×

โจทย์ใหญ่เมื่อรัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างภาษีหารายได้เพิ่ม แต่ต้องเริ่มที่ VAT-นิติบุคคล-ภาษีใหม่?

04.04.2021
  • LOADING...
ปรับโครงสร้างภาษี

HIGHLIGHTS

  • เมื่อรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและโฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาแก้ข่าวกันอย่างเร่งด่วนในทางที่ว่า ยังไม่มีแนวคิด/พิจารณาการขึ้น VAT จากข่าวที่ออกมาหลังการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า นายกฯ เห็นชอบเรื่องการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี ซึ่งมีการพูดคุยว่าอาจมีเรื่องการขึ้น VAT
  • แต่แผนการปรับโครงสร้างภาษี VAT นี้เกิดขึ้นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะการขาดดุลของงบประมาณ แต่เมื่อเจอโควิด-19 ทำให้เรื่องนี้ต้องชะลอออกไป แต่คลังยิ่งต้องเตรียมแผนไว้ตั้งแต่วันนี้
  • นักวิชาการมองว่า การขึ้น VAT แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลได้เงินเร็ว แต่ในวิกฤตนี้ยังไม่มีประเทศไทยพิจารณาปรับขึ้น ส่วนภาษี Capital Gain มองว่าต้องมีการถกเถียงกันในสังคมว่าควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

ต้นสัปดาห์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีรายงานข่าวว่า ทาง ครม. สั่งกระทรวงการคลังเร่งศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีของไทย มีการพูดถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เพราะการจัดเก็บรายได้ของไทยต่ำกว่าเป้าจากพิษของโควิด-19

 

แต่ผ่านไปไม่ถึง 3 วัน ทั้งรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ออกมาบอกว่า ส่วนตัวคิดว่าเร็วๆ นี้ยังไม่มีเรื่องการขึ้นภาษี ในขณะที่ขุนคลัง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก็บอกว่ายังไม่มีการพิจารณาปรับเพิ่มภาษีใดๆ  ฝั่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ อย่าง อนุชา บูรพชัยศรี ก็ออกมาตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่ารัฐบาลยังไม่มีแนวคิดในการปรับ VAT ขึ้น

สรุปแล้วรัฐบาลมีแนวคิดในการปรับโครงสร้างภาษีและ VAT อย่างไร?

 

นายกฯ เร่งคลังศึกษาปรับโครงสร้างภาษีประเทศ = ต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น? 

บทสรุปจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และ ครม. ประกาศรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังในงบประมาณปี 2563 โดยพบว่า ปี 2563 การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลอยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท ลดลง 6.8% จากปีก่อน สาเหตุเพราะรายได้ภาษีที่ลดลงและวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น 

 

นำมาสู่ข้อมูลคลังว่า ปี 2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 822,533 ล้านบาท โดยระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 572,104 ล้านบาท ที่แม้จะมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ แต่ถ้ารัฐบาลยังจัดเก็บรายได้บนความไม่แน่นอนเรื่องโควิด-19 อาจทำให้สภาพคล่องทางการคลังตึงตัว 

 

โดยกระทรวงการคลังระบุว่า การขาดดุลงบประมาณรวมถึงวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐต้องกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเป็นส่วนที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งขึ้นใกล้กับเพดาน 60% จากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ราว 49.34% ซึ่งประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ตามกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ปีงบประมาณ 2565-2568 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 58.72%

และจากทั้งหมดนี้ ทำให้ ครม. สั่งคลังเร่งศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ จึงหมายถึงการหาทางเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็อยู่ที่วิธีการของรัฐว่าจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายใดบ้าง

 

 

เมื่อ VAT ของไทยอยู่ที่ 10% ไม่ใช่ 7% แล้วรายได้ภาษีมาจากไหนบ้าง?

VAT ถือเป็นรายได้หลักของภาครัฐ โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของรายได้สรรพากร (ปี 2562) รองลงมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 35% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ 17% และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 5% ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3%


แม้ว่าปัจจุบัน VAT จะอยู่ที่ 7% แต่ที่จริงแล้วตามประมวลรัษฎากรของไทยนับจากปี 2535 มีการกำหนด VAT ไว้ที่ 10% ซึ่งรัฐบาลมีการลด VAT เหลือ 7% มาตั้งแต่ในช่วงวิกฤต้มยำกุ้งปี 2540 โดยต้องยอมรับว่า VAT แม้จะปรับขึ้นง่ายที่สุด แต่ก็อาจส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการบรรเทาลด VAT ให้อยู่ที่ 7% รัฐบาลจะแจ้งว่าเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน 

 

อย่างไรก็ตาม แผนการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของประเทศ กระทรวงการคลังพยายามทำมาต่อเนื่อง ทั้งการออกการเก็บภาษีใหม่ๆ อย่างกรมสรรพากรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) โดยจะเก็บผู้ให้บริการจากต่างประเทศและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ให้บริการในไทยที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี 

 

หรือภาษีจากการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เช่น กำไรที่เกิดจากการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัลอย่าง Cryptocurrency ผู้ลงทุนต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ขณะที่หลายปีก่อนหน้านี้มีการตั้งเก็บภาษีมรดก ซึ่งยังเก็บได้เพียงหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมีวิธีการลดภาระภาษีนี้ได้หลายทาง

 

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของคลังที่ประกาศใน ครม. พูดถึงมุมมองและสถานการณ์ของภาษีแต่ละประเภทจากข้อมูลที่มีอยู่ว่า 

 

  • การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลมีแรงกดดันจาก
    • ผลประกอบการปี 2563 ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2564
    • การนำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นไปหักค่าใช้จ่ายสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (Loss Carry Forward) 
    • แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกในการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หากต่างประเทศมีนโยบายปรับลดอัตราเพิ่มเติมในอนาคต
  • การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ 
  • การจัดเก็บภาษียาสูบและรายได้นำส่งคลังของโรงงานยาสูบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
  • การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาษีจากฐานบริโภค แม้จะขยายตัวใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่สัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อภาษีจากฐานบริโภคของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทำให้เห็นว่ากลไกการกระจายรายได้และการสร้างเสถียรภาพในตัวเองของระบบภาษีไทยอาจทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ปรับโครงสร้างภาษี

 


ชูโมเดลต่างประเทศปรับโครงสร้างภาษีฯ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การเก็บภาษีสามารถแบ่งได้ 3 วัตถุประสงค์หลัก เช่น 

 

  1. การเก็บรายได้รัฐ 
  2. การแบ่งสัดส่วนในการเก็บภาษีตามโจทย์ที่รัฐแต่ละประเทศตั้งไว้
  3. ประสิทธิภาพในการเก็บ เช่น หากมีการเก็บภาษีมากขึ้น จะลดแรงจูงใจในการลงทุนหรือทำงานหรือไม่? 

 

“การจะขยับปรับขึ้น-ลดภาษี ต้องดู Revenue Need เช่น เรื่องภาษีนิติบุคคล ต้องมองเพื่อการแข่งขันด้วยว่าเพื่อนบ้านมีเกณฑ์อย่างไร”

 

จุดสำคัญคือไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบเยอะ แตกต่างจากอเมริกา ยุโรป ทำให้ปัจจุบันภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตกอยู่กับมนุษย์เงินเดือนที่คิดเป็น 80% ในการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากจะปรับเกณฑ์ให้เข้มข้นขึ้นก็อาจเป็นภาระต่อกลุ่มนี้ที่จ่ายภาษีมาตลอด

 

ส่วนถ้าถามว่าควรเก็บภาษี Capital Gain หรือส่วนต่างจากเม็ดเงินกำไรที่ได้จากการลงทุนในตลาดหุ้นหรือไม่นั้น อธิภัทรมองว่า เป็นโจทย์ที่ต้องถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gain มีมาราว 30 ปีแล้ว ซึ่งช่วงต้นก็เพื่อสนับสนุนให้คนเข้ามาลงทุนและเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนไทย จึงต้องหันมาดูทั้งบริบทในปัจจุบันและในอดีต หรือผลของการยกเว้นหรือไม่ยกเว้นเก็บภาษีฯ นี้ต่างกันอย่างไร

 

ปัจจุบันมีประเทศที่เริ่มเก็บภาษี Capital Gain เช่น ตลาดหุ้นฮ่องกงที่เก็บ Trasaction Tax (เก็บภาษีตามธุรกรรมมูลค่าการขาย) หรือเกาหลีใต้ที่ปรับเกณฑ์การเก็บภาษีเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา 

 

“หลังโควิด-19 หลายประเทศเริ่มหันมามองเรื่องการเก็บภาษีในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น อาจเพราะเห็นว่า Transaction Tax ที่เก็บแล้ว ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจจริงมากนัก และบางประเทศก็พิจารณาเรื่องการขึ้น VAT เพราะเป็นภาษีในฐานกว้างมาก แค่ขยับขึ้น 1% รายได้ก็เพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ตอนนี้ของเรายังปรับขึ้นไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่กลับมา”

 

สุดท้ายแล้ว การปรับโครงสร้างรายได้ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ‘ภาษี’ จะเริ่มต้นและปรับได้ต่อเนื่องหรือไม่ คงต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ดังนั้นการเปิดประเทศที่ล่าช้าเพราะวัคซีนที่กระจายสู่ประชาชนล่าช้า จะทำให้การปรับโครงสร้างภาษีไทยล่าช้าไปหรือไม่? จึงเป็นคำถามที่น่าชวนคิด

 

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X