วานนี้ (20 พฤษภาคม) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดภาคเรียนใหม่พร้อมแนวคิดการศึกษาทางเลือก ‘เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา’ ภายใต้โครงการ โรงเรียนเคลื่อนที่ (Mobile School) ที่ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม เพื่อผลักดันนโยบาย Thailand Zero Dropout ให้เป็นรูปธรรม ด้วยเป้าหมายสูงสุดคือการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า 55,000 คนในปีการศึกษา 2568
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบกว่า 8.8 แสนคน ลดลงจาก 1.02 ล้านคนเมื่อปีก่อน โดยในจำนวนนี้มีเด็กกว่า 1,000 คนที่กลับมาเรียนได้แล้วผ่านระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น และสามารถตอบโจทย์ชีวิตได้จริง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ หรือการเดินทาง
โมเดลนี้ไม่ใช่แค่ ‘เรียนออนไลน์’ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่าน ฟาร์มเกษตร ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร วงดนตรีหมอลำ หรือแม้แต่ร้านตัดผม โดยได้รับการออกแบบจากคุณครูในศูนย์การเรียนร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งปราชญ์ชุมชน กลุ่มแม่บ้าน องค์กรเอกชน ไปจนถึงบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น KFC, Shopee, The Reporters และหมอลำไอดอล
หนึ่งในนักเรียนต้นแบบอย่าง น้องฮักแพง-วรัญญาภรณ์ วันทา วัย 18 ปี ผู้เรียนในหลักสูตรหมอลำศึกษาที่ศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ เล่าว่า เราเรียนคณิตจากเวทีแสดง เรียนสังคมจากวัฒนธรรมหมอลำ ใช้เวลายืดหยุ่นและเรียนรู้จากชีวิตจริง ควบคู่คำแนะนำจากครูทุกสัปดาห์
ส่วน เนส-คติกร ทองนรินทร์ นักเรียนจากศูนย์การเรียน CYF อบต.หนองสนิท เล่าประสบการณ์ว่า Mobile School ทำให้เขาเปลี่ยนจากเด็กเกเร กลายเป็นช่างตัดผมประจำหมู่บ้านที่มีความรับผิดชอบและเป้าหมายชัดเจน
กสศ. ยังเผยด้วยว่า ขณะนี้เปิดรับสมัครเยาวชนอายุ 7-24 ปีที่หลุดจากระบบ และไม่สามารถเรียนในระบบโรงเรียนหรือรูปแบบอื่นได้ ให้กลับมาเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ทุกวัน โทร. 0 2079 5475 ต่อ 0 หรือที่เว็บไซต์ www.eef.or.th และเพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
พร้อมกันนี้ กสศ. ยังได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณารณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่อง ‘การศึกษายืดหยุ่น’ เพื่อชวนภาคธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในการจัดการศึกษาให้เด็กๆ ได้มีโอกาสกลับมาเรียนอย่างแท้จริง
“เราไม่ได้เอาการศึกษาไปให้เด็กเรียนที่ไหนก็ได้เท่านั้น แต่เรานำโอกาสกลับคืนให้เด็กได้สร้างอนาคตของตัวเองบนพื้นฐานชีวิตจริง” พัฒนะพงษ์กล่าว