับผู้คนมากมายหลายชีวิต
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที วัน สัปดาห์ และเดือน เราจะมาสรุปให้ฟังกันเรื่อยๆ ต่อไปนะครับ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า