×

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ตามกฎหมาย

14.09.2018
  • LOADING...

จากกรณีกลุ่มแท็กซี่ขนาดใหญ่หรือแท็กซี่แวน สนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ซึ่งอ้างว่ามีประมาณ 1,000 คัน ขู่หยุดวิ่งรถวันนี้ (14 ก.ย.) หากไม่ขึ้นเซอร์ชาร์จ หรือค่าบริการจอดรอรับผู้โดยสารที่สนามบิน เพิ่มจากเที่ยวละ 50 เป็น 100 บาท พร้อมขอให้ลดบทลงโทษแท็กซี่ที่ไม่กดมิเตอร์ ให้เป็นหยุดพักรถชั่วคราว แทนการถอนการให้บริการในสนามบิน

 

คนขับรถแท็กซี่แวนบางท่านสะท้อนว่า ในบางวันแท็กซี่ต้องเข้ามาจอดรอผู้โดยสารในสนามบินนานหลายชั่วโมง เมื่อคิดค่าโดยสารรวมกับค่าเซอร์ชาร์จที่ได้เพียง 50 บาท จึงไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

 

คนขับรถแท็กซี่แวน เปรียบเทียบกับรถแท็กซี่วีไอพี ตามโครงการส่งเสริมใช้รถไฟฟ้ากรมการขนส่งทางบก ที่เข้าไปให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเก็บค่าเซอร์ชาร์จเที่ยวละ 100 บาท สูงกว่าแท็กซี่แวนที่ได้เที่ยวละ 50 บาท แต่การให้บริการไม่ได้แตกต่างกัน

 

 

กรมขนส่งฯไม่สนใจคำขู่ แต่เตรียมพิจารณาปรับค่าโดยสารแท็กซี่

ด้าน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงกรณีนี้ ว่าหากบริการรถแท็กซี่ในพื้นที่สนามบินมีรถไม่เพียงพอ ทางท่าอากาศยานไทย (ทอท.) สามารถประสานมาที่กรมการขนส่งทางบกได้อยู่แล้ว ยืนยันว่าปัจจุบันนี้รถแท็กซี่มีอยู่ในระบบกว่า 70,000 คัน สามารถประสานจัดรถเข้าไปให้บริการได้

 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ ขณะนี้ได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา และรอผลสรุปเป็นทางการ

 

ทีดีอาร์ไอ เสนอปรับค่าโดยสารแท็กซี่เพิ่ม 10%

สำหรับการศึกษาดังกล่าว กรมขนส่งฯ และทีดีอาร์ไอ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2561

 

โดยหนึ่งในปัญหาสำคัญของรถแท็กซี่ ที่ทีดีอาร์ไอระบุไว้คือ การกำหนดค่าโดยสาร ไม่สะท้อนต้นทุนและค่าครองชีพ ขณะที่รถแท็กซี่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้บริหารจัดการได้ยาก รวมถึงแท็กซี่ยังมีปัญหาเรื่องความปอดภัย และคุณภาพการให้บริการ

 

ทีดีอาร์ไอคำนวณต้นทุนของคนขับแท็กซี่ พบว่าคนขับแท็กซี่ต้องมีค่าผ่อนรถ หรือค่าเช่า ค่าบำรุงรักษา ค่าเชื้อเพลิง และค่าบริหารจัดการ เฉลี่ยวันละ 1,175.38 บาท แต่มีรายได้เฉลี่ย 1,563 บาทต่อวัน

 

นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอ มองว่าควรปรับขึ้นราคาราว 10% ให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน และต้นทุนของผู้ขับขี่ซึ่งควรมีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 1,600-1,800 บาท หรือราว 400-500 บาทหลังหักต้นทุนแล้ว

 

สำหรับการปรับราคาค่าโดยสารใหม่นั้นจะนำมากกว่า 1 แนวทางให้กรมขนส่งฯ พิจารณา แต่ในภาพรวมแล้วจะเพิ่มขึ้นมา 10% โดยแยกค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ค่าโดยสารตามระยะทาง
  2. ค่ารถติด 50 สตางค์ต่อกิโลเมตร จากเดิมที่คิดค่าโดยสารตามระยะทางและความเร็วของยานพาหนะที่ไม่เป็นไปตามจริงหากรถติด ส่งผลให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร

 

ดังนั้นแนวทางใหม่จะคิดราคาตามเวลาที่เดินทางจริงร่วมกับเวลารถติด ตัวอย่างเช่นใช้บริการแท็กซี่ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีค่าโดยสารตามระยะทาง 50 บาท ทว่าช่วงดังกล่าวมีปัญหารถติดเสียเวลาเดินทางมากกว่าเวลาปกติ 20 นาที ก็อาจจะคิดเพิ่มไปอีกนาทีละ 10 บาท ทำให้ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าโดยสารทั้งหมด 60 บาท เป็นต้น

 

ดังนั้นจึงพบว่าอัตราค่าโดยสารใหม่ในพื้นที่รถไม่ติดราคาจะเพิ่มขึ้น 3-4% ส่วนพื้นที่รถติดค่าโดยสาาจะเพิ่มขึ้นราว 9%

 

ขณะที่หากเปรียบเทียบค่าโดยสารรถแท็กซี่ทั่วโลก พบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ค่าโดยสารต่อ 5 กิโลเมตรต่ำสุดในโลก อยู่ที่ราว 66.5 บาท ขณะที่ประเทศจีนอยู่ที่ 154 บาท ญี่ปุ่น 255 บาท แอฟริกาใต้ 220 บาท อังกฤษ 353 บาท และสหรัฐอเมริกา 409 บาท

 

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองหลักในอาเซียนพบว่า เมืองหลวงสิงคโปร์ค่าโดยสารสูงกว่า 146% เมืองกัวลาลัมเปอร์สูงกว่า 35% เมืองมะนิลาสูงกว่า 10.5% และฮ่องกงสูงกว่า 286%

 

ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ถูกตรึงไว้ด้วยกฎหมายและไม่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยคิดอัตราค่าโดยสารแท็กซี่แรกเริ่มที่ 35 บาทสำหรับ 2 กิโลเมตรแรกตั้งแต่ปี 2535 โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงมา 3 ครั้ง และครั้งล่าสุดคือปี 2557 ที่ปรับเป็น 35 บาท สำหรับกิโลเมตรแรก อีกทั้งมีการปรับราคาตามกิโลเมตรขึ้นบ้าง เพื่อให้การให้บริการระยะทางไกลได้ค่าโดยสารมากขึ้น แต่หากเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารกับประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ของไทยยังถือว่าถูกกว่ามาก

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X