สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชูโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ‘ฟื้นฟู-ต่อเติม’ เพื่อเติบโต ชี้โควิด-สังคมสูงวัย ทำให้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเดิมพาประเทศไทยไปต่อไม่ได้แล้ว ฟื้นฟูคน ทั้งลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็น และเพิ่มคุณภาพประชากร การต่อเติมเพื่อสร้างผลิตภาพ และปฏิรูปภาครัฐให้เป็นดิจิทัล พร้อมกิโยตินกฎระเบียบให้คล่องตัว คาดโมเดลใหม่ทำให้ไทยเติบโต 5% ไปอีก 20 ปี ทำให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ-เพิ่มความยั่งยืน
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI กล่าวในหัวข้อ ‘โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19 ฟื้นฟู-ต่อเติมเพื่อเติบโต’ ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องจักร การพัฒนาแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่โควิดได้เข้ามาเปลี่ยนสังคมไทย หลายธุรกิจต้องล้มละลาย, ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 2 หมื่นรายกลายเป็น NPL, คนว่างงานเพิ่มขึ้นแต่พบว่ามีผู้เสมือนว่างงานเกือบ 2 ล้านคนไปแล้ว, นักเรียนเสียการเรียนรู้ โควิดทำให้นักเรียนยากจนเพิ่มขึ้น 1.3 แสนคน ไม่ได้เรียนต่ออีก 4.3 หมื่นคน และไม่มีคอมพิวเตอร์เรียนออนไลน์อีก 2.7 แสนคน ขณะที่เด็กอนุบาลแทบไม่ได้เรียนรู้เลย เป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
“เศรษฐกิจไทยตกต่ำในรอบ 22 ปีนับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และวิกฤตนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าเดิมมาก ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 90% ของ GDP ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแตะ 57% ของ GDP จนรัฐบาลต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ วิกฤตโควิดจึงเพิ่มความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งมีความช่วยเหลือจากรัฐเข้ามาช่วยบรรเทา แต่ภาครัฐไม่สามารถต่อสู้กับกับดักความเหลื่อมล้ำไปได้ตลอด”
เขากล่าวว่า แม้ช่วง 2-3 ปีแรกหลังวิกฤตโควิด อาจเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยจะโตชะลอเหลือเฉลี่ยปีละ 2% ไปอีก 20 ปีข้างหน้า สาเหตุเพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยประชากรที่มีอายุ 65 ปี จะแซงหน้าประชากรที่มีอายุ 15 ปี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ สะท้อนว่าตลาดแรงงานกำลังลดลง
สมเกียรติกล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไทยไม่สามารถหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ เราอาจจะไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับบำนาญและการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ
“TDRI จึงเสนอโมเดลฟื้นฟูและต่อเติม กล่าวคือ ฟื้นฟูคน สิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาพื้นฐานเดิม และต่อเติมด้วยการยกผลิตภาพในภาคการผลิตและปฏิรูปภาครัฐ เน้นส่วนร่วมในการพัฒนาและกระจายประโยชน์จากการพัฒนาให้แก่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนยากจน สร้างการเติบโตที่มีคุณภาพมากขึ้นโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ช่วยรักษาการเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน “
ส่วนการฟื้นฟูคนนั้น ที่ผ่านมาเราพบว่าคนไทยเสียชีวิตและเสียสุขภาพโดยไม่สมควร จากสาเหตุหลักคือ โรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุ เช่น การเสียชีวิตจาก PM2.5 ราว 30,000 คนต่อปี คนจนเป็นคนที่เจ็บป่วยและทรมานจากโรคไม่ติดต่อมากที่สุด ขณะที่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนปีละ 20,000 คน
นอกจากนี้ คนไทยยังมีความสูญเสียโดยไม่จำเป็นจากการถูกเกณฑ์ไปทำงานที่ไม่สร้างผลิตภาพที่แท้จริง เช่น เกณฑ์ทหารปีละเกือบแสนคน ซึ่งหากประเทศไทยสามารถฟื้นฟูคนไทย ลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 50%ใน 5 ปี ลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อ 25% ใน 10 ปี ลดการเกณฑ์ทหารลง 50% หากทำได้จะเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ย 0.62% ต่อปี
การฟื้นฟูถัดมาคือการเพิ่มคุณภาพประชากร โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กประถมวัยให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ มีทักษะการเรียนรู้ต่อยอดเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยสร้างการเติบโตระยะยาว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเด็กไทยตกหล่นไม่ได้เข้าระบบการศึกษา 1,189,338 คน ขณะที่เด็กที่เข้าโรงเรียนก็ไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากพอจะใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เป็นโจทย์เร่งด่วนสร้างทุนมนุษย์เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
โดยหากทำให้เด็กจบระดับมัธยม และผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของ PISA จะทำให้อัตราการเติบโตของไทยเพิ่มขึ้น 0.6% ในระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กปฐมวัย ลดเด็กตกหล่นในระบบการศึกษา ยกคุณภาพการศึกษาในระบบ ฝึกทักษะแรงงานต่อเนื่อง เพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ย 0.21% ต่อปีไปตลอด 20 ปีข้างหน้า
สำหรับโมเดลของการต่อเติมเพื่อสร้างผลิตภาพภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของไทย เช่น ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก เตรียมความพร้อมเมื่อการท่องเที่ยวเปิดกลับมาเต็มที่ ประหยัดพลังงานสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย และโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยควรมุ่งเน้นในอนาคต ไม่ใช่การสร้างถนนหนทาง แต่ควรเน้นการสร้างแหล่งน้ำ การชลประทานที่จะลดความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม การใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรอย่าง Smart Farming
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ทิ้งการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคส่วนต่างๆ คือ การเน้นการสร้างประสิทธิภาพประชากรฐานราก โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย
สมเกียรติกล่าวด้วยว่า หากสามารถเพิ่มผลิตภาพภาคเอกชน ยกระดับผลิตภาพรวม 0.5% ต่อปี ทั้งการผลิตแบบลีน การลงทุนระบบอัตโนมัติและไอที วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จะเพิ่มอัตราการเติบโต GDP เฉลี่ยขึ้น 0.91% ต่อปี
การต่อเติมสุดท้ายที่ต้องเร่งทำ คือ การปฏิรูปภาครัฐที่ล่าช้ามานาน คือ การพัฒนาให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และแก้กฎระเบียบที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคให้กับการทำมาหากินของประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลมาให้บริการประชาชน เช่นเดียวกับการนำระบบชำระเงินดิจิทัลพร้อมเพย์มาช่วยในการลดปัญหาการโอนเงินในอดีตที่ต้นทุนแพง ช่วยให้เกิดการก้าวกระโดดในการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยจะเห็นว่ายอดการใช้พร้อมเพย์ 2.6 ล้านล้านบาทต่อเดือน เป็นตัวอย่างที่ดี หากภาครัฐเป็นผู้นำการปรับเปลี่ยน และมีประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์
นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและประชาชนมากมาย เช่น การขึ้นทะเบียนหมอนวด หรือการแก้กฎหมายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งหากภาครัฐปฏิรูปกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ในปี 2562 ได้ทำกิโยตินเฉพาะส่วนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ลดต้นทุนรัฐและเอกชนได้ปีละ 1.8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การศึกษาของ TDRI พบว่า หากเราปฏิรูปกฎหมาย จัดการกฎระเบียบที่ล้าสมัยในกระบวนการต่างๆ ของภาครัฐประมาณ 1,094 กระบวนการ จะช่วยลดต้นทุนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี (0.8% GDP) การปฏิรูปกฎหมายจะสร้างประโยชน์มหาศาลโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ขณะเดียวกัน การปฏิรูปบริการภาครัฐให้ลีนต่อเนื่อง ทั้งการกิโยตินกฎระเบียบและให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จะเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ย 0.25% ต่อปีไปตลอด 20 ปี
สมเกียรติกล่าวด้วยว่า แม้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่หากเราฟื้นฟูและต่อยอดได้ ประเทศไทยก็ยังโตได้มากกว่าระดับปกติราว 2% ไปตลอด 20 ปี และยังช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงได้ด้วย
“อยากชวนรัฐตั้งเป้าหมายพัฒนาแผน 13 ให้ท้าทาย และผลักดันแผนให้จริงจัง โดยให้เศรษฐกิจเติบโตปีละ 5% ช่วยให้เราเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานการเติบโตที่ระดับ 3% อยู่แล้ว หากเราวางเป้าเพิ่มอีก 2% โดยมาจากการเติบโตจากผลิตภาพ 0.9%, จากลดความสูญเสีย 0.6%, จากการเพิ่มคุณภาพประชากร 0.25% และจากการปฏิรูปภาครัฐ 0.25% ดังนั้น ไทยจะโตอีก 5% ไปอีก 20 ปี ก็เป็นไปได้”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP