วันนี้ (16 กุมภาพันธ์) อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจโดยระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทุจริตต่อหน้าที่ในกรณีอยู่อาศัยในบ้านพักหลวงหลังเกษียณอายุราชการทหาร
อมรัตน์กล่าวว่า วันนี้ตนจะอภิปรายกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ ในประเด็นการทุจริตในหน้าที่ 3 ข้อ คือ
1. ทำผิดกฎหมายประมวลรัษฎากร หนีภาษี
2. ทำผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับผลประโยชน์อื่นใดเกินที่กฎหมายกำหนด
3. มีพฤติกรรมปกปิดข้อมูลส่วนตัวเพื่อหนีการตรวจสอบ มี และเข้าข่ายให้ข้อมูลเท็จต่อศาลรัฐธรรมนูญ
อมรัตน์กล่าวว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่มีความผิดโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่นั่นคือการวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือประเด็นต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จากการพักอาศัยอยู่บ้านหลวงในกองทัพบก แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยความผิดตามกฎหมายอื่น นั่นคือความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. และความผิดตามกฎหมายอาญาเกี่ยวกับภาษี ซึ่งพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ มีความผิดตามกฎหมายทั้งสองข้างต้นอย่างชัดเจน
อมรัตน์กล่าวอีกว่า ตนได้ไปทำการสืบค้นจนพบข้อพิรุธในการปกปิดข้อมูลของ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวคือ พล.อ. ประยุทธ์ แจ้งในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อปี 2557 ว่าอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 14 ซอยร่วมมิตร ถนนย่านพหลโยธิน สามเสนในกรุงเทพมหานคร ทั้งๆ ที่ตอนนั้น พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อยู่บ้านพักในค่ายแล้ว
ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ ยื่นคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 253/54 กรมทหารราบที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับที่กองทัพบกให้การ แต่ทว่ากรรมาธิการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบไปยังการไฟฟ้านครหลวง ได้รับตอบกลับมาว่าไม่พบว่ามีบ้านเลขที่นี้อยู่ในกรมทหารราบที่ 1
อมรัตน์กล่าวต่อไปว่า วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารได้เคยเขียนเล่าในหนังสือว่า พล.อ. ประยุทธ์ แท้ที่จริงแล้วอาศัยอยู่ในเซฟเฮาส์เลขที่ 702 ในค่ายทหารตั้งแต่ยังเป็น ผบ.ทบ. จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็นับเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้ว ในหนังสือชื่อ ลับลวงพราง 5 ศึกชิงอำนาจผ่าแผนปฎิบัติการเลือด ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2555 ในบทที่ 68
“ในหนังสือดังกล่าวยังเขียนถึงเรื่องเกี่ยวกับบ้านเซฟเฮาส์เลขที่ 702 เอาไว้อีกว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้สร้างบ้านพักหลังนี้บนเนื้อที่เกือบ 3 ไร่ ที่จะเป็นทั้งบ้านพัก ห้องประชุมใหญ่ ห้องประชุมลับ ห้องรับรอง ห้องจัดเลี้ยงวอร์รูมและเซฟเฮาส์ที่พร้อมสรรพและทันสมัย ในแบบประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมจากที่ไหนในโลกก็ได้” อมรัตน์กล่าว
อมรัตน์ยังบอกด้วยว่า ในหนังสือเล่มดังกล่าวของวาสนายังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาได้ใช้บ้านพักหลวงแห่งนี้เป็นที่ประชุมทางการเมืองมาตลอด เป็นที่ประชุมลับในช่วงวิกฤต บ้านพักหลังนี้มีการวัดระยะก่อนสร้างว่าปืนเอ็ม 79 ยิงไม่ถึง เป็นการสะท้อนว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีแผนที่จะอยู่ในอำนาจยาวนาน และรู้ด้วยว่าจะต้องพบเจอภารกิจใดบ้างนับจากนี้ นอกจากนี้วาสนายังได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ร.1 รอ. และเซฟเฮาส์เลขที่ 702 จะเป็นสถานที่ให้กำเนิดและตัดสินชะตาบ้านเมืองอีกครั้งก็เป็นได้
นอกจากนี้ค่าไฟฟ้าและสาธารณูปโภคอื่นๆ ในคฤหาสน์ริมบึงพื้นที่ 3 ไร่ในค่ายทหารของ พล.อ. ประยุทธ์ นั้น มีค่าใช้จ่ายเกิน 3,000 บาทตามกฎหมาย ป.ป.ช. อย่างเห็นได้ชัด
ตามเอกสารรายการหักบัญชีค่าไฟฟ้าของบ้านเลขที่ 14 ซอยร่วมมิตร ถนนย่านพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 ซึ่งเป็นบ้านหลังที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 บ้านหลังนี้อยู่ในซอยแคบและอยู่ก้นซอย เข้าไปก็กลับรถลำบาก บ้านหลังเล็กๆ นี้ไม่มีคนอยู่ยังมีค่าไฟฟ้าเดือนละพันกว่าบาททุกเดือน พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่มาเป็นสิบปียังค่าไฟเดือนละกว่าพันบาททุกเดือน เทียบกับคฤหาสน์ริมน้ำพื้นที่ 3 ไร่แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกิน 3,000 บาทแน่นอน
“คำถามต่อไปคือเฉพาะค่าไฟที่มีใบเสร็จอย่างเดียวนี่เดือนละกี่พันกี่หมื่น และค่าบำรุงรักษาดูแลอีกเดือนละเท่าไร ได้ข่าวมาว่า มีชั้นจอดรถใต้ดินและลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกด้วย ทั้งหมดคือภาษีอากรของพวกเราประชาชนตาดำๆ ดิฉันต้องการให้ท่านเปิดเผยออกมาซักทีว่าเดือนๆ หนึ่งท่านใช้ภาษีของพวกเราไปเท่าไร” อมรัตน์กล่าว
อมรัตน์ระบุว่า ในระหว่างที่ยังเป็นทหารถือเป็นลูกจ้างของกองทัพ จะอ้างกฎหมายหรือจะอ้างกฎเกณฑ์หยุมหยิมระเบียบราชการกองทัพอะไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นนายกฯ มาเป็นนักการเมือง ค่าไฟฟ้าที่ได้รับจากกองทัพถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เข้าลักษณะพึงเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39, 49 ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตาม ภงด. 90 ขอย้ำว่าผลประโยชน์ที่ได้จากกองทัพหลังพ้นสภาพลูกจ้างกองทัพนี้ไม่เข้าข่ายได้ยกเว้น ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42 แต่อย่างใด จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ
ทั้งนี้อมรัตน์ได้สรุปถึงความผิดของ พล.อ. ประยุทธ์ ในกรณีบ้านพักว่ามีด้วยกัน 3 ประการคือ
1. การไม่แสดงรายการเกี่ยวกับบ้านพักในค่ายทหาร ถือเป็นความผิดจงใจยื่นแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 114 และมีโทษตามมาตรา 167
2. การหนีภาษี มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 และความผิดตามประมวลรัษฎากร หลังเกษียณแล้วการไม่นำผลประโยชน์อื่นใด คือค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ได้จากกองทัพไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี มีความผิดอาญาตามปีปฏิทินที่ยื่นภาษี ผิดกฎหมายอาญา ทุจริตต่อหน้าที่ฐานหลบหนีภาษี ตามมาตรา 37 ทวิ ผิดปีละ 1 กระทง จำนวน 6 ปี พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
3. การรับประโยชน์ค่าไฟฟ้าเกิน 3 พันบาทในทุกเดือน ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2561 มาตรา 128 มีโทษตามมาตรา 169 จำคุกไม่เกินกระทงละ 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท คิดเป็นโทษจำคุก 76 กระทง รวมทั้งสิ้น 228 ปี เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ ป.ป.ช. ได้เคยชี้มูลไว้แล้ว มีความผิดเรียงเป็นรายกระทง 76 กระทง นับจากวันที่ท่านเกษียณอายุราชการในปี 2557
ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นการอภิปราย อมรัตน์จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปยื่นเอาผิดเพื่อจัดการตามกฎหมายต่อไป โดยเธอระบุด้วยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ป.ป.ช. ได้ชี้มูล ส.ส. ท่านหนึ่งว่าผิดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 ตามบรรทัดฐานเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ ก็ต้องมีความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวในข้อ 9 และข้อ 27 ด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า