ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Dan Suzuki รองผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของบริษัท Richard Bernstein Advisors ได้ออกบทความเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ในหุ้นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก่อนจะตามมาด้วยแรงขายในกลุ่มหุ้นเทค จนทำให้ 70% ของหุ้นเทคกำลังอยู่ในภาวะตลาดหมี โดย 1 ใน 3 ของหุ้นกลุ่มนี้ลดลงมามากกว่า 50% จากจุดสูงสุด
การที่ราคาหุ้นของหุ้นเทคลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มมีมุมมองที่ว่า ณ จุดนี้อาจจะเป็นโอกาสของการเข้าซื้อที่ดี แต่ในมุมของ Dan Suzuki มองว่า หากพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา ช่วงเวลานี้น่าจะยังเร็วเกินไปที่จะเป็นโอกาสซื้อ
ในปี 2000 ภายในเวลา 2 เดือน จากจุดพีคเมื่อเดือนมีนาคมในปีนั้น หุ้นเทคมากกว่า 90% วิ่งเข้าสู่ตลาดหมี และหลังจากนั้นหุ้นเหล่านี้ก็ฟื้นตัวกลับมาได้กว่า 30% และกลับมาได้ราว 2 ใน 3 ของการปรับตัวลง แต่ในอีก 2 ปีถัดมา หุ้นกลุ่มเทคก็ร่วงลงไปอีกถึง 82%
อย่างไรก็ดี Dan Suzuki ได้ให้แนวทางเบื้องต้นเพื่อจะประเมินว่า ณ จุดใดที่เราอาจจะพอบอกได้ว่าฟองสบู่ในหุ้นเทคได้ลดลงไปมากแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 6 ข้อที่สำคัญ ได้แก่
- มูลค่าหุ้นที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงหุ้น IPO ที่ได้รับความนิยมลดลง
- หุ้นเทคและคริปโตถูกพูดถึงในแง่ลบมากกว่าที่จะถูกยกย่อง
- กองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นเทคลดลงไปมาก
- การยกเลิกรายการทีวีหรือรายการข่าวด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- ผู้คนไม่สนใจที่จะเปลี่ยนไปทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีหรือธุรกิจด้านคริปโตอีกแล้ว
- และสุดท้ายคือ ไม่มีใครสนใจที่จะอ่านรายงานอย่างที่เขียนอยู่นี้อีกต่อไป เมื่อฟองสบู่ได้หายไปแล้ว
ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองต่างออกไปว่า การปรับฐานของหุ้นเทคในรอบนี้ อาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยหลังจากที่ดัชนี Nasdaq ปรับฐานลงมา 19% นับแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2565 จากความกังวล 2 เรื่อง คือ Valuation ที่ตึงตัว และการที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินแบบ ‘Hawkish’ มากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่ออัตราการเติบโตของหุ้นเทค
“แต่หลังจากนั้น จากจุดต่ำสุดเมื่อ 14 มีนาคม ดัชนี Nasdaq ฟื้นตัวขึ้นมา 12% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 9.5% เนื่องจาก 2 ปัจจัยคือ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่เริ่มแผ่วลง และกรณีของรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่การชะลอตัว”
สรพลกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเติบโตลดลงด้วยผลกระทบจากกรณีของรัสเซียและยูเครน ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็มีความเสี่ยงที่ชะลอลงจากเดิมเช่นกัน เนื่องจากการล็อกดาวน์หลังการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ขณะที่ประเด็นของ Inverted Yield Curve ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดกังวลมากขึ้น
“ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงอาจจะเห็นการขายทำกำไรในหุ้นกลุ่ม Value เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มหุ้นที่กลับมาโดดเด่น ได้แก่ เฮลท์แคร์ สาธารณูปโภค และเทคโนโลยี ซึ่งหุ้นเหล่านี้ได้รับผลกระทบจำกัดเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว”
กลยุทธ์ที่เราแนะนำนักลงทุนช่วงนี้คือ สลับเข้าหุ้นกลุ่ม Growth ซึ่งรวมถึงหุ้นเทคที่นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อเมื่อย่อตัว และอาจจะถือลงทุนข้ามไปยังปีหน้าได้
“ส่วนตัวมองเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ต่างออกไป เราอาจจะเห็นการขึ้นในระดับ 0.5% ได้ติดกัน 2-3 ครั้ง แต่หลังจากนั้นอาจจะไม่ได้เห็นการขึ้นแรงๆ โดยเฉพาะในปี 2566-2567 ที่ภาพจะต่างออกไป เพราะฉะนั้นอาจจะพูดได้ว่าหุ้นกลุ่มเทคน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของรอบนี้ไปแล้ว และหากดูจากเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคแล้ว นักลงทุนควรกลับไปเลือกหุ้นเทคเบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯ”