โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตและความผันผวนอย่างหนัก ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งปัญหาการดำเนินธุรกิจที่ไม่โปร่งใสและขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชากรทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นแต่ผลกำไรอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ส่งผลให้ธุรกิจมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิดที่เรียกว่า ESG ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นพื้นฐาน 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)
ESG เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ระดับโลกด้านการลงทุนที่พิสูจน์ได้จากผลตอบแทนของหลายดัชนีความยั่งยืนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ นักลงทุนส่วนมากจึงนำปัจจัยด้าน ESG มาประกอบการตัดสินใจ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีระยะยาว พร้อมลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน เนื่องจากธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลัก ESG จะมีความเสี่ยงในการประกอบกิจการน้อยกว่าธุรกิจที่ละเลยหลักการนี้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงลบกับสิ่งแวดล้อม หรือขาดความโปร่งใสในการบริหารงาน มักเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือถูกสังคมต่อต้าน กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
นักลงทุนไทยเองก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และมุ่งดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสได้ด้วยหลากหลายวิธีการ การลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ และ/หรือ หุ้นไทยที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลัก ESG ที่ไม่เพียงสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ยังมาพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย
เทรนด์ความยั่งยืนกับการลงทุนในบริษัทที่โดดเด่นด้าน ESG
จากกระแสการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายหน่วยงานในต่างประเทศจัดทำดัชนีด้าน ESG เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่าหลักทรัพย์ตัวใดเข้าข่ายเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น MSCI ACWI ESG Leaders Index, Dow Jones Sustainability Europe Index และ Bloomberg MSCI Global Aggregate ESG Weighted Index อีกทั้งเม็ดเงินลงทุนใน ESG เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานจาก Bloomberg มูลค่าสินทรัพย์ ESG ทั่วโลกทะลุ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ภายในปี 2573
สำหรับประเทศไทย แนวทาง ESG เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจไทยมากขึ้น จากความต้องการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วน โดยในปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำ ‘รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)’ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงด้าน ESG จำนวน 51 บริษัท ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนชื่อจาก ‘รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)’ เป็น ‘หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’ พร้อมประกาศผลประเมินในรูปแบบ ESG Ratings ในปี 2566 เป็นปีแรก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings จำนวน 193 บริษัท เพิ่มขึ้นประมาณ 278% จากปี 2558 และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (อ้างอิง: SET ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจัดทำดัชนีความยั่งยืน (SETESG Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ของบริษัท อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการคลัง, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสนับสนุนการออมและการลงทุนระยะยาว เพิ่มเติมจากกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เปิดเงื่อนไข Thai ESG ใหม่ล่าสุด และกองทุนแนะนำ
กองทุน Thai ESG เป็นกองทุนน้องใหม่ในกลุ่มกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund: SRI Fund) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ และ/หรือ หุ้นไทยที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลัก ESG และเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับนักลงทุนระยะยาวพร้อมสิทธิทางภาษีเพิ่มเติมที่ไม่มียอดซื้อขั้นต่ำ และไม่มีข้อกำหนดในการลงทุนทุกปี นักลงทุนสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน หรือสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท และถือครอง 5 ปีจากวันซื้อ (แบบวันชนวัน) ตามเงื่อนไขใหม่สำหรับปีภาษี 2567 โดยวงเงินสำหรับกองทุน Thai ESG จะแยกจากวงเงินลดหย่อนภาษีที่กำหนดเพดานไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ (ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. และ กอช.) และประกันบำนาญรวมกัน
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในบริษัทที่มุ่งดำเนินกิจการตามแนวทาง ESG เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนอย่างยั่งยืน พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี ปัจจุบัน บลจ.ไทยพาณิชย์ มีผลิตภัณฑ์กองทุน Thai ESG ที่ตอบโจทย์การลงทุนทั้งหมด 3 กองทุน 3 สไตล์ นั่นคือ (1) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยผสมยั่งยืน (SCBTM) บริหารแบบยืดหยุ่น ผสมผสานตั้งแต่ 0-100% ระหว่างตราสารหนี้และหุ้นไทยที่มีความโดดเด่นทางด้าน ESG (2) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยยั่งยืนแอคทีฟ (SCBTA) เฟ้นหาหุ้นไทยจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่น ทั้งดำเนินธุรกิจตามหลักเกณฑ์ ESG ควบคู่ไปกับมีแนวโน้มขยายตัวทางธุรกิจที่ดีในระยะยาว พร้อมมีมูลค่าพื้นฐานน่าสนใจ (3) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยยั่งยืนพาสซีฟ (SCBTP) เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET ESG Total Return มุ่งสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด
โดยทั้ง 3 กองทุนมี 2 ชนิดหน่วยลงทุน ได้แก่ ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่มีการจ่ายเงินปันผล และชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนแบบสะสมมูลค่า (Thai ESGA) นอกจากนั้น บลจ.ไทยพาณิชย์ มีแผนเปิดตัวกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ไทยยั่งยืน (SCBTB) ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนแบบสะสมมูลค่า (Thai ESGA) ในเร็วๆ นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนกลุ่มความยั่งยืน เช่น Green Bond, Sustainability Bond หรือ Sustainability-Linked Bond เพื่อตอบโจทย์ครบทุกความต้องการของนักลงทุน
นักลงทุนที่สนใจและต้องการข้อมูลกองทุนเพิ่มเติม สามารถศึกษาหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 0 2777 7777 หรือ www.scbam.com
การลงทุนในกองทุนรวมมิใช่การฝากเงิน และผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ที่สนใจลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน SSF, RMF และ Thai ESG กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน