×

ทวียืนยัน ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำไม่ได้เอื้อยิ่งลักษณ์ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานติดต่อขออภัยโทษเฉพาะบุคคล

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2024
  • LOADING...
ทวี สอดส่อง

วันนี้ (26 สิงหาคม) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ที่ให้มีผลบังคับใช้ในทันที รวมถึงการจัดทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันนี้ 1 เรือนจำหรือทัณฑสถาน สามารถบรรจุจำนวนผู้ต้องขังได้ประมาณ 150,000-160,000 ราย และกฎหมายหรือกฎกระทรวงถือเป็นกฎหมายทันสมัย โดยมีการกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังป่วย

 

นอกจากนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีมาตรา 33 และมาตรา 34 ที่ต้องการให้มีที่คุมขังอื่น แต่ต้องไม่ใช่สถานที่คุมขังที่อำนวยความสะดวก เช่น มีสถานที่สำหรับเรียนหนังสือ สถานที่ฝึกอาชีพ ดังนั้นสถานที่คุมขังอื่น เดิมอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ตอนนี้ตนทราบว่า สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง หรือหลักเกณฑ์ เรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงต้องนำเรื่องรายงานเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการราชทัณฑ์ก่อน

 

โดยในชุดคณะกรรมการจะมีผู้แทนจากหน่วยต่างๆ มาช่วยดูรายละเอียด ทั้งจากอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นต้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ส่วนคนที่เข้าเกณฑ์อาจเช่นผู้ต้องขังเจ็บป่วย ผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปี หรือผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อว่า เกณฑ์ต่างๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่ใช่ผู้กำหนด แต่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภายในชุดคณะกรรมการราชทัณฑ์พิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้เรือนจำไม่ถูกมองว่าเป็นที่แออัดยัดเยียด จึงต้องให้เรือนจำแต่ละแห่งไปดูว่าสถานที่ใดจะใช้เป็นสถานที่คุมขังอื่นได้บ้าง และทุกที่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ จะทันกรอบสิ้นปี 2567 หรือไม่นั้นอยู่ที่แต่ละเรือนจำ และต้องรอการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่และคนสงสัย กฎหมายก็ต้องปฏิบัติได้จริง

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์อาจเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำนั้น เดิมทีกำหนดให้เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย หรือประมาณโทษ 4 ปี แต่ในระเบียบก็ไม่ได้มีการกำหนดอัตราโทษไว้ อยู่ที่เรือนจำแต่ละแห่งไปพิจารณาว่าผู้ต้องขังเด็ดขาดรายใดมีพฤติกรรมดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปก่อเหตุร้าย และไม่ไปยุ่งเหยิงสิ่งใด

 

ส่วนคดีข่มขืนหรือคดีที่มีการกระทำความผิดซ้ำ ตาม พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 หรือกฎหมาย JSOC ก็อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้ แต่หลักสำคัญของสถานที่คุมขังอื่นเพื่อพัฒนาพฤตินิสัย

 

ส่วนคดีทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่คดีการกระทำความผิดซ้ำตามกฎหมาย JSOC แต่ว่าส่วนใหญ่เราให้ความสำคัญ ให้ความระวัง เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างความรู้สึกของประชาชน แม้มีกฎหมายบัญญัติแต่ก็ต้องดูความเหมาะสมประกอบ

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อว่า ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับสิทธิประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำ ส่วนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีได้ทำมาตรา 89/1 สามารถให้ศาลมีคำสั่งไปอยู่บ้านได้หากเขาได้รับการประกันตัวชั่วคราว โดยศาลอาจมีเงื่อนไขให้ราชทัณฑ์ไปช่วยดูแลผู้ต้องขัง

 

มาตรการเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องขังที่ได้คุมขังสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ บางรายอาจต้องให้ศาลมีคำสั่งติดกำไล EM มีการรายงานตัวในระบบออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปสอดส่องตรวจตรา และบางส่วนอาจต้องมีการทำหนังสือลงนาม (MOU) กับตำรวจหรือทหาร เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าระเบียบคุมขังนอกเรือนจำไม่เกี่ยวข้องกับกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศเรื่องระเบียบคุมขังนอกเรือนจำออกมา ก็มีการคิดโยงไปว่าเกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้ผู้ต้องขังเสียโอกาสไปเยอะ ทั้งนี้ แม้เปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาลแล้ว แต่ในตอนนี้กระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้รับเรื่องประสานกรณียิ่งลักษณ์ว่าจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายแต่อย่างใด

 

ภาพ: พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising