×

ไปต่อ-พอเถอะ-หาคนชั่วคราว? 3 แนวทางตัดสินอนาคต เอริก เทน ฮาก

30.09.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • คนที่เป็นฝ่ายตัดสินใจให้ ‘โอกาส’ กุนซือชาวดัตช์ได้แก้ตัวใหม่อีกครั้งในฤดูกาลที่ 3 คือฝ่ายบริหารชุดของ INEOS ที่เข้ามาเทกโอเวอร์หุ้นบางส่วน และได้อำนาจเต็มในการบริหารจัดการสโมสร
  • การแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามากลางทางไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวงการฟุตบอลยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเสมอ คำถามที่สำคัญกว่าคือ เวลานี้ในตลาดมีคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนายใหญ่แห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดที่พร้อมจะรับข้อเสนอกี่คน?
  • การเลือกคนทำงานชั่วคราวเพื่อรอคนที่ใช่ ในทางทฤษฎีก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากและอาจจะไม่เหมาะสำหรับสโมสรระดับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมาเสี่ยงด้วยวิธีแบบนี้อีก

ความเห็นจากเหล่าผู้รู้ในวงการฟุตบอลอังกฤษบอกตรงกันโดยไม่ต้องนัดหมาย นี่คือเกมที่เลวร้ายที่สุดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคสมัยของ เอริก เทน ฮาก

 

และไม่ว่าจะเป็นแฟน ‘ปีศาจแดง’ หรือไม่ ใครที่ได้ดูการพ่ายแพ้คาโรงละครแห่งความฝันต่อท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็น่าจะเห็นตรงกันไม่ยากว่า ‘ดูทรงแล้วไม่รอด’

 

แต่ฝ่ายนายใหญ่แห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดกลับยืนกรานเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าไม่ได้กังวลใจในเรื่องตำแหน่งของตัวเอง พร้อมอ้างว่า ทุกฝ่ายตัดสินใจที่จะอยู่ไปด้วยกันแบบนี้

 

คำถามคือ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ และเหล่าผู้บริหารระดับสูงชุดใหญ่จาก INEOS คิดแบบนั้นจริงๆ หรือไม่ หลังจากที่ได้เห็นผลงานที่ยับเยินในระดับนี้ของทีม ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มฤดูกาลใหม่มาได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น

 

นี่คือ 3 แนวทางให้เลือกสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด เกี่ยวกับอนาคตของเทน ฮาก 

 

 

1. เพราะเราคือ United เราจะไม่ทิ้งกัน (ตอนนี้)

 

จากคำพูดของเทน ฮาก ที่ยังมั่นใจในความมั่นคงของเก้าอี้กุนซือของตัวเอง เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการพูดแบบไม่มีที่มาและไม่มีที่ไป

 

เหตุผลเพราะคนที่เป็นฝ่ายตัดสินใจให้ ‘โอกาส’ กุนซือชาวดัตช์ได้แก้ตัวใหม่อีกครั้งในฤดูกาลที่ 3 คือฝ่ายบริหารชุดของ INEOS ที่เข้ามาเทกโอเวอร์หุ้นบางส่วน และได้อำนาจเต็มในการบริหารจัดการสโมสร

 

ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ในฐานะเจ้าของ INEOS และ เซอร์เดฟ เบรลฟอร์ด ตำนานนักจักรยานชาวอังกฤษ เจ้าของสุดยอดทฤษฎี ‘Marginal Gains’ ซึ่งเป็นมือขวาในงานด้านกีฬา ร่วมกับคณะทำงาน ได้ประเมินผลงานของเทน ฮาก ไปพร้อมๆ กับการพิจารณาตัวเลือกในตำแหน่งผู้จัดการทีม

 

ช่วงเวลานั้นแมนฯ ยูไนเต็ด เปิดการเจรจากับแคนดิเดตอยู่หลายคน ซึ่งรวมถึงตัวเลือกระดับท็อปอย่าง โธมัส ทูเคิล​, เมาริซิโอ โปเชตติโน และ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปกับแคนดิเดตกลุ่มนี้ได้สักคน

 

สุดท้ายโอกาสจึงกลับมาเป็นของเทน ฮาก ที่ได้ต่อลมหายใจ เพราะการสยบแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์เอฟเอคัพ ซึ่งเป็นแชมป์ใบที่ 2 ใน 2 ฤดูกาลของกุนซือชาวดัตช์ที่ทำให้เคลมได้ว่า ต่อให้ผลงานในลีกจะเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยเขาก็จบด้วยการมีแชมป์ทุกปี

 

และด้วยความเป็นแฟนฟุตบอล (Supporter) มายาวนาน เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ ต้องการรักษาค่านิยมที่ดีด้วยการเลือกยืนหยัดและให้โอกาสผู้จัดการทีมได้แก้ตัว โดยเฉพาะกับเทน ฮาก ที่มีเหตุผลอ้างได้ว่า “ไม่เคยได้รับการสนับสนุนที่ดีพอจากฝ่ายบริหารชุดเก่า” (เอ็ด วูดเวิร์ด และ จอห์น เมอร์โทห์) 

 

ช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา ทีมบริหารชุดใหม่จึงประเคนให้ตั้งแต่การดึงขุนพลระดับสุดยอดในวงการมามากมายไม่ว่าจะเป็น โอมาร์ เบอร์ราดา (ซีอีโอ), แดน แอชเวิร์ธ (ผู้อำนวยการฟุตบอล), เจสัน วิลค็อกซ์ (ผู้อำนวยการเทคนิค) รวมถึงทีมสตาฟฟ์ของเทน ฮาก 

 

และการปรับปรุงศูนย์ฝึกซ้อมแคร์ริงตัน ยกระดับให้ทัดเทียมกับสโมสรระดับชั้นนำทีมอื่นสักที หลังจากถูกปล่อยปละละเลยมาอย่างยาวนาน

 

ไปจนถึงการคว้านักเตะที่ฝีเท้าดีและมีอนาคตไกล เช่น เลนี โยโร, โจชัว เซิร์กซี, มัทไธจ์ส เดอ ลิกต์, นูสแซร์ มาซราอุย และ มานูเอล อูการ์เต เข้ามาเสริมทีม

 

ให้ความยุติธรรมกับเทน​ ฮาก นักเตะใหม่เหล่านี้ต้องการเวลาในการปรับตัวกับสไตล์ของฟุตบอลอังกฤษ และต้องเรียนรู้แนวทางของทีมใหม่ด้วย 

 

นักเตะอย่างโยโรเองก็มีอาการบาดเจ็บ ยังไม่มีโอกาสได้ลงสนามเลย

 

ถ้าภาษิตจีนเคยบอกเอาไว้ว่า เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง

 

บางทีถ้าอดทนรออีกสักนิด ทีมของเทน ฮาก อาจจะดีขึ้นก็ได้?

 

 

2. ปลดเลย ไม่มีอะไรแย่กว่านี้แล้ว

 

เวลานี้พรีเมียร์ลีกเพิ่งผ่านมาเพียงแค่ 6 นัด ในฟุตบอลถ้วยเองยังได้ผ่านเข้ารอบ 4 ลีกคัพ และในยูฟ่ายูโรปาลีกเพิ่งจะลงสนามไปเพียงแค่เกมเดียว 

 

ทีมยังมีโอกาสจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้เสมอ

 

เพียงแต่การจะยอมทนให้ทีมตกอยู่ใต้สถานการณ์แบบนี้ต่อไป ทั้งๆ ที่มองเห็นกันตลอดจนเข้าฤดูกาลที่ 3 แล้วว่าเทน ฮาก ไม่มีแนวทางที่ดีหรือชัดเจนพอในการสร้างทีม โดยไม่ต้องเทียบไกลแค่กับสเปอร์สที่ได้ แอนจ์ ปอสเตโคกลู เข้ามาทำทีมเป็นฤดูกาลที่ 2 ก็เห็นความต่างอย่างมากแล้ว

 

ไม่มีประโยชน์ที่จะทู่ซี้ให้ทำทีมต่อไป ปลดแล้วหาคนใหม่เข้ามาเลยดีกว่าไหม?

 

การแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามากลางทางไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวงการฟุตบอลยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเสมอ คำถามที่สำคัญกว่าคือ เวลานี้ในตลาดมีคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนายใหญ่แห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดที่พร้อมจะรับข้อเสนอกี่คน?

 

รายชื่อที่น่าสนใจและเป็นไปได้ในเวลานี้ประกอบไปด้วย

 

  1. แกเร็ธ เซาท์เกต
  2. โธมัส ทูเคิล
  3. เกรแฮม พอตเตอร์
  4. คีแรน แมคเคนนา
  5. ชาบี เอร์นานเดซ

 

แต่ละคนในกลุ่มนี้ก็มีข้อดีที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่ต้องถามย้อนกลับไปว่า ทั้งหมดนี้คือตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด แล้วจริงๆ ใช่ไหม?

 

 

3. หากุนซือชั่วคราวเพื่อรอคนที่ใช่จริงๆ

 

อีกหนึ่งทางเลือกคือ การหาคนมาทำงานชั่วคราวแทนในระหว่างนี้ไปจนจบฤดูกาล เพื่อรอตัวเลือกที่ดีที่สุดจริงๆ ในช่วงปิดฤดูกาล

 

หลายคนเริ่มสนใจอดีตศูนย์หน้าในตำนานอย่าง รุด ฟาน นิสเตลรอย ที่ถูกดึงตัวเข้ามาอยู่ในทีมงานของเทน ฮาก ในฤดูกาลนี้ด้วยแบบมีเลศนัย ทั้งๆ ที่ก็เคยมีโอกาสคุมทีมใหญ่อย่างพีเอสวี ไอนด์โฮเฟน มาแล้วในฤดูกาล 2022/23 ซึ่งชวนให้คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการ ‘วางตัว’ ให้เป็นตัวตายตัวแทนในยามจำเป็น

 

เรื่องนี้มีโอกาสเป็นไปได้ และถ้าเป็นจริงก็เชื่อว่าจะเป็นไวบ์ที่ดีของแมนฯ​ ยูไนเต็ด คล้ายๆ กับในวันที่ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ตอบรับข้อเสนอในการมารับช่วงต่อจาก โชเซ มูรินโญ ด้วยสัญญาในการคุมทีมชั่วคราว

 

ถ้าฟาน นิสเตลรอย ได้โอกาสนั้นจริง ก็เป็นโอกาสของเขาด้วยที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ต้องการเป็นแค่คนชั่วคราว แต่ต้องการเป็นตัวจริงของทีม

 

หรือหากไม่ใช่ฟาน นิสเตลรอย แต่เป็นคนอื่น คนนั้นก็จะมีโอกาสแบบนั้นเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แมนฯ ยูไนเต็ด เลือกวิธีแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง และจบลงด้วยความล้มเหลวทุกครั้ง

 

กับโซลชาร์แม้จะเริ่มได้ดี แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถ ‘ปลุกปีศาจต้องใช้ปีศาจ’ 

 

และหลังจากโซลชาร์ พวกเขาขอให้ ราล์ฟ รังนิก ที่เดิมถูกชวนมานั่งแท่นผู้อำนวยการสโมสร มารับงานคุมทีมเป็นการชั่วคราว ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน ทำเอากุนซือระดับปรมาจารย์ชาวเยอรมันแทบเสียคนไปในตอนนั้น (ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มเห็นด้วยกับสิ่งที่รังนิกบอกว่า “ปีศาจแดงตัวนี้ต้องผ่าตัดใหญ่เท่านั้น”)

 

การเลือกคนทำงานชั่วคราวเพื่อรอคนที่ใช่ ในทางทฤษฎีก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากและอาจไม่เหมาะสำหรับสโมสรระดับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมาเสี่ยงด้วยวิธีแบบนี้อีก

 

แต่ถ้าหากเซอร์จิมและผู้บริหารอยากจะลองดูอีกสักครั้ง ฟาน นิสเตลรอย ก็ควรจะได้รับโอกาสนี้

 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทุกอย่างในเวลานี้ค่อนข้างน่าหนักใจสำหรับผู้บริหาร เพราะในขณะที่กำลังวาดฝันใหญ่จะสร้าง ‘เวมบลีย์แห่งตอนเหนือ’ สนามแข่งแห่งใหม่ที่จะจุแฟนบอลได้ 1 แสนคน

 

แต่ผลงานทีมในสนามก็เยินพอๆ กับหลังคาสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ที่ยังมีรูรั่วให้ฝนหยดลงมาใส่หัวแฟนบอลที่เสียเงินไม่น้อยเพื่อเข้ามาเชียร์ในสนาม

 

บางทีสิ่งที่ควรจะใส่ใจมากที่สุดอาจไม่ใช่เรื่องแผนกงแผนการอนาคต

 

ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดก่อน แล้วที่เหลือทุกอย่างจะตามมาเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising