รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ตัวเลขอัตราการว่างงาน โดยนำตัวเลขการว่างงานของปี 2560 ไปเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (ก่อนมี คสช.) พบว่าปี 2560 มีจำนวนคนว่างงาน 463,379 คน ซึ่งสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (จำนวน 341,117 คน) หรือเพิ่มขึ้น 122,262 คน
และถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีกพบว่าอัตราการว่างงานในช่วงอายุ 15-39 ปีของไตรมาสแรกปี 2560 สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ในทุกกลุ่มอายุ และถ้าดูอัตราการว่างงานจากทุกช่วงอายุจะพบว่าปี 2560 นั้นสูงกว่าปี 2557 เกือบทุกช่วงอายุ
อัตราและจำนวนการว่างงานในปีปัจจุบันที่สูงกว่าปี 2557 เป็นผลมาจากความสามารถในการดูดซับแรงงาน (ทั้งเก่าและใหม่) ในตลาดแรงงานอันเนื่องมาจากความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากความตกต่ำอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเทียบกับตัวเลขของ เอ ดี บี ประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ของประเทศไทยในปี 2560 ต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน
จากข้อมูลของประชากรที่มีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรกฎาคม ปี 2560 จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 476,000 คน มีผู้ว่างงานตั้งแต่ ม.ต้น ถึง ป.ตรี จำนวน 426,000 คน หรือ 87% ของผู้ว่างงานทั้งหมด
ภาพที่มองเห็นก็คือ สถานประกอบการนับตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านั้นจนถึงรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหาร ยังไม่สามารถปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศไทยให้สามารถจ้างแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาดีเข้ามาทำงานได้หมด ถ้าสังเกตตัวเลขการว่างงานของผู้จบมัธยมปลาย ซึ่งรวมเอาผู้จบสายอาชีพเข้าไว้ด้วยพบว่า สามารถจ้างงานได้ดีแต่ยังไม่เพียงพอ
ที่หนักหนาสาหัสเห็นจะเป็นเรื่องผู้จบปริญญาตรีที่ว่างงานมากกว่า 2.5 แสนคน โดยมีสัดส่วนผู้จบสายวิชาการตกงานมากกว่าสายอาชีพมากกว่า 2 เท่า นับเป็นความสูญเปล่าทั้งผู้จบ ครอบครัว และเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในยุคที่เรามีกำลังแรงงานใหม่เริ่มจะลดลง แต่ภาคเศรษฐกิจยังไม่สามารถที่จะพัฒนาปรับตัวมากพอที่จะดูดซับผู้มีการศึกษาและความรู้สูงได้หมด
.
จำนวนว่างงานตามระดับการศึกษา มีดังนี้
- มัธยมต้น 99,400 คน (อัตราว่างงาน 1.5%)
- มัธยมปลายและสายอาชีพ 73,600 คน (อัตราว่างงาน 1.2%)
- ปริญญาตรี 253,000 คน (อัตราว่างงาน 3.2-3.3%)
รวม 426,000 (อัตราว่างงาน 1.2%)
Photo: AFP
อ้างอิง: