สมาคมธนาคารไทยเผยมิจฉาชีพใช้แอปพลิเคชันดูดเงินสร้างความเสียหายต่อประชาชนเป็นมูลค่าราว 500 ล้านบาทแล้ว เผยเตรียมนำเทคโนโลยี Biometric มาใช้เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ ชี้หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีผลบังคับใช้ ธนาคารจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อปิดกั้นหรือลดผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
วานนี้ (16 กุมภาพันธ์) ยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้นและมีเทคนิคที่หลากหลายขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยสิ้นสุด ณ ปี 2565 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึงราว 500 ล้านบาท โดยแอปดูดเงินนี้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงกลางปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68
ขณะที่ ชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) เปิดเผยว่า เหยื่อทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบยังไม่มีกลุ่มที่ใช้ระบบ iOS และเป็นผู้ใช้ระบบ Android 100% เนื่องจากระบบ iOS สามารถเข้าถึงได้ยากกว่าอย่างมาก
เปิดมาตรการ ‘ป้องกันภัย’ จากมิจฉาชีพ ช่วยประชาชน
ผ่านการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่างๆ ได้แก่ True, AIS, DTAC และ NT รวมไปถึงผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง LINE ได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้
- ตรวจสอบปิด LINE ปลอมของธนาคาร
- ควบคุมและจัดการชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม
- ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย
- หารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัย แชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน เช่น พัฒนาการป้องกันและควบคุม Mobile Banking Application กรณีมือถือมีการเปิดใช้งาน Accessibility Service เพิ่มระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ด้วย Biometric Comparison
พ.ร.ก.ใหม่ คือกฎหมายตัดขา (บัญชี) ม้า
นอกจากนี้สมาคมธนาคารไทยยังระบุว่า หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ นอกจากนี้ธนาคารจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อปิดกั้นหรือลดผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
ขณะที่ยศกล่าวอีกว่า “พ.ร.ก.นี้ส่วนหนึ่งคือฟีดแบ็กของภาคธนาคารเองด้วยว่าต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาอะไร เพื่อให้ธนาคารได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว และช่วยทำให้การจับมิจฉาชีพทำได้เร็วขึ้น”
เตรียมใช้ Biometric ภายใน 1-2 สัปดาห์
ชัชวัฒน์เปิดเผยอีกว่า การใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะตัดตอนและลดผลกระทบให้กับลูกค้าได้ โดยเฉพาะเมื่อโจรเข้ามาอยู่ในมือถือแล้วและพยายามนำเงินออก เนื่องจากแอปดูดเงินส่วนใหญ่เป็นการล่อลวงรหัสผ่านจากประชาชน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ซึ่งเป็นเป็นการยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลทางชีวภาพที่มีลักษณะเฉพาะตัวและไม่ซ้ำใคร เช่น ลายนิ้วมือ รูม่านตา โครงสร้างใบหน้า เสียง จะทำให้มิจฉาชีพทำงานได้ยากขึ้น
ขณะที่ยศกล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ธนาคารส่วนใหญ่น่าจะเริ่มนำมาระบบ Biometric มาใช้ได้
‘3 รูปแบบ’ การล่อลวงที่พบบ่อย
ชัชวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงประชาชนให้ได้รับความเสียหายจากแอปดูดเงิน ส่วนใหญ่ดำเนินการใน 3 รูปแบบ ดังนี้
- หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดย Call Center โทรมาหลอกด้วยสถานการณ์ที่ทำให้กังวล SMS เป็นการใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่างๆ และโซเชียลมีเดียหลอกให้เงินรางวัลและเงินกู้ หรือโน้มน้าวชวนคุยหาคู่ และให้เพิ่ม (Add) บัญชี LINE ปลอมของมิจฉาชีพ
- หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล และให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ที่เมื่อแอปใดๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้ ฟังก์ชันนี้จึงเป็นกลไกหลักของมิจฉาชีพในการควบคุมมือถือของเหยื่อ
- ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อเพื่อโอนเงินและขโมยข้อมูลต่างๆ โดยรูปแบบของแอปดูดเงินที่มิจฉาชีพใช้หลอกประชาชนมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. หลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปจำพวกรีโมตจาก Play Store เช่น TeamViewer, AnyDesk เป็นต้น จากนั้นมิจฉาชีพจะรีโมตเข้ามาดูและควบคุมมือถือของเหยื่อเพื่อโอนเงินออกทันที 2. แอปอันตราย (.apk) เมื่อติดตั้งแล้วจอมือถือของเหยื่อจะค้าง โจรจะรีโมตมาควบคุมมือถือของเหยื่อและโอนเงินออกทันที เช่น แอปพลิเคชัน DSI, สรรพากร, Lion Air, ไทยประกันชีวิต, กระทรวงพาณิชย์ (ยังคงเป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด) 3. แอปอันตราย (.apk) ที่ควบคุมมือถือของเหยื่อ รอประชาชนเผลอแล้วค่อยแอบโอนเงินออกภายหลัง เช่น แอปหาคู่ Bumble, Snapchat (ยังคงเป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้)
แนะแนวทางการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ
กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) แนะแนวทางการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพว่ามีจุดสังเกตที่ต้องระวังคือ
- มิจฉาชีพจะแนะนำให้เหยื่อก๊อบปี้ลิงก์ไปเปิดในเบราว์เซอร์ Chrome เพื่อเข้าเว็บปลอม
- ขณะติดตั้งแอปของมิจฉาชีพ มือถือจะขอสิทธิ์ในการติดตั้งแอปที่ไม่รู้จัก
- มิจฉาชีพพยายามให้ตั้ง PIN หลายครั้ง หวังให้เหยื่อเผลอตั้ง PIN ซ้ำกับ PIN ที่ใช้เข้า Mobile Banking Application ของธนาคาร
- หลอกให้เหยื่อเปิดสิทธิ์การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) โดยชวนคุยจนไม่ทันอ่านเนื้อหาที่ขึ้นมาเตือน
ทั้งนี้ ควรดาวน์โหลดแอปผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น และไม่ควร Add LINE หรือช่องทางแชตอื่นๆ คุยกับคนแปลกหน้า
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากแอปดูดเงิน แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
- ตรวจสอบมือถือว่าเปิดแอปที่ทำงานภายใต้ Accessibility Service หรือไม่ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่าเรารู้จักและทราบเหตุผลของการเปิดใช้งานทุกโปรแกรม หากไม่ทราบให้รีบปิด
- เปิดใช้งาน Google Play Protect เพื่อตรวจสอบการติดตั้งแอปอันตราย หากเจอให้ Uninstall ทันที
- ติดตั้งแอป Endpoint Protection หรือ Antivirus บนมือถือเพื่อดักจับและป้องกันแอปอันตราย หรือมัลแวร์ต่างๆ
สำหรับผู้ที่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้ว ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันทีด้วยวิธีกด Force Reset คือการกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียงพร้อมกันค้างไว้ 10-20 วินาที แต่ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด ปิด WiFi และให้ติดต่อธนาคาร แจ้งความทันที