วิธีการเปลี่ยนโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงไม่ต้องรอให้ใครสักคนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อปลุกกระแสสังคม หรือไม่ต้องใช้เม็ดเงินหลักล้านเพื่อสร้างเครื่องจักรขนาดใหญ่ และอาจจะไม่ต้องใช้เวลานานแรมปีเพื่องานวิจัยสักชิ้น โลกจะกลายเป็นเรื่องของคนที่ใช้เวลาเกือบทั้งวันนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ จัดเรียงระบบความคิดจากเหตุไปสู่ผล แล้วจึงเคาะแป้นพิมพ์เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า Coding ก็สร้างอิมแพ็กและการเปลี่ยนแปลงเจ๋งๆ ได้เพียงชั่วข้ามคืน
ไม่ได้พูดเล่นๆ เพราะ THE STANDARD ไปนั่งคุยกับ จิรัฎฐ์ ศรีสวัสดิ์ Senior Innovation Engineer ของ KBTG ถึงทักษะแห่งยุคดิจิทัลที่ใช่ว่าทุกคนบนโลกจำเป็นต้องมี แต่ถ้ามี คุณย่อมมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ที่แน่ๆ ก็เรื่องโอกาสด้านการทำงาน
จิรัฎฐ์ ศรีสวัสดิ์ Senior Innovation Engineer ของ KBTG
Coding ทำได้…ไม่ยาก แต่ทำให้ดีและโดดเด่นนั้นไม่ง่าย
เรื่องนี้ก็ไม่ได้พูดเล่นๆ เช่นกัน ผลสำรวจความต้องการจ้างงานตำแหน่งด้านไอทีจาก Burning Glass Technologies พบว่าปี 2018 มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ Coding มากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง ตัวเลขนี้ยังดูน้อยไปด้วยซ้ำเมื่อทุกวันนี้เราใช้ชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยี และเทคโนโลยีทุกอย่างล้วนเริ่มต้นมาจาก Coding
จิรัฎฐ์อธิบายเสริมว่า “เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digital Disruption ทุกธุรกิจต้องปรับตัว โปรแกรมเมอร์ที่เก่งจะสามารถอยู่ในทุกธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี” แต่คนที่เจ๋งจริงจะกลายเป็นคนที่สามารถเขียนอะไรก็ได้เพื่อเปลี่ยนโลกให้เป็นแบบที่ต้องการ จิรัฎฐ์จึงย้ำตลอดการพูดคุยว่า “คนที่ทำได้มีเยอะ แต่คนที่ทำได้ดีมีน้อย”
‘ทำได้ดี’ ในสเกลของคนทำงานสายนี้วัดกันที่อะไร คงต้องให้คนที่ผ่านการทำงานตั้งแต่สเกลเล็กๆ จนตอนนี้สามารถดีไซน์ระบบที่รองรับการซื้อขายในสเกลเทียบเท่าทั้งประเทศได้มาอธิบาย
แต่กว่าจิรัฎฐ์จะอัปสเกลความเซียน เขียนโค้ดซับซ้อนให้ใช้งานง่ายก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาไม่น้อย จุดเริ่มต้นเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไปคือชอบเล่นเกม อยากรู้ว่าเกมทำงานอย่างไร เรียนรู้ ทดลอง เริ่มสนุก คิดว่าชอบแน่ๆ และใช่อย่างไม่ต้องเคลือบแคลง เพราะคว้า A วิชาเขียนโค้ดทุกครั้ง “ผมเป็นคน Introvert มากเลยนะ ชอบอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล ซอฟต์แวร์มันทำงานตามที่เราบอก การเขียนโปรแกรมทำให้ผมรู้สึกเหมือนทุกอย่างมันเป็นไปตามการควบคุมของเรา”
หลังคว้าปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เขียนโปรแกรมเทรดหุ้นอยู่ปีกว่า ก่อนจะท้าทายความสามารถตัวเองไปทำงานกับบริษัทสัญชาติสวิส ทำหน้าที่เป็น Search Specialist ซัพพอร์ตซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับเสิร์ชข้อมูลภายในองค์กร เขาเดินทางไปยังบริษัทต่างๆ ในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ฯลฯ “เป็นเรื่องบังเอิญมากที่มีรุ่นพี่ที่สนิทกันชวนมาทำงานที่ KBank พอดีกับที่บริษัทที่ผมทำงานอยู่มาเปิดบริษัทที่ไทย คิดว่าไหนๆ จะต้องทำงานที่ไทยแล้วก็เลือกทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ ดีกว่า”
Innovation Platform ระบบที่จะช่วยให้พร้อมเข้าสู่ยุคที่ธุรกิจการเงินถูก Disrupt
“ที่ KBank ผมเป็น Solution Architect ในยุคที่ยังไม่มี KBTG และยังจ้าง Outsource ทั้งหมด ผมจึงต้องมาคุม Vendor อีกที จนกระทั่งผู้บริหารเล็งเห็นว่าธนาคารควรมีคนเขียนโค้ดเก่งๆ มาเขียนโค้ดเอง ไม่ควรให้ความรู้เรื่องระบบไปอยู่กับ Vendor จึงนำไปสู่การก่อตั้ง KBTG (Kasikorn Business – Technology Group) ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมทางการเงินให้กับ KBank โดยเฉพาะ”
Senior Innovation Engineer คือตำแหน่ง ณ ปัจจุบันของจิรัฎฐ์ที่ไม่มีคำไหนเกี่ยวข้องกับการเขียนโค้ดเลย “งานเทคโนโลยีใน KBTG เราถือว่าเป็น Software Engineer ที่ผสมความเป็น Solution Architect เข้าไปด้วย” เขาเปรียบเทียบว่าถ้าเรามองภาพวิศวกรโยธาคือคนที่ดีไซน์โครงสร้างใหญ่ๆ และดูแลรับผิดชอบทั้งระบบจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ Software Engineer ก็คือคนที่วางโครงสร้างซอฟต์แวร์เพื่อรองรับ Solution ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ “หน้าที่ของผมจึงครอบคลุมเรื่องของ Technical Lead และ Solution Architect ช่วยดีไซน์ซอฟต์แวร์ให้ระบบธนาคารได้ และช่วยรีวิวโค้ดของน้องๆ ได้ว่าโค้ดนี้ควรรันตรงไหน วางโครงสร้างอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ออกมาเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้ ลงทุนแล้วคุ้มค่า ตอบโจทย์ธุรกิจ
“ตอนนี้งานต่อยอดไปสู่ Innovation Platform เนื่องจาก KBTG อยากมีทีมที่คอยซัพพอร์ตโครงสร้างธนาคารและรองรับโจทย์ธุรกิจทุกวันนี้ รวมถึงสร้างนวัตกรรม จึงแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ Innovation Engineer กับ Platform Engineer
“Innovation Engineer จะเน้นการพัฒนา Prototype (แบบจำลอง) เพื่อพิสูจน์คอนเซปต์ พิสูจน์ตลาดด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น Platform Engineer จึงเกิดมาเพื่อเสริมจุดแข็งของธนาคาร ยกตัวอย่าง Innovation Engineer จะคอยคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อจะพิสูจน์คอนเซปต์ก็ต้องมาใช้ระบบกลางของธนาคาร เช่น เปิดบัญชีหรือเช็กข้อมูลลูกค้า ดังนั้น Platform Engineer จึงเป็นตัวกลางที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดได้เร็วที่สุด ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจว่าธนาคารที่มีระบบเยอะ เวลาจะเปลี่ยนอะไรก็ใช้เวลานาน แต่ฝั่งนวัตกรรมก็อยากให้เกิดเร็วๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วที่สุด และยังดำเนินไปภายใต้ความปลอดภัยและกฎระเบียบของธนาคาร”
จิรัฎฐ์เล่าต่อว่าสเกลของ Platform Engineer จะเล่นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยเห็นใครนำมาใช้ในธนาคาร “ตอนนี้เราเล่นกับ Technology Microservice โดยใช้ทั้ง Kubernetes และ Istio ไปจนถึงใช้ Spinnaker ทำ Canary Deployment ซึ่งระบบธนาคารปัจจุบันยังไม่ได้ไปถึงตรงนั้น แต่เราไม่ได้เล่นกับสิ่งเหล่านี้เพื่อทำให้นวัตกรรมมันเร็วขึ้น เรามองว่าจากเดิมธนาคารที่อนุรักษนิยมสุดๆ จะใช้ซอฟต์แวร์อะไรก็ต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่ผ่านการทดสอบมานาน ถ้าอย่างนั้นลองเลือกเทคโนโลยีที่ใหม่ แต่ได้รับการพิสูจน์แล้ว อย่างน้อย Netflix หรือ Google เขาพิสูจน์มาแล้วว่าเจ๋ง เป็น Open Source ก็เอามาลองแล้วดูว่ามันเวิร์กกับธนาคารไหม
“ความท้าทายคือทีม Platform Engineer จะคอยสกรีนให้ทีมนวัตกรรม ยังเร็วได้ แต่ปลอดภัยและถูกต้องด้วย” จิรัฎฐ์อธิบาย
เขียนโค้ดเป็นอาจไม่พอ ถ้าจะเติบโตในอาชีพนี้ต้อง ‘คิดเป็น’
เท่าที่ฟังจิรัฎฐ์เล่ารายละเอียดงานที่ทำ นอกจากแกนของความเป็น Tech Guy ที่ต้องมีพื้นฐานการเขียนโค้ดที่ดีแล้ว แกนของการคิดวิเคราะห์ทุกอย่างให้เป็นเหตุและผลก็สำคัญไม่แพ้กัน เหมือนกับที่ สตีฟ จ็อบส์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ทุกคนในประเทศนี้ควรเรียนรู้ที่จะสั่งการคอมพิวเตอร์ เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะมันจะสอนให้คุณคิดเป็น”
“คนที่เรียนไอทีมา คุณจะได้พื้นฐานการคิดที่เป็นเหตุและผล ถ้าคุณมีพื้นฐานโครงสร้างความคิดที่ดี คุณก็จะไปศึกษาต่อได้เอง เพราะสุดท้ายความรู้อื่นๆ ที่เรียนมามันไม่ค่อยได้ใช้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว คุณไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าสิ่งที่เรียนมาจะเอาไปใช้จริงตอนทำงานได้หรือไม่ เพราะเรียนไปสักพักเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแล้ว ผมจึงมองว่าคนที่ไม่ได้เรียนจบไอทีโดยตรงก็สามารถทำงานสายนี้ได้ ถ้าคุณเป็นคนที่สามารถศึกษาเองได้ อ่านภาษาอังกฤษเก่ง เข้าใจ และไปเขียนโค้ดต่อเองได้” เขาเล่าเสริม
ทุกวันนี้จิรัฎฐ์เองก็ต้องท้าทายตัวเองอยู่เสมอ และเมื่อให้เขามองและวิเคราะห์ตัวเอง เขาตอบอย่างถ่อมตนว่า “ผมคงไม่ได้เก่งที่สุด เพียงแต่ผมนำประสบการณ์และความรู้เชิงเทคนิคมาปรับใช้ ยิ่งในสายงานที่ผมทำอยู่ ยิ่งต้องนำเอาโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่มาอยู่ด้วยกันให้ได้ อย่างที่บอกไป เรียนจบมาคุณยังไม่เห็นอะไรหรอก ต้องไล่ตามเทคโนโลยีใหม่เรื่อยๆ เพื่อให้เรารู้ข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วก็มาเปรียบเทียบ เชื่อมโยงให้ทำงานด้วยกันได้ ดังนั้นแปลว่าคุณต้องรู้เทคโนโลยีให้กว้างที่สุดและลึกพอที่คุณจะสามารถเล่นกับมันได้ รู้ว่าข้อดีข้อเสียของมันคืออะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ปรับอย่างไร
“แต่ถ้าเป็น Soft Skills คงเป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งทำงานร่วมกัน ระหว่างโลกที่พยายามจะ Agile กับโลกที่จะทำอะไรต้องช้าแต่ชัวร์ แปลว่าเราต้องเจอความขัดแย้งแน่นอน แล้วคุณจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ของทุกคนยังดำเนินต่อไปได้ ยิ่งพอเป็น Software Architect ยิ่งต้องคุยกับคนทำธุรกิจให้รู้เรื่อง อย่างน้อยทำอย่างไรก็ได้ที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในหัวหรือคำศัพท์ยากๆ ออกมาเป็นโอกาสทางธุรกิจง่ายๆ แล้วให้เขายอมลงทุนให้คุณ”
จิรัฎฐ์ย้ำว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ นี่อาจผิดไปจากภาพของคนสายเทคเนิร์ดๆ ที่เอาแต่จ้องตากับคอมพิวเตอร์ “คุณอาจจะเก่งมาก ทำโมเดลที่เจ๋งสุดๆ แต่ถ้าคุณอธิบายไม่ได้ว่ามันทำงานอย่างไร เราก็มองว่าไม่ดี ผมว่าความท้าทายของบริษัทที่ทำธุรกิจการเงินคือเราทำธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับเงินของลูกค้า ทุกอย่างจึงพลาดไม่ได้ แปลว่าระบบที่คุณทำมันต้องเจ๋งมากพอที่ทุกคนกล้าเอาเงินของคุณมาไว้ในนี้ การสื่อสารให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจในสิ่งที่คุณทำจึงเป็นสิ่งที่คนทำงานด้านนี้ต้องมี”
จำนวนปีการทำงานหรือทักษะการสื่อสารดีก็ยังไม่สำคัญเท่ากับแนวคิด จิรัฎฐ์อธิบายว่า “คุณจะปลดล็อกความคิดอย่างไร คุณจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่พอระบบล่มแล้ววิ่งวุ่น ไปไม่ถูก คุณต้องควบคุมอารมณ์ตัวเอง ควบคุมสถานการณ์ ต้องไล่ไปทีละสเตปว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน เพราะหัวใจหลักคือคุณต้องมีแนวคิดที่ถูกต้อง นี่ล่ะที่ผมคิดว่ามันมีคุณค่าในการทำงานมาก”
คนแบบไหนที่ Tech Company ระดับประเทศมองหา
นั่นแปลว่าถ้าคุณอยากโดดเด่นจนองค์กรไหนๆ ก็ต้องการตัว ต้องขยันอัปเกรดเวอร์ชันตัวเองบ่อยๆ แต่ถ้าถามว่าคนแบบไหนที่ KBTG มองหา จิรัฎฐ์บอกว่า “ต้องขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ ตลอด และต้องชอบหาวิธีแก้ปัญหา มีอะไรที่ปรับให้เร็วได้ไหม ถ้าเจออะไรที่มันน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้าอย่างนั้นปรับเลย แนวคิดแบบนี้คือสิ่งที่เราตามหา
“KBTG ค่อนข้างเข้มข้นในการคัดคนเข้ามาอยู่ในทีม ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าโค้ดที่คุณเขียนทำงานอย่างไร วันหนึ่งมีปัญหาทำเงินลูกค้าหายไป 1 ล้านบาท คุณจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ทุกบรรทัดที่คุณเขียนต้องเข้าใจมันทั้งหมด และถ้ามีปัญหาอะไรต้องแก้ได้ เขียนโค้ดได้ไม่พอ ต้องเข้าใจทุกบรรทัดด้วย
“ที่ KBTG ค่อนข้างซัพพอร์ตเรื่องนวัตกรรม เรายอมลงทุนเพื่อนวัตกรรมหลายสิบโปรเจกต์ที่ยอมให้ผิดพลาดได้ ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ เงินอาจไม่หนาพอที่จะให้คุณได้ทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ข้อดีของการทำงานใน Tech Company ที่เป็นสตาร์ทอัพคือคุณจะได้เห็นภาพครบลูป ตั้งแต่เริ่มคิดโปรเจกต์ไปจนถึงคุยกับนายทุน กว่าจะได้อะไรมาสักอย่างมันยากนะ ถ้าชอบมันก็ดี
“ยิ่งการอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็น Enterprise System มันจะมีระบบเก่าๆ ที่ทำให้เราได้เห็นในสิ่งที่บริษัทเล็กๆ ไม่มี เช่น สเกลของปริมาณการทำธุรกรรม เราจะได้ความรู้ทั้งในมุมดีและไม่ดี ยิ่งถ้าเราขวนขวายหาความรู้และเข้าใจทั้งหมด จะเป็นประสบการณ์ให้เราสามารถคิดระบบที่สุดยอดได้”
เหนือสิ่งอื่นใดคือการขวนขวายหาความรู้ไม่ว่าคุณจะเลือกทำงานใน Tech Company เล็กหรือใหญ่ “มันอยู่ที่แนวคิดในการขวนขวายหาความรู้ของแต่ละคน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในบริษัทใหญ่หรือเล็กก็มีแนวคิดแบบนี้ได้หมด ต่างกันแค่เทคนิคหรือหลักการในการหามาให้ได้ซึ่งความรู้ แต่สุดท้ายคุณจะทำอย่างไรให้ความรู้นั้นมาอยู่กับคุณ เพราะสุดท้ายก็ไปเจอกันที่ปลายทาง คือคุณนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างอะไรที่มันเจ๋งๆ”
แล้วปลายทางของจิรัฎฐ์อยู่ตรงไหน “ผมมองสุดที่ระดับโลก” ที่กล้าตั้งเป้าใหญ่ขนาดนี้เพราะอย่างที่บอกไปว่าตอนนี้จิรัฎฐ์กล้าเคลมความสามารถตัวเองในการดีไซน์ระบบที่รองรับปริมาณการทำธุรกรรมเทียบเท่าทั้งประเทศไทยได้ “ผมว่าเป้าหมายของคนที่ทำอาชีพนี้หลากหลายนะ บางคนได้ออกแบบซอฟต์แวร์ที่คนทั้งประเทศใช้ก็พอใจแล้ว หรืออาจจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ตัวเองรู้สึกเจ๋งก็พอ แต่ผมมองไปถึงจุดที่จะออกแบบซอฟต์แวร์ที่คนทั้งโลกใช้ได้ ใช้งานง่าย เร็ว ถูก ซึ่งยากนะ ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ แปลว่าผมต้องรู้ให้เยอะและทำให้ดีขึ้นไปอีกจนถึงระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และสุดที่ระดับโลก
“ภายใต้เป้าหมายที่ผมตั้งไว้ มันมีเรื่องความท้าทายขีดจำกัดของตัวเองอยู่ด้วย เมื่อก่อนผมคงไม่กล้าพูดว่าผมจะสามารถดีไซน์โปรแกรมที่คนทั้งประเทศใช้ได้ แต่วันนี้ผมทำได้ ดังนั้นในอนาคตผมก็จะสามารถดีไซน์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเป็นการปลดล็อกตัวเองไปทีละขั้น”
จิรัฎฐ์นิ่งคิดพักหนึ่งและกล่าวย้ำอีกครั้ง “เป้าหมายของผมอาจเป็นการปลดล็อกศักยภาพตัวเองไปเรื่อยๆ มันดูท้าทายและไม่มีจุดสิ้นสุด”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์