จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และห้ามดำรงตำแหน่ง 2 ปี จากกรณีถือหุ้นสัมปทาน เนื่องจากภายหลังดำรงตำแหน่งพบว่าคู่สมรสของนายแพทย์ธีระเกียรติซื้อหุ้นในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐ จำนวน 800 หุ้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ แม้ภายหลังจะมีการขายหุ้นดังกล่าวแต่ก็ไม่สามารถลบล้างการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญได้
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในวันนี้ (28 สิงหาคม) นายแพทย์ธีระเกียรติได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาแล้ว แม้ว่าคำวินิจฉัยจะไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่ง ส.ว. ก็ตาม แต่เพื่อแสดงความรับผิดชอบจึงขอลาออก ระบุที่ผ่านมาตนเองได้ทำงานมาเยอะแล้ว จึงขอยุติบทบาทแต่เพียงเท่านี้
สำหรับการลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. ของนายแพทย์ธีระเกียรติ จะส่งผลให้วุฒิสภามีองค์ประกอบเท่ากับจำนวนสมาชิกที่เหลืออยู่คือ 249 คน โดยขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (4) จะต้องมีการเลื่อนลำดับรายชื่อ ส.ว. สำรองขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ในส่วนเดิมของบุคคลที่ลาออกมีที่มาจากการสรรหาโดย คสช. ทำให้รายชื่อแรกที่จะเลื่อนลำดับขึ้นเป็น ส.ว. คือ ดอน ปรมัตถ์วินัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ซึ่งหากไม่สามารถทำหน้าที่ ส.ว. ลำดับต่อมาจะเป็น อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย