×

Technical Recession กับ Recession ต่างกันอย่างไร แล้วทำไมจึงน่ากังวล?

02.08.2022
  • LOADING...
Technical Recession

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า GDP สหรัฐฯ ประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ออกมาลดลง 0.9 % นับเป็นการหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน หลังจากลดลงไปแล้ว 1.6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ( Technical Recession ) ไปโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ตาม เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมายืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ (Recession) เนื่องจากอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบครึ่งศตวรรษ ประกอบกับการจ้างงาน และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

 

วันนี้ THE STANDARD WEALTH พาไปไขข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้ว ‘ภาวะถดถอยทางเทคนิค’ และ ‘ภาวะถดถอย’ มีความแตกต่างกันอย่างไร และเราควรต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน

 

Technical Recession คืออะไร?

นิยามของคำว่า ‘ภาวะถดถอยทางเทคนิค’ หรือ Technical Recession ของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราการขยายตัวของ GDP จากไตรมาสหนึ่งไปอีกไตรมาสหนึ่ง (Quarter on Quarter Growth) ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส”

 

สำหรับเหตุผลที่เรียก การถดถอยแบบนี้ว่า ‘ทางเทคนิค’ เป็นเพราะการหดตัวของ GDP แบบ Quarter on Quarter สองไตรมาสติดต่อกัน ไม่ได้แปลว่า เศรษฐกิจในวงกว้างจะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญเสมอไป

 

Technical Recession และ Recession ครั้งก่อนของสหรัฐฯ

จะเห็นได้ว่าช่วงเกิดการระบาดของโควิดระลอกแรกๆ GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2020 หดตัวติดกัน 2 ไตรมาส หมายความว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (ตามภาพด้านล่าง)

 

Technical Recession 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดวงจรเศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Business Cycle Dating Committee) ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (NBER) ซึ่งเป็นผู้ตัดสินจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ได้ประกาศว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเกิดขึ้น เป็นเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยสิ้นสุดด้วยจุดต่ำสุดในเดือนเมษายนปี 2020 หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคมของปี 2020 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2020 นับว่าเป็นการถดถอยที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

 

Recession คืออะไร?

จุดนี้จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วนิยามของ ‘ภาวะถดถอย’ คืออะไร

 

ตามคำอธิบายของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (NBER) นิยามภาวะถดถอย คือ ‘การลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายไปทั่ว ซึ่งกินเวลานานกว่า 2-3 เดือน’

 

โดยทั่วไปแล้วจะพิจารณาภาวะ Recession จาก 6 ปัจจัย ได้แก่

  1. รายได้ที่แท้จริงของบุคคลหักออกด้วยรายจ่าย
  2. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร
  3. ตัวเลขการจ้างงานจากการเก็บสถิติของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ
  4. รายจ่ายการบริโภคที่แท้จริง
  5. ยอดขายที่ปรับด้วยความผันผวนของราคา
  6. การผลิตภาคอุตสาหกรรม 

 

ตัวพยากรณ์ (Predictors) ภาวะถดถอยอื่นๆ

นอกจาก GDP แล้ว เรายังสามารถพยากรณ์ภาวะถดถอยได้จากเครื่องมือหรือปัจจัยอื่นๆ เช่น การลดลงของของความเชื่อมั่นผู้บริโภค อัตราว่างงานที่สูงขึ้น และ ‘Inverted Yield Curve’ 

 

สำหรับ Inverted Yield Curve คือภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งถือเป็นภาวะที่ผิดปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) มักจะมีลักษณะเป็นทางชันขึ้น คือพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะยาวกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 

 

โดยจากการศึกษาเมื่อปี 2018 ของ Fed สาขาซานฟรานซิสโก ระบุว่า ภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มักเกิดตามหลัง Inverted Yield Curve ทุกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี ‘ภาวะถดถอยทางเทคนิค’ ที่เกิดจาก GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติด ยังคงเป็นนิยามที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด เพราะคำนวณได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่บางนิยามต้องใช้เวลาพิสูจน์นานหลายเดือน

 

ทำไมผู้คนถึงกลัว ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ 

ตามการรวบรวมข้อมูลของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกครั้งที่สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอัตราว่างงานจะสูงขึ้น ทำให้ผู้คนกังวลว่าตนเองจะตกงาน หรือถูกลดค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ รวมถึงอาจเผชิญปัญหาในการเจรจาเรื่องขึ้นเงินเดือนในอนาคตได้

 

ดังนั้น เมื่อผู้คนมีรายได้ลดลงหรือตกงาน จึงทำให้คนจำนวนมากขึ้นไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารจึงอาจคุมเข้ม หรือยกระดับมาตรฐานสำหรับการปล่อยสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และการจัดหาเงินทุนประเภทอื่นๆ มากขึ้น ผู้คนจึงต้องมีคะแนนเครดิตที่ดีขึ้น หรือมีเงินดาวน์มากขึ้นจึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินกู้ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะยอดขายลดลง เนื่องจากผู้คนจะหันมาควบคุมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

 

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราจะเห็นว่าเร็วๆ นี้มีรายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งรวมถึง Apple วางแผนชะลอการจ้างงานและควบคุมการใช้จ่าย เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising