วันนี้ (4 ตุลาคม) ที่กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มครูในชื่อ ‘ครูขอสอน’ นัดรวมตัวทำกิจกรรม ‘ครูลุยกระทรวง ทวงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน’ เพื่อเรียกร้องให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเริ่มจากกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจคุกคามในโรงเรียน และการจุดเทียนเพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน และคุณครูเป็นความหวังในการพัฒนาผู้เรียน ก่อนที่จะร่วมออกแถลงการณ์ 4 ข้อ และข้อเรียกร้องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
- ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัยหรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศ และชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น
- คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก รวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
- การจัดการศึกษาควรมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพ เสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน และเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล
สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องคือ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องกำหนดนโยบาย และกำกับดูแลให้สถานศึกษาปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ และให้เป็นไปภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง และ หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องดำเนินนโยบายจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องดำเนินนโยบาย วางมาตรการในกระบวนการสรรหา และพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนให้มีความพร้อมในการทำงานอย่างเหมาะสมกับบริบทสถานศึกษา
- คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายการศึกษาอื่น ให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และมีกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิดังกล่าว วางกรอบโครงสร้างองค์กรทางการศึกษาให้มีการกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษา ให้มีอิสระในการบริหารงาน และส่งเสริมให้นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และตรวจสอบสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นผู้แทนนักเรียน ในการตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่คุรุสภา ในการกำหนดให้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน และจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
- คณะกรรมการหรือสโมสรนิสิตนักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทุกสถาบัน จะต้องดำเนินงานกิจกรรมนิสิตนักศึกษา โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และยกเลิกกิจกรรมที่มีลักษณะส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยม
สุดท้ายนี้ กลุ่มครูขอสอน ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนา และดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเต็มความสามารถบนหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมระบุว่า “เราจะไม่หยุดเคลื่อนไหว จนกว่าครูจะได้ทำหน้าที่สอน และพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหนังสือข้อเรียกร้องและแถลงการณ์จากกลุ่ม พร้อมชี้แจงว่าจะทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการจัดการได้ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพยายามสร้างการมีส่วนร่วม และจัดเวทีสร้างกติกาเพื่อร่วมฟังเสียงข้างมาก ซึ่งเวทีที่เปิดจะเน้นในประเด็นด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องหลัก ในส่วนของการพัฒนาระบบการผลิตครู อยู่ในกระบวนการที่มีคณะกรรมการแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม กำกับ แต่ในระยะยาวก็ต้องมองว่าใครจะผลิตครู และให้มีคุณภาพได้อย่างไร
ภาพ: ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์