วันนี้ (7 มกราคม) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการคุมขังนอกเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์จะบังคับใช้ในเดือนมกราคมนี้ว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว หลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ต้องนำผลการรับฟังความคิดเห็นที่มีผู้สนใจจำนวนมากมาดูในรายละเอียด ซึ่งตนได้บอกให้ไปดู เพราะอาจมีคนที่กังวลใจ
ขณะนี้รับทราบว่ามีการประชุมกันอยู่ และโดยหลักการส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยหมด แต่มีรายละเอียด เช่น เรื่องสาธารณูปโภค หากไปอยู่ในสถานที่คุมขังที่เป็นสถานที่ราชการ หรือกล้องวงจรปิดที่ใช้ในการรายงานตัว หรือการติดกำไล EM ก็จะไปผูกโยงกับงบประมาณ จึงขอไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่มีอยู่
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีคนมองว่าจะออกมาให้คนใดคนหนึ่ง ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับคนใดคนหนึ่ง แต่เรือนจำประเทศเรามีความแออัดมาก และกรมราชทัณฑ์เหมือนถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิผู้ต้องขัง เราจึงจำเป็นต้องมีสถานที่คุมขัง ซึ่งเราก็มีสถานที่ราชการก็ดี เอกชนก็ดี และสถานที่ที่พร้อมจะจัดเป็นที่คุมขัง ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหลักนิติธรรมที่แท้จริง ไม่มีว่าเอามาช่วยเหลือคนนั้นคนนี้เด็ดขาด
ส่วนกรณีคุมขังเป็นบ้านพักส่วนตัวได้หรือไม่นั้น พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้มีระเบียบอยู่แล้ว และหากทำเช่นนั้นก็จะทำให้ถูกคุมขังมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องดูในเรื่องของการติดกล้องวงจรปิด ในสถานที่นั้นๆ อีกว่าจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้นก็จะต้องมีคนเข้าไปดูแลด้วย
4 กลุ่มได้รับพิจารณา
ส่วนกรณีผู้คุมขัง 4 กลุ่มที่จะได้รับการพิจารณา ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ได้รับการจำแนก 2. กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย 3. กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย 4. กลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย
พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า ทั้ง 4 กลุ่มนี้จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตั้งแต่ระดับเรือนจำ ระดับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปว่าไม่อยากให้ใช้ดุลยพินิจ ต้องการให้ใช้หลักเกณฑ์มากกว่า เพราะหลักเกณฑ์ถือเป็นกติการ่วมกัน และได้มาจากการรับฟังความคิดเห็นที่ทุกคนเห็นร่วมกัน และมีข้อเสนอแนะบางอย่างที่จะนำไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายราชทัณฑ์แล้ว
ส่วนจะสามารถสร้างอาคารใหม่เพิ่มเพื่อเป็นสถานที่คุมขังได้หรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เราได้รับงบประมาณในการปรับปรุงและก่อสร้างเรือนจำเพียง 1-2 เรือนจำต่องบประมาณ 1 ปี แต่เรือนจำเฉลี่ยอายุประมาณ 90 ปี มีกว่า 50 เรือนจำ และมีสภาพเสื่อมโทรม ในหลายประเทศอาจใช้วิธีคุมประพฤติ และเราพบว่าวันนี้ระบบการคุมประพฤติในประเทศไทยมีการทำผิดซ้ำน้อยกว่าระบบที่อยู่หลังกำแพง เพราะการคุมประพฤติได้อยู่ร่วมกับชุมชน และมีมาตรการคุมประพฤติที่หลากหลาย และในประเทศต่างๆ ก็ใช้ระบบการคุมประพฤติสำหรับโทษน้อย
ยิ่งลักษณ์ ไม่เข้าเกณฑ์
ส่วนกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากเดินทางกลับเข้าประเทศไทยจะเข้าสู่เกณฑ์การคุมประพฤติหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่าไม่เข้าเกณฑ์ใน 4 กลุ่ม เพราะโทษเกิน 5 ปี โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีโทษไม่เกิน 4 ปี ซึ่งเกณฑ์ก็ไม่ได้อยู่แล้ว
ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าหากมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษก็จะเข้าเกณฑ์นั้น พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดถึงประเด็นนั้น แต่ย้ำว่าหากเกิน 4 ปีไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานกรมราชทัณฑ์
ส่วนจะสามารถควบคุมนอกเรือนจำได้เมื่อไร พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ระเบียบนี้หลังมีขึ้นแล้ว ภายใน 90 วันต้องปฏิบัติตาม เพียงแต่ไม่มีการปฏิบัติ ซึ่งคนที่ออกระเบียบขณะนั้นอาจมีความกังวล ถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่มีภาวะผู้นำ การตัดสินใจปฏิบัติตามกฎหมายช้าก็จะทำให้เรื่องคาราคาซัง และเมื่อเราจะไปประกาศยกระดับนิติธรรมให้เป็นสากล มีการวัดและประเมินผลกรมราชทัณฑ์ จึงได้ผลประเมินต่ำสุดคือ 0.25 จากคะแนนเต็ม 1
ม.112 เข้าเกณฑ์ คุมขังนอกเรือนจำ
ทั้งนี้ การจำคุกนอกเรือนจำมีคนที่โดนคดี ม.112 อยู่ในการพิจารณาด้วย กังวลว่าจะถูกโจมตีทางการเมืองหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เรื่องความเป็นธรรม เราอย่าไปกลัวจะโดนโจมตี หากเรากล้าหาญที่จะให้ความเป็นธรรมและไม่อคติ