บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหร้ฐฯ เมื่อวานนี้ (11 เมษายน) ดูจะไม่ค่อยสดใสสักเท่าไรนัก โดยบรรดาเทรดเดอร์และนักลงทุนทั้งหลายเริ่มต้นวันแรกของสัปดาห์นี้ด้วยการเทขาย โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการเทขายอย่างหนัก ฉุดดัชนีแนสแด็กร่วงลงมากกว่า 200 จุด
Bloomberg รายงานว่า แรงเทขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้ ดัชนีหุ้นแนสแด็ก 100 ร่วง 2.4% บวกกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่แล้วส่งผลให้มูลค่าตลาดในดัชนีแนสแด็กหายไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หุ้นของบริษัทไมโครซอฟท์ปรับตัวลดลง 3.9% นับเป็นการร่วงลงที่หนักที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน ขณะที่ผู้ผลิตชิปชั้นนำอย่าง NVIDIA ปรับตัวลดลง 5.2% โดยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลอด 5 วันทำการที่ผ่านมา หุ้นของบริษัทลดลงไปแล้วถึง 20% ถือเป็นความเคลื่อนไหวในรอบ 5 วันที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
สำหรับปัจจัยที่ทำให้บรรดานักลงทุนแห่เทขายอย่างหนักก็คือความกังวลในเรื่องของทิศทางนโยการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงกว่าเดิมเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดย Fed เคยประกาศว่าจะใช้มาตรการเชิงรุกให้มากขึ้นเพื่อสกัดไม่ให้อัตราเงินเฟ้อขยับเพิ่มขึ้นมากว่าอัตราในปัจจุบันที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี
นักวิเคราะห์และบรรดานักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า จากตัวเลขเงินเฟ้อในขณะนี้ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกราว 0.50% ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงเทขายยังมาจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับเกือบสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มขึ้นนี้ ได้ฉุดรั้งหุ้นในตลาด โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเติบโต
คิม ฟอร์เรนส หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน และผู้ก่อตั้ง Bokeh Capital Partners กล่าวว่า สถานการณ์แวดล้อมในขณะนี้ชวนให้มองโลกในแง่ร้าย ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจถดถอย การระบาดของไวรัสโควิด ทำให้จีนต้องล็อกดาวน์ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำค่าครองชีพแพงขึ้น
ด้าน เอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA ระบุว่าสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้นักลงทุนลังเลที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดซึ่งค่อนข้างจะผันผวน อย่างไรก็ตาม หากมองในระยะยาว หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยียังคงมีความน่าสนใจในการให้ผลตอบแทน โดยพิจารณาจากรายได้ของบริษัทอย่าง Apple, Microsoft และ Amazon ที่รายได้สามารถขยายตัวเติบโตได้ดี
อ้างอิง: