เทคโนโลยีจะเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อมนุษย์เรานำมาใช้ถูกสถานการณ์ ถูกเวลา และใช้อย่างเหมาะสม
ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้ เทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงนี้คือ Telehealth
Ping An Good Doctor ซึ่งเป็นผู้ให้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์รายใหญ่ในจีน มีการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานรายใหม่ถึง 900% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพิ่งเปิดไฟเขียวให้ Medicare คุ้มครองการรักษาแบบ Telehealth เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวกขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล ซึ่งจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงในเวลานี้
Telehealth คือการนำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ มาสนับสนุนการให้บริการทางสุขภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างแพทย์ถึงแพทย์ในลักษณะการปรึกษาเคส การให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์กับคนไข้ การที่พยาบาลในพื้นที่ห่างไกลปรึกษาแพทย์ การให้ความรู้เรื่องยาจากเภสัชกรสู่ประชาชน หรืออื่นๆ ใดที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์คือสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน
Telehealth เปรียบเสมือนร่มใหญ่ ที่มีแขนงแยกออกไปตามแต่การใช้งาน แต่ที่มีการหยิบยกมาพูดถึงกันมากในช่วงนี้คือ Teletriage ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยคัดกรองผู้ป่วยก่อนจะมาถึงโรงพยาบาล ด้วยการตอบแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงผ่านทางวิดีโอคอล หรือรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยง และแนะนำช่องทางการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ในเคสที่ไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ในทางตรงข้าม สำหรับเคสความเสี่ยงสูง บุคลากรทางการแพทย์จะสามารถเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์และชุดป้องกันตัวก่อนพบผู้ป่วยได้ (Personal Protective Equipment)
อีกกลุ่มคนไข้ที่จะได้รับประโยชน์จาก Telehealth คือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาประจำต่อเนื่อง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน แต่ไม่อยากมาโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเอง มีการนำ Telemedicine มาใช้เพื่อให้แพทย์ได้ให้คำปรึกษาผู้ป่วย โดยเฉพาะการใช้วิดีโอคอลร่วมกับ Telemonitoring รูปแบบต่างๆ (เช่น การใช้เครื่องวัดความดันที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ซึ่งข้อมูลถูกส่งตรงไปยังแพทย์) เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินผู้ป่วย และให้คำแนะนำในการรับประทานยาต่อได้
Telemedicine ยังเข้ามาช่วยลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นได้ในอีกหลายกรณี เช่น กลุ่มคนไข้ที่ได้รับการเจาะเลือดตรวจ และต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเพียงเพื่อฟังผลตรวจเลือด หากแพทย์สามารถแจ้งผลการตรวจ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับคนไข้ได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ (Teleconsultation) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเดินทางมาโรงพยาบาลได้
Telemental Health เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เติบโตมากในช่วงนี้ ความเครียดจากการรับข่าวสาร ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และข้อจำกัดในการพบปะผู้คนในภาวะที่ไม่ปกตินี้ ส่งผลให้มีคนจำนวนหนึ่งต้องการรับคำปรึกษาปัญหาทางจิตใจ ซึ่งรูปแบบการปรึกษาออนไลน์เข้ามาตอบโจทย์ได้มากในช่วงเวลานี้
Remote Monitoring เป็นอีกหนึ่งการใช้งานที่ถูกพูดถึงมาก ในแง่การใช้เทคโนโลยีช่วยติดตามอาการคนไข้ที่ป่วยด้วยโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยจนสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาลซึ่งมีจำกัด แพทย์สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย อัตราการหายใจ รวมถึงซักถามอาการต่างๆ ได้ผ่านทางวิดีโอคอล
สำหรับในไทยเองนั้น มีความพยายามของภาคเอกชนในการนำ Telehealth มารับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ เช่น การรวมตัวกันของ Startups เปิด Facebook Page ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ เพื่อรับอาสาสมัครแพทย์และพยาบาลจิตอาสา ร่วมให้คำปรึกษาออนไลน์ (Teleconsultation) เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือการเปิดให้บริการปรึกษาแพทย์ ผ่านแพลตฟอร์ม LINE ของ Samitivej Virtual Hospital จากกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช
อย่างไรก็ตาม Telemedicine ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญคือ การที่แพทย์ไม่สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้ ซึ่งในการให้คำวินิจฉัยหรือคำแนะนำทางการแพทย์นั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ต้องการข้อมูลจากการฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ ดูลำคอ และอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ หนึ่งในเทคโนโลยีที่พยายามจะเข้ามาอุดช่องโหว่นี้คือเครื่องมือในกลุ่ม Handheld Examination Kit เช่น TytoCare ซึ่งเป็น Digital Stethoscope (เครื่องมือฟังเสียงหัวใจและปอด) ที่เอื้อให้แพทย์ได้ข้อมูลจากร่างกายคนไข้ โดยไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง และผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของทั้งสหรัฐอเมริกาและไทย
อีกข้อจำกัดของ Telemedicine คือความไม่คุ้นเคยของแพทย์ ในการให้คำปรึกษาออนไลน์ และไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีสื่อสารรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีคอร์สที่เปิดสอนสกิลการซักประวัติ และตรวจร่างกายผ่านการให้คำปรึกษาออนไลน์ ที่แพทย์สามารถสมัครเข้าเรียนได้ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดในด้านนี้ลง
สถานพยาบาลที่อยากจะนำ Telemedicine มาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในระยะนี้ สามารถศึกษาถึงการติดตั้งฮาร์ดแวร์ ระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงระบบการตรวจสอบตัวตนของแพทย์และคนไข้ จากสถาบันที่ให้ความรู้ในด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น American Telemedicine Association
ด้วยเงื่อนสถานการณ์ และเงื่อนเวลาในขณะนี้ Telehealth เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่น่าจะช่วยให้ประชากรซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตทั่วโลก ได้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยเกิดการสูญเสียในด้านต่างๆ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขอเพียงแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือผู้คุมกฎกติกาต่างๆ เปิดใจเรียนรู้ แก้ไขข้อจำกัด ป้องกันข้อผิดพลาด และเปิดโอกาสให้ Telehealth ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเหมาะสม
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage
และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardpop
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์