×

‘ลดภาษี แจก 1 พันบาท’ ครม. เศรษฐกิจ เร่งชงมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ประชาชนเดือดร้อนจากโควิด-19 ระยะแรก

06.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (6 มีนาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานที่ประชุม, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ และอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมในชุดที่ 1

 

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในชุดที่ 1 (ระยะสั้น) มีกรอบระยะเวลา 2 เดือน โดยเป็นมาตรการที่ ครม. เศรษฐกิจต้องการนำเสนอเพื่อดูแล เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นมาตรการระยะ ‘ชั่วคราว’ สำหรับให้การช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ครอบคลุม 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และ 2. ประชาชน เพื่อแบ่งเบาภาระจากค่าใช้จ่าย และรายได้ที่ได้รับผลกระทบ

 

โดย ‘มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ’ ประกอบด้วย 1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารอื่นๆ ดอกเบี้ย 0.01% เพื่อปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ในดอกเบี้ย 2%, 2. พักเงินต้นและพิจารณาการผ่อนภาระดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ, 3. ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้,​ ลดอัตราดอกเบี้ยลง, เปลี่ยนประเภทวงเงินระยะสั้นเป็นระยะยาว และลดค่าธรรมเนียม เป็นต้น และ 4. สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษโดยสำนักงานประกันสังคม 

 

‘มาตรการช่วยเหลือประชาชน’ ประกอบด้วย 1. ให้เงินคนละไม่เกิน 1,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน ผ่าน e-Payment กับกลุ่มรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ 2. ปรับโครสร้างหนี้กลุ่มลูกหนี้บุคคล บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิมที่ต้องชำระเงินขั้นต่ำ 10% ของยอดคงค้างตามเกณฑ์เดิม ปรับให้ลดลง และปรับหนี้ที่มีการหมุนอย่างต่อเนื่องให้เป็น ‘หนี้ระยะยาว’ เพื่อลดภาระ

 

ขณะที่ ‘มาตรการด้านภาษี’ จะดำเนินการดังนี้ 1. ปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลดภาระผู้ประกอบการชั่วคราว 2. หักรายจ่ายดอกเบี้ย สำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมสินเชื่อ Soft Loan 3. SMEs นำรายจ่ายจากค่าจ้างมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า (รายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2563) และ 4. เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการ (ยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน) 

 

สำหรับ ‘มาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง’ ทาง ครม. เศรษฐกิจ ให้ข้อมูลว่าประกอบด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. พิจารณาให้หน่วยงานต่างๆ บรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนที่เก็บจากภาคเอกชน 2. มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ ค่าไฟ (พิจารณาตามความเหมาะสม) 3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง (พิจารณาตามความเหมาะสม) 4. ปรับปรุงขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างพัสดุรัฐ เร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐให้เร็ว และ 5. สร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน อาศัยกรอบกองทุน SSF เสนอให้ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 65% ชั่วคราวถึงเดือนมิถุนายน 2563 (ระยะถือครอง 10 ปี)

 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนว่า มาตรการชุดที่ 1 นี้ ไม่ได้ออกมาแล้วจบแค่นี้ เนื่องจากจะต้องมีการประเมินร่วมกันต่อจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า ‘ส่วนใดที่ยังขาด’ และต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งก็จะมีมาตรการตามออกมาเรื่อยๆ ขณะที่การใช้เงินจะใช้อย่างระมัดระวัง และพยายามให้ครอบคลุมในหลายๆ ส่วน 

 

ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการที่ผู้ประกอบการทั้งหลายในประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพราะเมื่อภาคการผลิตและการบริการได้รับผลกระทบ การจ้างงานและประชาชนทั่วไปก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

ด้านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ ครม. เศรษฐกิจ ระบุว่าอาจจะเริ่มได้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนในเฟสถัดไปที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้แล้ว 

 

ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ณ ปัจจุบัน ถือว่ามีความรุนแรงจากก่อนหน้าที่รัฐบาลเคยประมาณการว่าจะจบภายใน 3 เดือน และใช้ระยะเวลาอีก 3 เดือนต่อจากนั้นในการฟื้นสภาพสู่ปกติไว้พอสมควร โดยได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะกินระยะเวลานานถึง 6 เดือนและจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงรอยต่อระหว่างปลายไตรมาส 3 ถึงช่วงต้นไตรมาส 4 ซึ่งจะเข้าสู่พีกซีซันของประเทศไทยพอดี 

 

อย่างไรก็ดี กอบศักดิ์ย้ำว่ายังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มมีการรายงานข่าวออกมาแล้วว่าไวรัสโคโรนากำลังเข้าสู่ช่วงระยะของการกลายพันธุ์

 

ทั้งนี้หลังจากที่ ครม. เศรษฐกิจได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชุดที่ 1 ออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้จะดำเนินการนำเสนอมาตรการทั้งหมดเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อดำเนินการอนุมัติอีกครั้ง ก่อนจะเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเต็มๆ ในลำดับถัดไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X