ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเซียลมีเดียอย่างหนักถึงกระแสฆราวาสบรรลุธรรม ในกรณีของคุณอัจฉราวดี วงศ์สกล เจ้าสำนักเตโชวิปัสสนาสถาน และประธานองค์กรโนอิ้ง บุดด้า (Knowing Buddha Organization)
โดยเริ่มกระแสวิจารณ์ภาพถ่ายของคุณอัจฉราวดีที่ปรากฏแสงเป็นวงสีแดง-สีเขียว โดยกล่าวในกลุ่มลูกศิษย์ว่าเป็นรัศมีธรรมของท่านอาจารย์ขณะทำกิจภาวนาเพื่อแผ่นดินที่สำนัก หรือแม้แต่ภาพการประมูลรูปภาพของคุณอัจฉราวดีในราคากว่า 11 ล้านบาท รวมถึงการวิจารณ์ในเรื่องยิบย่อยอื่นๆ เช่น
ผู้บรรลุธรรม แต่ยังแต่งหน้า หรือกินข้าวตอนเย็น แน่จริงทำไมไม่โกนผม รวมถึงนำภาพสมัยตอนที่เธอเป็นเจ้าแม่เครื่องประดับมาแชร์เล่นต่อกัน รวมถึงอะไรอีกจำนวนมาก แต่ส่วนตัวผมกลับมองว่าเรื่องพวกนั้นเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป และเราจะไม่มานั่งก่นถามกันว่าบรรลุธรรมได้จริงไหม ถูกหรือผิด แท้หรือปลอม เพราะมันไม่สามารถพิสูจน์ได้ และส่วนตัวคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมานั่งถามอะไรแบบนี้
แต่สิ่งที่ผมสนใจหลักๆ ณ ตอนนี้มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ หนึ่ง การอ้างอิงกับเรื่องราวของยุคกึ่งพุทธกาล พุทธทำนาย และคำทำนายต่างๆ ซึ่งยังขายได้ในปัจจุบัน และสอง ความเป็นหญิงในปริมณฑลความเป็นชายในความเชื่อทางพุทธศาสนาของคนไทย สองสิ่งนี้สะท้อนอะไรในบริบทสังคมปัจจุบัน และผมเชื่อว่าอาจจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอและสำนักของเธอได้รับความนิยมจากคนจำนวนมากในสังคม
ประเด็นแรก หากดูหน้าปกหนังสือ ฆราวาสบรรลุธรรม เล่ม 2 ของคุณอัจฉราวดี จะเห็นที่น่าสนใจอยู่ 2 คำคือ ‘กึ่งพุทธกาลดั่งพุทธทำนาย’ กับ ‘ฆราวาสบรรลุธรรม’ ซึ่งหากดูในประวัติศาสตร์สังคมไทยจะปรากฏคำทำนายต่างๆ เหล่านี้อยู่จำนวนมาก เช่น เพลงยาวพยากรณ์, พุทธทำนาย 16 ประการ หรือแม้แต่ในปัจจุบันก็ปรากฏคำทำนายในลักษณะที่คล้ายคลึงกันอีก อย่างคำทำนายของหลวงปู่ฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยานเถระ) ที่กล่าวถึง ‘นารีขี่ม้าขาว’ หรือแม้แต่คำทำนายของของครูบาศรีวิชัย
คำทำนายต่างๆ เหล่านี้มักจะสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมของสังคมหลายประการ ทั้งด้านธรรมชาติ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในแง่ลบ ดังนั้นความเชื่อหรือคำทำนายพวกนี้จึงมักเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมมีความเปราะบางทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงต่างๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
สิ่งที่จะตามมาพร้อมกับความเปราะบางของสังคมคือกำเนิดผีบุญ ตนบุญ หรือโพธิสัตว์ โดยเชื่อว่าจะมีผู้มีบุญอวตารมายังโลกเพื่อช่วยค้ำจุนสังคมและผู้คนที่รอดพ้นจากภัยต่างๆ เหล่านั้น เช่น กรณีผีบุญในภาคอีสาน, ครูบาศรีวิชัย และตนบุญอื่นๆ ในภาคเหนือในช่วงปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5-6 และช่วงสงครามต่างๆ ทั้งสงครามโลก สงครามเย็น
ไม่เพียงเท่านั้น ความเชื่อดังกล่าวนี้ยังส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลด้วย เช่น ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงคาบเกี่ยวปี 2500 พอดี รัฐบาลต้องพยายามสร้างความมั่นคงทั้งทางรัฐและศาสนาเพื่อลบล้างความเชื่อดังกล่าวเพื่อนำเสนอความหมายของยุคหลังกึ่งพุทธกาลใหม่ว่าไม่ใช่ยุคเสื่อม แต่เป็นยุคสู่ความเจริญต่างหาก จึงมีการจัดงานฉลอง 2,500 ปีอย่างยิ่งใหญ่ มีการจัดงานอุปสมบททั่วทั้งประเทศ สร้างพุทธมณฑลและวัตถุมงคลขึ้นจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้น ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังคงมีคำสั่งให้จับกุมหรือดำเนินคดีกลุ่มหมอดูหรือนักพยากรณ์ที่พยากรณ์ถึงความเสื่อมของสังคมด้วย
เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของสำนักเตโชวิปัสสนาและองค์กรโนอิ้ง บุดด้า ของคุณอัจฉราวดีที่มีการอ้างถึงจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปในฐานะพระสัญลักษณ์ รวมถึงจำนวนผู้ศรัทธา และบริบทการเกิดขึ้นของเธอนั้นจึงสะท้อนให้เห็นได้ว่าสังคมไทยในช่วงเวลานี้มีความเปราะบางและความไม่มั่นคงสูง ไม่ว่าจะปัญหาทั้งทางโลก สภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้า การลงทุน รวมถึงความไม่โปร่งใส การคอร์รัปชัน และความสามารถของรัฐบาลทหารชุดนี้ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้
หรือแม้แต่ทางธรรม ปัญหาความวุ่นวายในวงการสงฆ์ไทยต่างๆ ทั้งธรรมกาย การเลือกสังฆราช อลัชชี รวมถึงพระสงฆ์ที่ผิดวินัยอีกจำนวนหนึ่ง เหตุปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันให้คนในสังคมโหยหาวีรบุรุษ-วีรสตรีที่เชื่อกันว่าจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นได้ และนี่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้คุณอัจฉราวดีเลือกที่จะเล่นเกมความเชื่อเรื่องกึ่งพุทธกาลและพุทธทำนาย
ประเด็นที่สองซึ่งน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าประเด็นแรกคือเรื่องของการบรรลุธรรม และการเป็นอวตารของนักบุญ ตนบุญ หรือโพธิสัตว์ ซึ่งตามความเชื่อทางพุทธศาสนาในบริบทสังคมไทย ผู้บรรลุธรรม หรือแม้แต่อวตารของนักบุญ ตนบุญ ส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นผู้ชาย และมักจะอยู่ภายใต้ร่มเงาของการเป็นนักบวชหรือการเป็นสงฆ์เท่านั้น ดังนั้นการประกาศตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรมในเพศฆราวาสหญิงของคุณอัจฉราวดี (ซึ่งในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงว่าฆราวาสหรือเพศหญิงไม่สามารถบรรลุธรรมได้) เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นหญิงในปริมณฑลความเป็นชายในความเชื่อของคนไทย
ในบริบทสังคมไทย นักบวชในพุทธศาสนาถูกทำให้เชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่จำกัดไว้ให้เฉพาะเพศชาย แม้การตั้งคำถามกับกรณีดังกล่าว หรือการเรียกร้องสิทธิผู้หญิง กับการเข้าไปในพื้นที่ปริมณฑลความเป็นชายในทางพุทธศาสนา ผู้หญิงกลับถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง เช่น กรณีของคุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ในปี 2547 ที่ออกมาตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้หญิงจึงไม่สามารถเข้าไปในเขตพื้นที่ลานประทักษิณของพระธาตุสำคัญทางภาคเหนือได้ถูกโจมตีอย่างหนัก ทั้งการเผาหุ่น เผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง รวมถึงการลงชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส.ว.
ในปัจจุบันแม้ความเป็นชายในสังคมไทยยังมีเส้นแบ่งที่ชัดอยู่พอสมควร แต่ก็เริ่มจะพร่าเลือนไปบ้างแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกระแสการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในสังคมไทยที่เติบโตขึ้นอย่างมากจากกระแสสตรีนิยมระดับโลกตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา และยิ่งมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในสังคมไทย โดยเฉพาะมาตราที่ 30 ระบุถึงสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ ระหว่างเพศชายและหญิง การกล่าวอ้างเป็น ‘ผู้บรรลุธรรมในเพศฆราวาสหญิง’ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร่าเลือนของเส้นแบ่งที่ชัดขึ้นด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น จะเห็นได้ว่าคุณอัจฉราวดีมักจะนำเสนอตัวบุคคลหรืออิงกับคำพยากรณ์ที่เน้นความเป็นหญิงด้วย เช่น คำทำนายที่เชื่อว่าเป็นของหลวงปู่ฤาษีลิงดำ ที่กล่าวถึง ‘นารีขี่ม้าขาว’ ซึ่งจะมาช่วยทำให้สังคมมั่นคง หรือแม้แต่กรณีการยกย่องแม่จันดี โลหิตดี น้องสาวของหลวงตามหาบัว ที่กล่าวว่าท่านเป็นฆราวาสหญิงที่บรรลุธรรม ซึ่งได้รับการพิสูจน์ด้วยจิตกับหลวงตามหาบัวผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย
ดังนั้นการนำเสนอตนเองของคุณอัจฉราวดีกับการเป็นฆราวาสหญิงบรรลุธรรมจึงเป็นการเข้าไปสู่ปริมณฑลของความเป็นชายที่เคยถูกจำกัดไว้เฉพาะเพศชาย และการเข้าไปในปริมณฑลความเป็นชายในครั้งนี้จึงเป็นตัวแทนของผู้หญิงอีกจำนวนมากในสังคมไทยที่ถูกกดทับและต้องการสิทธิที่จะเข้าไปสู่ปริมณฑลความเป็นชายนั้นด้วย
เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้จึงเป็นผลสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนผู้ศรัทธา หรือสาวกของคุณอัจฉราวดีที่ประเมินด้วยสายตาจากภาพกิจกรรมต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและรับรู้ถึงเรื่องสิทธิของผู้หญิงในโลกปัจจุบันด้วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเข้าไปสู่ปริมณฑลความเป็นชายของคุณอัจฉราวดีในครั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้ร่มของความเป็นชายอันมีพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์อยู่ก็ตาม แต่กรณีนี้กลับสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่บางอย่างที่เคยถูกทำให้เชื่อและจำกัดไว้เฉพาะเพศชายเริ่มพร่าเลือน และผู้หญิงเริ่มเข้าไปมีบทบาทได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยเสียทีเดียวกับสิ่งที่คุณอัจฉราวดีทำ ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่จริง แท้หรือไม่แท้อย่างไร หลอกลวงหรือไม่หลอกลวง ไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจ แต่กรณีของเธอ สำนักเตโชวิปัสสนา และองค์กรโนอิ้ง บุดด้า กับการอ้างอิงเรื่องกึ่งพุทธกาล พุทธทำนาย การเป็นฆราวาสหญิงบรรลุธรรม รวมถึงจำนวนกระแสความนิยมและการเติบโตของกลุ่มผู้ศรัทธา เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่สามารถสะท้อนภาพหลายๆ ด้านของสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
Photo: นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ กับ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล
อ้างอิง:
- ชานันท์ ยอดหงส์. ปทัสถานที่ว่าด้วย ผู้หญิงห้ามเข้าใกล้ และ/หรือ สัมผัสพระธาตุเจดีย์ในสังคมจารีตล้านนา. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต, โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
- ถนอมจิต มีชื่น. จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พ.ศ. 2495-2500). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์, 2531.
- พัชรดา จุลเพชร. แนวคิดเรื่องกึ่งพุทธกาลในสังคมไทย พ.ศ. 2475-2500. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
- อัจฉราวดี วงษ์สกล, ฆราวาสบรรลุธรรม เล่ม 2, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต, 2560.
- นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ กับ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล. Facebook: www.facebook.com/5000sMagazine. (สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561).