มากกว่าแค่การปรับโฉม
ล่าสุด กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล), เรดดี้, โสมพลัส, สปอนเซอร์, แมนซั่ม, เพียวริคุ, ซันสแนค และวอริเออร์ ได้ประกาศแผนการปรับโฉมองค์กรครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเสริมศักยภาพให้กับองค์กร เพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจ และสนับสนุนการทำงานด้านการตลาดโกลบอล (Global Marketing) กับสาขาในต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) อย่างแท้จริง โดยการปรับโฉมครั้งนี้จะลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท ผ่านแนวคิด 3C (3 Changes) คือ เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ และเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่
พัฒนา ‘คน’ คือสิ่งสำคัญเพื่อพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “ในยุคที่ทุกอย่างในโลกกำลังถูกดิสรัปต์ ทุกคนต้องปรับตัว การเตรียมคนให้พร้อมเพื่อเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยวิสัยทัศน์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะคนไทยที่เป็นเจ้าของแบรนด์ระดับโลกที่มีสาขาในต่างประเทศ และมีพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ทั่วทุกมุมโลก เราจึงต้องทำงานอยู่บนมาตรฐานระดับโลกที่สูงที่สุด เพื่อนำพาเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย นี่จึงเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ การปรับโฉมองค์กรสู่การทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ได้ประกาศไว้เพื่อมุ่งหวังพัฒนาบุคลากรทุกระดับชั้นให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมุ่งสร้างยอดขายของกลุ่มให้โตขึ้น 3 เท่าเป็น 100,000 ล้านบาท ก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ของคนไทยอย่างแท้จริง”
ประกรรษ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสายงานทรัพยากรบุคคลและธุรการ กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นองค์กรใหญ่ที่มีคนหลากหลาย การหลอมรวมพนักงานที่มากประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่ให้มีความคิดและการกระทำไปในทิศทางเดียวกันเป็นความท้าทายอย่างมาก เราจึงได้ออกแบบการทำงานขึ้นมาใหม่ ภายใต้แนวคิด 3C เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ก้าวข้ามเฟรมเวิร์กเดิมสู่นวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับกระบวนการทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดึงดูดคนเก่ง และคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระดับโลก”
แนวคิด 3C ที่นำมาเปลี่ยนแปลงการทำงานของกลุ่ม TCP มีดังนี้
C1 เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ สู่การเป็นองค์กรแห่งการสร้างนวัตกรรม
กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ลงทุนราว 740 ล้านบาท สร้างสำนักงานแห่งใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยสำนักงานใหญ่แห่งใหม่จะอยู่ในบริเวณติดกับสำนักงานปัจจุบัน ด้วยการออกแบบให้สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่กับแนวคิด Open Office พื้นที่ทำงานจึงเปิดโล่ง พร้อมจัดสรรพื้นที่กว่า 30% เป็นพื้นที่ส่วนกลางระหว่างแผนกเพื่อใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งใช้จัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ให้กับพนักงาน เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความผ่อนคลาย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย เชื่อมต่อการทำงานกับอุปกรณ์ของพนักงานทั้งในสำนักงานใหญ่ สาขาในต่างจังหวัด และสาขาต่างประเทศได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
สำนักงานใหญ่แห่งใหม่จะสร้างบนเนื้อที่ราว 6 ไร่ มีความสูง 4 ชั้น เริ่มก่อสร้างในปี 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปี 2564 และภายหลังเปิดใช้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่แล้ว สำนักงานปัจจุบันก็จะมีการปรับปรุงใหม่ ภายใต้แนวคิดเดียวกับสำนักงานแห่งใหม่
“เราคำนึงถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน เพื่อทำให้ออฟฟิศไม่ได้เป็นแค่ที่ทำงาน แต่เป็นสถานที่ที่ให้ทุกคนได้มาระดมความคิด มาประชุมกันแบบสบายๆ เปิดโอกาสให้ได้พบปะคนใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ และเมื่อสำนักงานเสร็จสมบูรณ์จะสามารถรองรับพนักงานใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีกราว 250 คน” ประกรรษ์ กล่าวเสริม
C2 เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ สร้างองค์กรยืดหยุ่นแต่ทรงพลัง
“ทุกวันนี้จะเห็นว่านวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เราจึงมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้รูปแบบการทำงานใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเราจะเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถมี Virtual Office ที่เป็นเสมือนสำนักงานเคลื่อนที่ได้ เพียงแค่มีโน้ตบุ๊ก หรือโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถที่จะสื่อสารข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conferencing หรือ Teleconferencing) ส่งเอกสารแลกเปลี่ยนกัน และยังสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่สำนักงาน พนักงานอาจจะทำงานที่บ้าน หรือที่ Co-working Space ในเมืองที่บริษัทจัดหาให้ อยู่ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในต่างประเทศ ทำให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่สะดุด” ประกรรษ์ กล่าว
นอกจากนั้นยังนำแนวคิดการทำงาน Agile รวมทั้ง Scrum มาใช้ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบ Cross Functional และ Cross Generation มุ่งหวังให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการทำงานกับสาขาในต่างประเทศ หรือการตลาดโกลเบิล (Global Marketing) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับทีมการตลาดของแต่ละประเทศ อันเป็นการผสมผสานแนวทางการทำงานตามมาตรฐานระดับโลกเข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีม
“การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่นี้จะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่เชิงบวกให้กับพนักงาน เพิ่มความสะดวกสบาย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น รวมถึงช่วยแก้ปัญหาให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นแต่ทรงพลังยิ่งขึ้น” คุณประกรรษ์ กล่าว
C3 เปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ
ประกรรษ์ กล่าวว่า “เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things, Virtual Reality, AI, Cloud Computing หรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ต่างไปจากเดิมได้อย่างสิ้นเชิง เราจึงได้ลงทุนราว 560 ล้านบาท นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำงานให้กับทีม ไม่ว่าจะเป็นการทำ Virtual Office หรือการนำ AI Chatbot มาใช้ในการสื่อสารกับพนักงาน และกับลูกค้าของบริษัท รวมถึงการจัดตั้งทีมงาน ‘Incubator’ ที่สนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้ ทดลอง และทดสอบไอเดียใหม่ๆ หรือ ‘ผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบ’ (Prototype) ของพวกเขา อันจะนำไปสู่การคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โดนใจลูกค้า
“เรามุ่งหวังให้ TCP เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Hub) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา และเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถก้าวไปข้างหน้าตามเจตนารมณ์ การพัฒนาทักษะของพนักงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงลงทุนเพิ่มอีก 80 ล้านบาท ในการฝึกอบรม ช่วยเหลือ และเพิ่มพูนความรู้ให้กับทีมงาน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเราจะไม่มีการปลดพนักงาน ตรงกันข้ามเราจะสร้างให้เขามีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ รวมถึงเปิดรับคนดี คนเก่ง คนรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในระดับโลกต่อไป” ประกรรษ์ กล่าวเสริม
“การปรับโฉมองค์กรเพื่อให้การทำงานอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์ จะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งจะช่วยเสริมรากฐานขององค์กรให้แข็งแกร่ง สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร และผลักดันให้เราก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ของคนไทยอย่างแท้จริง” ประกรรษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ที่ www.tcp.com
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ข้อมูลบริษัท
- กลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วยบริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าของกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และ บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP มีพนักงานกว่า 5,000 คนในประเทศไทยและทั่วโลก
- ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังคือ กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ้งก์ คือ แมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม
- กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติคือ Integrity (พันธมิตรธุรกิจยั่งยืนและองค์กรธรรมาภิบาล) Quality (คุณภาพสินค้าและบริการ และคุณภาพชีวิตบุคคลากร) และ Harmony (รักษ์สิ่งแวดล้อม และชุมชนยั่งยืน) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ เพื่อมุ่งยกระดับกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งใน ‘บริษัทคนไทยที่ได้รับการชื่นชมที่สุด’