×

ธีรัจชัย ซักฟอก ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ชี้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมคดีบอส กระทิงแดง แฉขบวนการสมคบปล่อยหลุดคดี

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2021
  • LOADING...
ธีรัจชัย ซักฟอก ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ชี้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมคดีบอส กระทิงแดง แฉขบวนการสมคบปล่อยหลุดคดี

วานนี้ (16 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเป็นการอภิปราย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เน้นไปที่ประเด็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากคดีที่ วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ ‘บอส กระทิงแดง’ ตกเป็นผู้ต้องหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปรามสถานีตำรวจนครบาล ( สน.) ทองหล่อ ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดเมื่อปี 2555 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถเอาคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาลงโทษได้ แม้ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่มี วิชา มหาคุณ เป็นประธาน จะได้สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า “มีความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และสร้างพยานหลักฐานเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการดำเนินคดีตามกฎหมาย” แต่ทว่าก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ  

 

ธีรัจชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคดีที่โด่งดัง ได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยและคนทั่วโลก กองพิสูจน์หลักฐานส่งผลตรวจความเร็วของรถผู้ต้องหาที่ขับชน 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายต้องไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

โดยตำรวจสั่งฟ้องวรยุทธด้วยข้อหา 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย 2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 3. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ซึ่งเมื่อส่งเรื่องให้อัยการ มีการสั่งฟ้องทั้ง 3 ข้อหาตามที่ตำรวจส่งเรื่องมา แต่เพิ่มข้อหาขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดด้วย ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นสั่งไม่ฟ้องของตำรวจ 

 

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนเพราะ 1. ผู้ต้องหาเป็นทายาทมหาเศรษฐีระดับโลก 2. การขับรถด้วยความเร็วถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนนสามเลนใจกลางเมือง 3. เมื่อชนคนแล้วไม่หยุดรถเพื่อช่วยเหลือ แต่กลับลากร่างตำรวจไปกับรถ 4. หลังชนแล้วก็มีการให้ผู้อื่นมารับสมอ้างว่าขับรถเพื่อรับผิดแทน 5. เหตุเกิดตอนตี 5 เศษ ไม่มีการตรวจสอบการเสพสารเสพติดจนถึง 16.00 น. ของวันนั้น 6. ผู้ต้องหาหลบหนีออกนอกประเทศ และไม่สามารถตามตัวได้ 7. มีการสร้างพยานหลักฐานเท็จยัดเยียดตั้งข้อหาว่า ผู้ตายซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท ขับรถตัดหน้าเอง

 

“ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมของเมืองไทยว่า จะสามารถเอาผิดกับคนรวย คนชั้นสูงได้หรือไม่ และยังเป็นคดีที่ตำรวจไทยทั่วประเทศรู้สึกเจ็บแค้นแทนเพื่อนร่วมงาน ที่เพื่อนร่วมงานถูกรถชนตายแต่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ กลายเป็นแรงกดดันทางสังคมไปยังนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้กระตือรือร้น ดูแลให้คดี ด.ต. วิเชียร ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ว” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยกล่าวว่า จุดพลิกผันของคดีมาพร้อมกับการรัฐประหารปี 2557 โดยหลังยึดอำนาจแล้ว คสช. ได้ตั้งสภานิติบัญญัติ (สนช.) ขึ้นมา และมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช. คือ กมธ. การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดย กมธ. ชุดนี้ล้วนมีแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร อาทิ 1. พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ. ประวิตร เป็นประธาน กมธ., 2. พล.ต.อ. พัชรวาท อดีต ผบ.ตร. น้องชายของ พล.อ. ประวิตร, 3. พล.ต.ท. วิบูลย์  บางท่าไม้ น้องเขย พล.อ. ประยุทธ์, 4. พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธ์ุม่วง อดีต ผบ.ตร. ยุค คสช. ซึ่งแต่งตั้งโดย พล.อ. ประยุทธ์ และ 5. พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ซึ่งได้รับเสนอชื่อให้เป็น ผบ.ตร. โดย พล.ต.อ. สมยศ และได้รับความเห็นชอบโดย พล.อ. ประวิตร ซึ่งเป็นประธานที่ประชุม ก.ตร. ในการแต่งตั้ง

 

“นับตั้งแต่อัยการสั่งฟ้องคดี วรยุทธได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรม ขอให้พิจารณาหลักฐานและพยานใหม่นับ 10 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พนักงานอัยการได้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมทุกครั้ง จนวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 วรยุทธให้ทนายความมายื่นขอความเป็นธรรมต่อ กมธ. การกฎหมายฯ ในประเด็นที่รองอัยการสูงสุด นิภาพร รุจนรงศ์ ไม่นำเอาคำให้การใหม่ของ พ.ต.ท. ธนสิทธิ์ แตงจั่น ที่เปลี่ยนความเร็วรถวันเกิดเหตุ จาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาเป็น 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาพิจารณา โดยวรยุทธขอให้ กมธ. พิจารณาว่า การกระทำของรองอัยการสูงสุดมิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เรียกรองอัยการสูงสุด และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายรายมาสอบ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาสอบข้อเท็จจริง กลับไม่มีการเรียกคนที่ถูกร้องมาสอบในประเด็นที่ร้องขอความเป็นธรรม แต่กลับเรียกพยานอื่นมาสอบเพิ่มเติมเต็มไปหมด โดยเป็นการสอบข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็นหลัก 1. คือเรื่องความเร็วรถไม่ใช่ 177 แต่เป็น 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 2. เรื่อง ด.ต. วิเชียรขับรถตัดหน้าโดยประมาทเอง” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยกล่าวว่า เอกสารที่ถูกนำเข้า กมธ. การกฎหมายฯ สนช. เป็นรายงานหนาเกือบ 100 หน้า ไม่เกี่ยวกับการศึกษาการปฏิบัติหน้าที่ของรองอัยการสูงสุดตามที่ร้องขอความเป็นธรรม แต่ดูแล้วเหมือนเป็นการเอา กมธ. เป็นกลไกเพิ่มพยานหลักฐาน แก้ต่างเรื่องความเร็วรถกับเรื่อง ด.ต. วิเชียรขับรถตัดหน้าโดยประมาทเองมากกว่า โดยเรื่องความเร็วรถได้มีการทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอความอนุเคราะห์มอบหมายผู้เชี่ยวชาญมาให้ตรวจความเสียหายวัดความเร็วรถยนต์ คือ รศ.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เจ้าของทฤษฎีความเร็วรถ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนเรื่อง ด.ต. วิเชียร ขี่รถจักยานยนต์ตัดหน้าเองโดยประมาท มีการนำพยานสองคนมาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะทำงานของ กมธ. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ห่างจากวันเกิดเหตุถึง 4 ปี โดยอ้างว่าขับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น 230E สีขาว อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ขับตามหลังดาบวิเชียรในระยะประมาณ 10 เมตร และทั้งสองเห็นว่า ด.ต. วิเชียรขับรถปาดหน้าวรยุทธ แต่จากการดูคลิปในที่เกิดเหตุไม่ว่ากี่เที่ยวก็ไม่ปรากฏรถเบนซ์ขับตามที่กล่าวอ้าง

 

ธีรัจชัยกล่าวว่า ยังมีอีกหนึ่งกลไกที่เกิดขึ้นก่อนเรื่องเข้าสู่ กมธ. การกฎหมายฯ สนช. เพื่อเปลี่ยนหลักฐานเรื่องความเร็วรถ เพราะนี่เป็นประเด็นพลิกผันสำคัญของคดี เพราะถ้าความเร็วรถต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผู้ต้องหาสามารถหลุดรอดคดีได้ง่าย แต่ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสที่จะรอดจากการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการยาก ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามในการเปลี่ยนข้อมูลความเร็วรถหลายครั้ง แต่พนักงานอัยการไม่รับฟัง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในระหว่างการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 9 ต่ออัยการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบ พ.ต.ท.ธ นสิทธิ์ แตงจั่น จากกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นผู้ทำรายงานเรื่องความเร็วรถในนามกองพิสูจน์หลักฐาน 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพิ่มเติม ซึ่งมีความบังเอิญที่แปลกมากเกิดขึ้น โดยต่อมาตนเองได้สอบสวนด้วยตัวเองเมื่อครั้งเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน มีการให้การตรงกันหลายปาก รวมถึง พล.ต.ท. มนู เมฆหมอก ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานด้วยว่า พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็น กมธ. การกฎหมายฯ สนช. ในตอนนั้น ได้ไปพบกับ พล.ต.ท. มนู พร้อมกับ รศ.สายประสิทธิ์ คนที่ต่อมา กมธ. การกฎหมายฯ สนช. ที่มี พล.ต.อ. สมยศ นั่งอยู่เรียกเข้าไปให้ข้อมูลเรื่องความเร็ว

 

“พล.ต.อ. สมยศ เข้าไปในกองพิสูจน์หลักฐาน มีสถานะอดีต ผบ.ตร. ติดไปด้วย และบังเอิญ พล.ต.ท. มนู ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน เคยเป็นหน้าห้อง พล ต.อ. สมยศ และบังเอิญ รศ.สายประสิทธิ์ ไปอธิบายเรื่องความเร็วรถวรยุทธว่าคำนวณได้ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรงข้ามกับที่ พ.ต.ท. ธนสิทธิ์ และกองพิสูจน์หลักฐานได้คำนวณไว้ ผมว่าถ้าท่านเป็น พ.ต.ท. ธนสิทธิ์ ท่านจะกล้ามีความเห็นขัดแย้งกับอดีต ผบ.ตร. และผู้เชี่ยวชาญที่มากับอดีต ผบ.ตร. หรือไม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายในวันนั้น พ.ต.ท. ธนสิทธิ์ ยอมให้การต่อพนักงานสอบสวน ยอมเปลี่ยนความเร็วรถจาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งขัดแย้งกับรายงานของกองพิสูจน์หลักฐาน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องให้รายละเอียดต่อ กมธ. พ.ต.ท.  ธนะสิทธิ์ ต้องการยืนยันว่า การคำนวณในตอนแรกของกองพิสูจน์หลักฐานที่ได้ความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ว่าถูกต้องแล้ว แม้จะถูกเรียกมาถึงหน้าห้องคณะทำงานของ กมธ. แล้ว แต่กลับไม่ได้เข้าไปให้การ ซึ่งเรื่องนี้ผมเป็นคนสอบข้อเท็จจริง พ.ต.ท. ธนสิทธิ์เอง ตอนเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันซึ่งผมทำหน้าที่อยู่ และเขายืนยันว่าเขาไม่ได้ถูกเรียกเข้าห้องไปให้การ ทั้งที่ได้รับเชิญมาให้ข้อมูล” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยกล่าวด้วยว่า นี่อาจเป็นเหตุให้ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่  กมธ. การกฎหมายฯ สนช. เพื่อพยายามยัดหลักฐานเข้าสู่การพิจารณาคดีให้ได้ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่วิชาเป็นประธาน ยืนยันว่า เป็นหลักฐานว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือวรยุทธจริง ทั้งนี้ สิ่งที่ กมธ. การกฎหมายฯ สนช. ทำ คือการสรุปรายงานที่มีการระบุพยานหลักฐานใหม่อันเป็นคุณกับวรยุทธส่งให้พนักงานอัยการ โดยเรื่องนี้แม้แต่สมาชิก กมธ. ในชุดเดียวกันหลายคนก็ยังคัดค้านว่าไม่เหมาะสม เช่น ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง ทักท้วงว่ารายงานดังกล่าว เป็นการแสดงหลักฐานสำคัญที่หักล้างคำสั่งฟ้องเดิมได้ เป็นความเห็นที่ฟันธง ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะออกไปจาก กมธ. แต่อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ. ศิษฐวัชร ประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ. ประวิตร ก็ยืนยันที่จะส่งรายงานนี้ให้พนักงานอัยการ และ พล.ต.ท. วิบูลย์ น้องเขย พล.อ. ประยุทธ์ หนึ่งใน กมธ. ก็ยืนยันสนับสนุนเต็มที่ให้ส่งรายงานให้กับพนักงานอัยการ จนสุดท้ายวันที่ 22 ธันวาคม 2559 มีมติส่งรายงานคดีวรยุทธ อยู่วิทยา ไปยังสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้และสำนักงานอัยการสูงสุด และมีการร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง แต่โชคดีที่อัยการสูงสุดไม่เล่นด้วย รายงานนี้จึงถูกดองอยู่พักใหญ่ ก่อนจะกลับมามีบทบาทในการพลิกคดีในอีกไม่นานต่อมา

 

ธีรัจชัยกล่าวว่า การร้องขอความเป็นธรรมของวรยุทธต่อพนักงานอัยการรวมตั้งแต่ต้นแล้วถึง 13 ครั้ง แต่โชคดีที่อัยการสูงสุดและรองในขณะนั้นไม่เล่นด้วย ทำให้รายงาน กมธ. ฉบับยัดหลักฐานใหม่ยังไม่ถูกนำมาใช้ อัยการได้เรียกตัววรยุทธมาเพื่อนำตัวไปส่งฟ้องต่อศาลในวันที่ 27 เมษายน 2560 แต่วรยุทธได้ออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2560 ก่อนหน้านัดอัยการ 2 วัน โดยวันที่ 28 เมษายน 2560 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับ ซึ่ง พล.ต.ต. อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศในขณะนั้น เป็นตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการการติดตามผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศระดับแนวหน้า ได้ประสานออกหมายแดงตำรวจสากล ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ ซึ่งหมายแดงมี 2 แบบ คือหมายแบบส่วนบุคคล ที่เห็นได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ และหมายสาธารณะ ที่บุคคลทั่วไปเช็กจากเว็บไซต์ Interpol หรือตำรวจสากล มีคนสามารถเห็นได้เป็นพันล้านคน โดย พล.ต.ต. อภิชาติ ได้ประสานงานตำรวจสากลออกหมายแดง กรณีวรยุทธเป็นหมายสาธารณะ ทำให้การติดตามตัวทำได้ง่าย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตำรวจที่ดีพึงกระทำ เพราะคดีนี้เป็นคดีที่ได้รับความสนใจของประชาชน ถ้าใช้หมายแดงสาธารณะตลอดไป โอกาสจะติดตามตัววรยุทธมาดำเนินคดีจะง่าย เพราะมีคนเห็นทั่วโลกเป็นพันล้านคน

 

“แต่หลังจากที่มีการออกหมายแดงแบบสาธารณะ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ความปกติได้กลายเป็นความไม่ปกติ ภายใต้คดีที่ถูกอำนาจมืดพยายามบิดผัน นายตำรวจที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาคนนี้ กลับถูกสั่งย้ายไปเป็นผู้การประจำภาค 3 เพียง 9 วันหลังการออกหมายแดง เรียกว่าเป็นการย้ายเข้ากรุไปสู่ตำแหน่งลอยที่ไม่ได้มีอำนาจใดๆ ซึ่งคนสั่งย้ายหรือบุคคลที่นั่งหัวโต๊ะ กตร. ในวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ที่มีคำสั่งย้ายนี้ ก็คือ พล.อ. ประวิตร ซึ่งรับมอบอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรี และเมื่อ พล.ต.ต. อภิชาติ โดนย้าย หมายแดงก็โดนระงับไปชั่วคราวตามการร้องเรียนของวรยุทธ ก่อนจะมีการออกใหม่อีกครั้ง แต่ถูกเปลี่ยนเป็นหมายแบบบุคคล ซึ่งคนทั่วไปตรวจสอบไม่ได้ในเว็บไซต์ตำรวจสากลหรือ Interpol และที่สำคัญ เลขหนังสือเดินทางที่ตำรวจไทยใส่ข้อมูลลงในหมายแดง ยังเป็นหนังสือเดินทางที่ทางการไทยยกเลิกไปแล้ว ทำให้หมายแดงนี้เป็นหมายปาหี่ ตามอย่างไรก็ไม่เจอ เพราะวรยุทธย่อมไม่สามารถใช้หนังสือเดินทางที่ถูกยกเลิกไปแล้วในการหลบหนีได้” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยกล่าวอีกว่า ฐานข้อมูล Interpol ไม่ได้มีช่องให้ใส่แค่เลขหนังสือเดินทาง แต่สามารถใส่ข้อมูล Biometric เช่น รูปหน้า ลายนิ้วมือ และม่านตา ซึ่งจะทำให้การติดตามตัวง่ายขึ้นมาก แต่ตำรวจไทยซึ่งมีลายนิ้วมือวรยุทธอยู่แล้ว มีภาพถ่ายวรยุทธ อยู่แล้ว ก็ไม่ได้ใส่ข้อมูลเข้าไปในระบบ Interpol ตำรวจสากล ทำให้หมายแดงที่แลกมาด้วยการถูกย้ายของ พล.ต.ต. อภิชาติ ไม่มีความหมายอะไรเลย

 

ธีรัจชัยกล่าวต่ออีกว่า วิบากกรรมที่ พล.ต.ต. อภิชาติ ได้รับจากการขวางทางการบิดคดีวรยุทธยังไม่หมด ในเดือนตุลาคม ปี 2561 พล.ต.ต. อภิชาต ได้รับการเลื่อนขั้นตามลำดับอาวุโส ให้รับตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตำแหน่งนี้มีหน้าที่สำคัญหนึ่งคือ การมีอำนาจทำความเห็นแย้งอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องและตำรวจไม่เห็นแย้ง คดีจะถึงที่สุด โดย พล.ต.ท. อภิชาติ อยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และตามปกติจะได้อยู่ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2563 แต่กลับถูกโยกย้ายในวาระแต่งตั้งเดือนตุลาคม 2562 ไปเป็นรองผู้บัญชาการส่งกำลังบำรุง ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่น่าจะมีอะไร แต่การโยกย้ายครั้งนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ เพราะคนที่สั่งย้าย พล.ต.ต. อภิชาติ รอบแรก เป็น พล.อ. ประวิตร ในยุค คสช. แต่คนที่สั่งย้ายรอบ 2 คือ พล.อ. ประยุทธ์ ในรัฐบาลปัจจุบัน ในการประชุม กตร. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งคำถามคือ พล.อ. ประยุทธ์ ย้ายนายตำรวจที่ทำงานตรงไปตรงมาทำไม และหลัง พล.ต.ต. อภิชาติ ถูกย้ายโดยเริ่มมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2562 อีกเพียง 1 สัปดาห์คือ วันที่ 7 ตุลาคม 2562 วรยุทธได้มอบอำนาจให้ทนายความร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ครั้งที่ 14 และเป็นเรื่องบังเอิญที่ไม่น่าจะบังเอิญว่า อัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดก็เพิ่งมีการโยกย้ายในล็อตเดียวกับ พล.ต.ต. อภิชาติ โดยผู้พิจารณาแต่งตั้งอัยการสูงสุด คือวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ. ประยุทธ์ 250 คน

 

“เมื่อทางสะดวกเรียบร้อย แบบบังเอิญมากๆ มีทั้งการตั้งอัยการชุดใหม่ ทั้งมีการย้ายตำรวจที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาออกจากเส้นทางที่จะเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้ การร้องขอความเป็นธรรมของวรยุทธครั้งนี้จึงเป็นผล พนักงานอัยการสั่งให้สอบพยานเพิ่ม สอดคล้องกับรายงานของ กมธ. การกฎหมายฯ สนช. ทั้งเรื่องความเร็วรถ และเรื่อง ด.ต. วิเชียรขับรถโดยประมาทเอง และต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2563 รองอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา วันที่ 3 มีนาคม 2563 สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับสำนวนจากพนักงานอัยการ ซึ่งหาก พล.ต.ต. อภิชาต ไม่ถูกย้ายไปก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาหลักว่าจะมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 รอง ผบ.ตร. ที่ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร. มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่ง ณ เวลานั้น เรื่องการสั่งไม่ฟ้องวรยุทธเป็นไปโดยความเงียบ ไม่มีใครรับรู้” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยระบุด้วยว่า จริงหรือไม่ว่าเรื่องนี้เกือบจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของขบวนการสมคบคิด ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ที่ทำกันมา 6 ปีเต็มในการกลับคดีช่วยเหลือวรยุทธ การสั่งไม่ฟ้องของอัยการทำกันแบบเงียบกริบ ไม่มีข่าวแพร่งพรายนานหลายเดือน แต่แล้วเรื่องก็แดงขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เมื่อสำนักข่าว CNN เผยแพร่ข่าวที่ทายาทมหาเศรษฐีกระทิงแดงหลุดรอดจากคดีขับรถชนตำรวจตาย ทำให้ประชาชนชนกลับมาให้ความสนใจ และแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อกระบวนการยุติธรรม ที่เห็นชัดว่าไม่อาจนำตัวผู้มีเงินและอิทธิพลมาเข้าสู่กระบวนการได้ ด้วยกระแสกดดันจากสังคม หลังจากการนำเสนอข่าวของ CNN เพียง 3 วัน สำนักงานอัยการสูงสุดก็ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีวรยุทธ ผลสอบในครั้งนั้น ไม่พูดถึงความผิดของพนักงานอัยการคนใดเลย แต่ไปสั่งให้ตำรวจดำเนินคดีเพิ่มเติมแก่วรยุทธ ในข้อหาเสพโคเคนและประเด็นขับรถความเร็วเกินกำหนด ในวันเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคดีนี้เช่นกัน ผลออกมาพบว่ามีตำรวจทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงบางส่วน และเสนอให้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับความเร็วรถให้อัยการใหม่ ต่อมาตำรวจได้ดำเนินคดี และอัยการจึงสั่งฟ้องวรยุทธ ในข้อหาขับรถชนคนตายและเสพโคเคน และมีการออกหมายแดงติดตามตัววรยุทธกลับมาดำเนินคดี แต่ก็ยังคงติดตามตัวกลับมาไม่ได้ เพราะหมายแดงที่ออกยังคงเป็นหมายปาหี่ ที่มีข้อมูลเป็นเลขหนังสือเดินทางที่ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2559

 

ธีรัจชัยกล่าวอีกว่า อีกหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สตช. ไม่ได้มีความกระตือรือร้นในการติดตามตัววรยุทธเลย ก็คือการที่สถานทูตออสเตรียประจำประเทศไทย อุตส่าห์แจ้งข้อมูลว่าวรยุทธขอวีซ่าเชงเกน ซึ่งเป็นวีซ่าเข้าออก 26 ประเทศในยุโรป แสดงว่าน่าจะพำนักและเดินทางเข้าออกในแถบยุโรประหว่างหลบหนีคดี กลุ่มประเทศยุโรปใช้ข้อมูลลายนิ้วมือและใบหน้าในการเข้าออกเมืองอยู่แล้ว หากตำรวจไทยใส่ข้อมูลลายนิ้วมือของวรยุทธในระบบของตำรวจสากล หรือ Interpol ก็จะตามตัววรยุทธได้อย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่ตำรวจทำคือการส่งจดหมายไปยังกระทรวงต่างประเทศ ขอให้สถานทูตไทยในเวียนนา ประเทศออสเตรีย ช่วยตามสืบหาที่อยู่วรยุทธ แล้วแจ้งให้ตำรวจทราบ กรณีนี้ ถามหน่อยว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยเป็น CIA หรือครับ ถึงต้องไปเที่ยวสืบหาตัวผู้ต้องหาให้ตำรวจ แบบนี้แสดงชัดครับว่าท่านไม่ได้ตั้งใจจะนำตัววรยุทธกลับมาดำเนินคดีเลย

 

“แบบนี้ ผบ.ตร. คือ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา จะต้องถูกฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ กับความผิดปกติตลอดทางของคดีนี้ และความไม่กระตือรือร้นในการตามตัววรยุทธกลับมาดำเนินคดี จะต้องถูกนายกรัฐมนตรีสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยหรือไม่ หรือที่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงโทษ เพราะ พล.ต.อ. จักรทิพย์ คือคนใกล้ชิด โดยเป็นคนที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ. ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค กำลังจะส่งลงผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อย่างที่เรารับรับรู้กันนั่นเอง” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยกล่าวด้วยว่า หลักฐานสำคัญที่สุดที่ยืนยันว่ากระบวนการบิดคดี ช่วยเหลือวรยุทธ เป็นการบงการของ พล.อ. ประยุทธ์ ก็คือการที่หลัง CNN เผยแพร่ข่าวอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีวรยุทธ กระแสความไม่พอใจของประชาชนพุ่งสูงจนกระทั่งลำพังการตั้งคณะกรรมการสอบโดยตำรวจและอัยการ ไม่สามารถลดกระแสสังคมได้ สุดท้าย พล.อ. ประยุทธ์ต้องตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคดีวรยุทธ โดยมี วิชา มหาคุณ เป็นประธาน คณะกรรมการนี้ใช้เวลาเพียง 30 วัน ได้ข้อสรุปว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือวรยุทธจริง และมีข้อเสนอให้ดำเนินคดีอาญา และลงโทษทางวินัยกับคน 8 กลุ่ม คือ

 

  1. พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับสำนวน 2. พนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3. ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 4. สมาชิก สนช. ซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 5. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ 6. ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย 7. พยานซึ่งให้การเท็จ 8. ตัวการผู้ใช้และผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งเมื่อผลสอบออกมาแบบนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ก็มอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ไปดำเนินคดี ซึ่ง ป.ป.ท. ต้องส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไปแล้ว 5 เดือน ไม่มีการขยับเขยื้อนเอาผิดใดๆ กับคนทั้ง 8 กลุ่ม

 

“พล.อ. ประยุทธ์, พล.อ. ประวิตร ท่านเลิกพูดเสียทีว่าปล่อยไปตามกระบวนการ ถ้าหัวไม่กระดิกหางก็ไม่ขยับ คือนี่ความรับผิดชอบของท่าน ท่านไม่มีความเป็นผู้นำโดยสิ้นเชิง เพราะท่านปฏิเสธความรับผิดชอบทุกอย่าง ไม่เคยผลักดันอะไรสักอย่าง แล้วท่านก็โบ้ยให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำเอง ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว 2 ครั้ง ผลก็ออกมาว่ามีนายตำรวจบางคนผิดวินัยไม่ร้ายแรง สำนักงานอัยการสูงสุดก็เคยตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้มาแล้ว ผลไม่พูดถึงว่ามีพนักงานอัยการกระทำผิดบ้าง ป.ป.ช. ก็เคยสอบเรื่องนี้มาแล้ว ผลก็คือมีนายตำรวจบางคนผิดวินัยไม่ร้ายแรง ท่านยังจะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานเหล่านี้สอบแบบเดิมอีกหรือ เรื่องนี้ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย มันผ่านมาตั้งแต่ท่านร่วมกันทำรัฐประหาร ตั้ง สนช. ตั้ง กมธ. ตั้ง ผบ.ตร. เครือข่ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม คำถามคือว่าในฐานะผู้นำ จริงจังกับการจัดการเรื่องนี้แค่ไหน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงจังกับการแก้ไข ทั้งที่นี่เป็นข้อเสนอจากกรรมการชุดที่นายกฯ ตั้งเอง” ธีรัจชัยกล่าว

 

ธีรัจชัยกล่าวอีกว่า กรณีนี้ถึงขั้นที่วิชา กล่าวกับกรรมาธิการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า “ฝากคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ติดตามต่อด้วย ผมมาสุดทางแล้วจริงๆ” ซึ่งสุดทางวิชาเพราะอะไร ไม่ใช่แค่เพราะประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นหน้าห้อง พล.อ. ประวิตร เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะถ้าไปดูคน 8 กลุ่มที่ว่า หากเว้นกลุ่มที่เป็นข้าราชการประจำและเอกชนไป เราจะเห็นว่า ผู้บังคับบัญชาที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ คือ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา คนที่ท่านกำลังหมายมั่นปั้นมือให้เป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ใช่หรือไม่, สมาชิก สนช. ที่มีส่วนแทรกแซงคดี คือน้องชาย 2 คนของ พล.อ. ประวิตรใช่หรือไม่ คือน้องเขยของ พล.อ. ประยุทธ์ ใช่หรือไม่, ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แทรกแซง คือตัวท่านเอง พล.อ. ประยุทธ์ และพี่ใหญ่ของท่าน พล.อ. ประวิตร ใช่หรือไม่ ท่านเป็นชายชาติทหารจริงๆ ท่านไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แต่ท่านขายชื่อเสียงประเทศชาติ ขายความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม ขายชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่แม้ตายยังถูกป้ายสีว่าเป็นคนผิด ขายความเชื่อมั่นศรัทธาที่ตำรวจชั้นผู้น้อยมีต่อท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด ปล่อยให้ตำรวจชั้นผู้น้อยรับโทษทางวินัย นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงถูกโยกย้ายกลั่นแกล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า แลกกับอะไรเหรอ บุญคุณ ความเป็นพี่น้องเพื่อนพ้อง หรือจริงๆ แล้วแค่เรื่องผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน 

 

“ผมยืนยันว่าคดีนี้ไม่ใช่เพียงคดีอาญาสะเทือนขวัญทั่วไป แต่เป็นคดีที่สั่นคลอนความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรมไทยทั้งระบบ สร้างความเสื่อมเสียให้กับชื่อเสียงของประเทศ ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หาก พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร ไม่สมคบกันใช้อำนาจในฐานะผู้บริหารประเทศ แทรกแซงกระบวนการเอาผิดวรยุทธตั้งแต่ต้นน้ำ นี่ไม่ใช่การกระทำของคนระดับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี แต่เป็นพฤติกรรมของมาเฟียเก็บค่าต๋ง ที่ใช้อำนาจบารมีปัดเป่าดลบันดาลให้กับใครก็ได้ที่เข้ามาสวามิภักดิ์ และเสนอผลประโยชน์ให้กับตนเอง นี่หรือที่ท่านบอกว่ารัฐประหารเข้ามาเพื่อความสมานสามัคคีของคนในชาติ เพื่อปราบปรามการทุจริต สุดท้ายเข้ามาเพื่อสร้างระบบมาเฟียแบบนี้ ช่วยคนมีเงิน มีอิทธิพล บนความเจ็บปวดของตำรวจชั้นผู้น้อย บดขยี้ศักดิ์ศรีของกระบวนการยุติธรรมใช่ไหม ผมไม่อาจทนมีนายกฯ และรองนายกที่มีพฤติกรรมมาเฟียเช่นนี้ได้ ผมขอไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี” ธีรัจชัยกล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X