×

ไม่ได้มีดีแค่ JOOX-PUBG! เทนเซ็นต์ไทยงัดกลยุทธ์ 2020 รุก B2B ด้วย AI และ Cloud ป้อนออริจินัลลง WeTV 8 เรื่อง

17.10.2019
  • LOADING...
Tencent Thailand

สมรภูมิเทคโนโลยีและคอนเทนต์ในประเทศไทยยังแข่งขันกันดุเดือดและเพิ่มดีกรีความระอุขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปี เพราะเมื่อเทคโนโลยีมีราคาถูกลง การเชื่อมต่อสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น ไม่แปลกที่ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่มองเห็นโอกาสจะพาตัวเองกระโจนเข้ามาเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก

 

ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก ‘บริษัท สนุกออนไลน์ จำกัด’ มาเป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด (Tencent) เมื่อปี 2560 โดยมีบริษัทแม่ในจีนคอยหนุนหลัง ภาพของเทนเซ็นต์ ประเทศไทย ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการโซลูชันธุรกิจก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่อง ทั้งยังกลายเป็นผู้เล่นที่มีอาวุธแพลตฟอร์มครบมือ

 

ปัจจุบัน เทนเซ็นต์ ประเทศไทย มีธุรกิจในมือ 3 ส่วน ประกอบด้วย

 

  1. ข่าว (News) – Sanook.com
  2. ความบันเทิง (Entertainment) – JOOX, PUBG และ WeTV
  3. บริการโซลูชัน (Solution) – Tencent Cloud และ Tencent Social Ads

 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยว่า ในช่วงระหว่างปี 2559-2561 เทนเซ็นต์ ประเทศไทย มีรายได้และกำไรสุทธิดังนี้

 

  • ปี 2559: รายได้ 412,302,108 บาท (+46.9%) / ขาดทุนสุทธิ 156,266,118 บาท (-18.71%)
  • ปี 2560: รายได้ 709,465,938 บาท (+72.07%) / กำไรสุทธิ 27,006,546 บาท (-117.28%)
  • ปี 2561: รายได้ 1,076,739,850 บาท (+51.76%) / ขาดทุนสุทธิ 58,545,071 บาท (-316.78%)

 

เทนเซ็นต์ ประเทศไทย เผยว่าสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันกว่า 60-70% มาจาก Sanook.com, JOOX และ PUBG ขณะที่อีกประมาณ 20-30% มาจาก WeTV และแพลตฟอร์มคลาวด์ ซึ่งทางเทนเซ็นต์บอกว่าตั้งแต่ที่พัฒนาบริการสตรีมมิงใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด โมเดลรายได้จากธุรกิจของบริษัทก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยมาจากโฆษณาเกินครึ่งก็ลดลงเหลือไม่เกิน 50% โดยมีบริการกลุ่ม Subscription และคลาวด์มาแชร์ส่วนแบ่งดังกล่าวไปแทน ส่วนกลุ่มเป้าหมายโดยรวมยังเน้นผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงอายุ 15-30 ปี

 

ขณะที่ในปี 2563 ที่จะถึงนี้ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ใหม่ของบริษัท โดยจะเน้นไปที่ 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย พัฒนานวัตกรรม สร้างคอมมูนิตี้ และสร้างเนื้อหาที่โดดเด่นแตกต่าง ที่สำคัญจากเดิมที่เป็นธุรกิจแบบ B2C เป็นหลักจะหันมาเน้น B2B มากขึ้น พร้อมชู AI และคลาวด์เป็นสองหัวหอกหลักรุกผลิตภัณฑ์กลุ่มโซลูชันธุรกิจ

 

สำหรับการพัฒนานวัตกรรมจะเริ่มที่การรีแบรนด์เว็บไซต์ข่าวและแอปพลิเคชัน Sanook.com โฉมใหม่ หลังอยู่ในสังเวียนมานาน 21 ปี เปิดตัวเทคโนโลยี Text to speech ช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องอ่านข่าว แต่อาศัยการฟัง AI เล่าตัวอักษรเป็นเสียงแทน 

 

รวมถึง Sanook 77 เพื่อนำเสนอข่าวท้องถิ่นมากขึ้น เพราะ 60% ของผู้อ่าน Sanook ในวันนี้อยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก แล้วนำเทคโนโลยีมา Personalization ช่วยให้สามารถเสนอข่าวตรงกับจริตคนอ่านมากกว่าเดิม (ตัวอย่างเช่น เมื่อเดินทางไปเชียงใหม่ หน้าฟีดข่าวก็จะกรองข่าวท้องถิ่นในเชียงใหม่ให้อ่าน)

 

ด้านโซลูชันธุรกิจจะเดินเครื่องผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคลาวด์ให้เห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม จัดตั้งแผนกใหม่ในบริษัทขึ้นมาดูแลงานด้านนี้โดยตรง พร้อมนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่จากฝั่งบริษัทแม่ เช่น EKYC และ AI มาปรับใช้เพื่อให้คลาวด์ของเทนเซ็นต์สมบูรณ์แบบ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ครบวงจร ทั้งด้านการแพทย์, สถาบันการเงิน, รีเทล และหน่วยงานภาครัฐ

 

ส่วนในเชิงการสร้างคอมมูนิตี้ นอกเหนือจากการดึง KOL มาสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของ JOOX เพื่อหารายได้ และเปิดพื้นที่สำหรับเหล่าเกมเมอร์บน PUBG ก็จะต่อยอดไปสู่การจัดอีเวนต์ต่างๆ แบบ O2O ให้ต่อเนื่องมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ของ JOOX, PUBG และ WeTV 

 

เพราะเทนเซ็นต์เห็นถึงผลลัพธ์ในช่วงที่ผ่านมาว่าการจัดกิจกรรมออนกราวด์ต่างๆ มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดเอ็นเกจเมนต์ในเชิงบวกกับแพลตฟอร์ม และต่อยอดไปสู่การหารายได้จากโมเดล Subscription และสปอนเซอร์ได้เป็นอย่างดี

 

ฝั่งคอนเทนต์ หลังช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้เปิดตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอ WeTV ไป (มียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 1 ล้านครั้งแล้ว) และประกาศความร่วมมือกับค่าย GDH ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ เตรียมออกอากาศพร้อมกันทั้งในไทยและจีน (ผ่านแพลตฟอร์ม Tencent Video) กลางปี 2563 ล่าสุดมีการเปิดเผยแล้วว่าในปีหน้านี้เทนเซ็นต์จะพยายามผลิตคอนเทนต์แบบออริจินัลออกมาให้ได้อย่างน้อยไตรมาสละ 2 เรื่อง หรือรวม 8 เรื่อง

 

กรรมการผู้จัดการ เทนเซ็นต์ ประเทศไทย เผยว่าจุดแข็งของ WeTV คือความหลากหลายของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม โดยถือเป็นแลตฟอร์มที่มีคอนเทนต์จากจีนมากที่สุด (มาจากทั้ง Tencent Pictures และ Tencent Penguin Pictures) นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์เกาหลีและคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟของไทย ซึ่งจะไม่เน้นใช้คอนเทนต์รีรัน ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น 

 

อีกหนึ่งจุดขายที่จะนำไปสู่ข้อได้เปรียบในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ คือ WeTV สามารถต่อยอดคอนเทนต์ที่ผลิตในไทยให้เดินทางไปสู่ Next Billion Eyeballs หรือสายตาผู้ชมอีกกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกได้ด้วย เนื่องจากแพลตฟอร์ม Tencent Video มีผู้ใช้งานแบบ MAU ในวันนี้มากกว่า 500 ล้านคนต่อเดือน

 

ยิ่งไปกว่านั้นตัว JOOX เองที่วันนี้มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน (ยอดดาวน์โหลดรวม 70 ล้านครั้ง) ก็จะต่อยอดทำคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟร่วมกับศิลปินต่างๆ เหมือนกัน เนื่องจากมีข้อมูลบิ๊กดาต้าว่าแนวเพลงหรือศิลปินคนใดได้รับความนิยม โดยที่ผ่านมาได้ใช้โมเดลเดียวกันนี้ทำโปรเจกต์เพลงแบบพิเศษ ‘JOOX Thailand 100×100’ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว และยังต่อยอดไปถึงการทำ Branded Content เพลง TMRW ร่วมกับแบรนด์ UOB ได้ด้วย

 

กฤตธีกล่าวทิ้งท้ายว่าแม้เทนเซ็นต์จะเป็นบริษัทออนไลน์ แต่ส่ิงที่บริษัททำหลายๆ อย่าง ‘ไม่ใช่แค่ออนไลน์’ เท่านั้น แต่รวมถึงออฟไลน์ด้วย ผ่านการจัดอีเวนต์และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์กับกลุ่มคอมมูนิตี้ผู้ใช้งานในวงกว้างได้ โดยสิ่งที่จะได้เห็นต่อจากนี้คือการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising