×

TDRI มองเศรษฐกิจไทย ‘ไม่วิกฤต’

01.02.2024
  • LOADING...

TDRI มองเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต เนื่องจากยังมีแรงส่งจากหลายเครื่องยนต์ พร้อมเปิดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวราว 3% 

 

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปี 2567 (TEA Annual Forum 2024) ในหัวข้อ ‘ฝ่าเศรษฐกิจปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน’ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต เนื่องจากคาดว่าจะโตได้ราว 3% ในปี 2567 

 

พร้อมทั้งระบุว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ นิยามของคำว่า ‘วิกฤต’ คือเศรษฐกิจต้องหดตัว อย่างเช่นที่เกิดในช่วงโควิด หรือต้มยำกุ้ง ที่เศรษฐกิจทุกภาคส่วนหยุดชะงัก ไม่ใช่แค่บางภาคส่วนดี บางภาคส่วนไม่ดี

 

ดร.กิริฎา อธิบายอีกว่า เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะสามารถโตได้มากกว่าปีที่แล้ว ‘อย่างมาก’ 3% ในปี 2567 จากที่คาดว่าจะโตราว 2% ในปี 2566 เนื่องมาจากภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะดีขึ้น และการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 1-2% หลังจากปีที่แล้วหดตัว 1% รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่าน และการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังมีมาอยู่

 

อย่างไรก็ตาม ดร.กิริฎา ยังกังวลต่อความท้าทายหลายประการ อย่างเช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น หากเกิดการปิดทะเลหรือช่องแคบต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากหากราคาสินค้าต่างๆ ในโลกแพงขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็อาจปรับลดลงยาก

 

ดร.กิริฎา กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะปรับตัวขึ้นไม่มากก็น้อยในปีนี้เช่นกัน โดยหากมีแรงกระทบจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ลดเร็ว

 

กระนั้น ดร.กิริฎา ระบุว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามที่ ธปท. คาดการณ์ คือเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้อยู่ใกล้ๆ 2% ในช่วงครึ่งหลังของปี กนง. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนและหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้แบงก์ชาติคิดหนัก เนื่องจากหากยิ่งลดดอกเบี้ยก็จะทำให้คนก่อหนี้เพิ่มขึ้น

 

“แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในครึ่งหลังของปี แต่ประเทศไทยน่าจะลดแค่ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ” ดร.กิริฎา กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising