×

ทวีชี้แจง กมธ.ความมั่นคงฯ ปมทักษิณรักษาตัวชั้น 14 ยืนยันเป็นไปตามความเห็นแพทย์ ไม่มีอภิสิทธิ์

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2024
  • LOADING...

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี รังสิมันต์​ โรม​ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน​ ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากรณี ทักษิณ​ ชินวัตร​ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

 

ทั้งนี้ กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญทักษิณ​มาชี้แจง​ด้วย ซึ่งส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ และลงรับในวันที่ 16 พฤศจิกายน ปรากฏว่า​ไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงหรือตอบรับเข้าร่วมประชุม สำหรับผู้ที่ตอบรับมา​คือ​ พ.ต.อ. ทวี​ สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม​ ส่วนกรมราชทัณฑ์​มอบหมายให้​ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ​ กลุ่มงานพักการลงโทษ​ เข้าชี้แจง​แทน​

 

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม​ กมธ.ความมั่นคงฯ ฝ่ายรัฐบาล​ เช่น ประยุทธ์​ ศิริพานิชย์​ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, สุธรรม แสงประทุม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ ซูการ์โน มะทา​ สส. ยะลา พรรคประชาชาติ​ ขอหารือว่า​อยากให้ประชุมลับ​เพื่อถกเถียงว่า กมธ.ความมั่นคงฯ มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ภายหลังกรมราชทัณฑ์ทำหนังสือท้วงติงว่า กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจ​ ทำให้ กมธ.ความมั่นคงฯ หลายคนกังวลว่า​จะขัดจริยธรรมและสุ่มเสี่ยงอาจถูกฟ้องเรื่องจริยธรรมได้ จึงอยากให้พิจารณาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่หากจะเดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้​ ควรจะหารือกันเป็นการภายในและคงต้องให้ พ.ต.อ. ทวี รอ​ไปก่อน

 

ขณะที่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส. ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ.ความมั่นคงฯ เห็นว่าสามารถพิจารณาได้ เพื่อให้การทำงานของ กมธ.ความมั่นคงฯ มีความโปร่งใส จึงอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบข้อมูล และควรที่จะเดินหน้าพิจารณาต่อ

 

ระหว่างที่ประชุมยังคงโต้เถียงกันไปมา ทำให้รังสิมันต์​ชี้แจงยืนยันว่า กมธ.ความมั่นคงฯ มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนจะประชุมสัปดาห์ถัดไป​ ในทุกวันศุกร์ก็จะต้องทำหนังสือรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร​ว่า​ กมธ.ความมั่นคงฯ จะประชุมเรื่องอะไรและเชิญใครบ้าง​ หากเรื่องใดที่ซ้ำซ้อนกับ กมธ.อื่น ประธานสภาก็จะท้วงติง​ แต่ในเรื่องนี้ประธานสภาไม่ได้ท้วงติงแต่อย่างใด​ ดังนั้น​จึงมองว่าให้ประชุมโดยเปิดเผยไปก่อนจนจบวาระนี้​ ส่วนหลังจากนั้น​ก็ยินดีที่จะให้เป็นการประชุมลับ​

 

แต่ปรากฏว่า กมธ.ความมั่นคงฯ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ​ไม่ยินยอม​ พร้อมยกเรื่องการแถลงข่าวตอบโต้ระหว่าง กมธ.ความมั่นคงฯ กับกรมราชทัณฑ์ขึ้นมา​ ในที่สุดรังสิมัน​ต์จึงตัดบท​ว่า​เมื่อทุกคนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ​ประยุทธ์​ก็ขอให้ประชุมลับเป็นการภายใน กมธ.ความมั่นคงฯ ก่อน​ จากนั้นจึงเชิญคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอภายนอก รวมถึงให้ พ.ต.อ. ทวี​ ไปพักรออีกห้องหนึ่ง

 

ยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย

 

ต่อมาเวลา 11.00 น. กมธ.ความมั่นคงฯ กลับเข้ามาประชุมในวาระกรณีทักษิณเข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวถึงการแบ่งเกรดของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าใช้ศักยภาพการรักษาเป็นเกณฑ์แบ่ง หากเห็นว่าโรคต่างๆ อย่างโรคหัวใจ หรือโรคกระดูก โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอก็จะต้องส่งตัวไปต่อ ซึ่งการอยู่ในโรงพยาบาลนั้นถือว่าเป็นที่คุมขัง เพราะหากหนีออกจากโรงพยาบาลหรือที่คุมขังก็จะมีโทษเช่นเดียวกัน

 

พ.ต.อ. ทวี มองว่าการรักษาพยาบาลต้องทำโดยเร็ว พร้อมชูเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบ แต่ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 จำกัดไว้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยินยอมให้เอกสาร ก่อนจะบอกรังสิมันต์ให้ระวังเอกสารลับเรื่องการรักษาตัว เนื่องจากมีสื่อมวลชนกำลังบันทึกภาพ และถามย้ำกับช่างภาพว่า​ถ่ายภาพติดหรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องสิทธิ

 

ชุติพงศ์สอบถามถึงการส่งตัวว่าได้จัดเจ้าหน้าที่ 2 คนในการควบคุมตัวไปด้วยหรือไม่ ภายหลังการตรวจสอบสิทธิการรักษาได้จับผู้ร่วมขังรวมกับผู้ต้องขังอื่นในชั้น 14 หรือไม่ อย่างไร และเจ้าพนักงานเรือนจำจดบันทึกผู้เข้าเยี่ยมและเวลาเข้าเยี่ยมหรือไม่

 

พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่าตามเอกสารที่ได้รับมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจัดเจ้าหน้าที่หลายคนผลัดกันเข้าเวรเพื่อควบคุมตัวไป โดยใช้ห้องควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนการเข้าเยี่ยมนั้นมีรายชื่อและรายการการเข้าเยี่ยมทั้งหมด

 

ส่วนการปฏิบัติเหมือนกรณีทั่วไปหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่แค่กรณีของทักษิณคนเดียว แต่โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ ผู้ป่วยจะแยกห้องเฉพาะ ไม่ได้รวมกับคนอื่น

 

ปิยรัฐ จงเทพ สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงฯ สอบถามถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 ว่าศาลเป็นผู้มีอำนาจในการให้อำนาจกับเรือนจำในการฝากขังหรือจำคุก กรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือแจ้งต่อศาลให้ทราบหรือไม่

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่าศาลเป็นผู้ลงโทษ ส่วนการปฏิบัติกับผู้ต้องขังเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ดังนั้นสำหรับนักโทษเด็ดขาดจึงไม่ต้องไปขอศาลอีก ย้ำว่าข้าราชการกรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจในกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วย ส่วนหากเป็นการตีความตามมาตรา 6 นั้นก็เป็นเรื่องของอนาคต

 

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร สอบถามถึงกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2563 ซึ่งระบุถึงคำว่าห้องพักพิเศษและห้องควบคุมพิเศษมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร และหอควบคุมผู้ป่วยพิเศษระดับสูงนั้นมีฐานะแบบใด หากเป็นห้องควบคุมพิเศษเป็นห้องควบคุมพิเศษอะไร

 

พ.ต.อ. ทวี ชี้แจงเรื่องการใช้ดุลพินิจว่ากฎกระทรวงระบุชัดเจนว่าสถานที่รักษา ยืนยันว่าคนที่เข้าเรือนจำต้องควบคุม และห้องที่ทักษิณอยู่นั้นคือห้องควบคุมพิเศษและที่รักษาด้วย สำหรับป้ายที่ติดอยู่หน้าห้องนั้นตนไม่ทราบ แต่เป็นที่รักษาคนทั่วไป ส่วนการควบคุมนั้น เนื่องจากทักษิณยังต้องราชทัณฑ์อยู่ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือไม่ให้เขาหลบหนีและไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย

 

ซูการ์โนถามว่าการอนุญาตให้เข้าเยี่ยมนั้นแต่ละเรือนจำทั่วประเทศปฏิบัติเท่าเทียมกันหรือไม่ ให้เฉพาะญาติเท่านั้นหรือให้เฉพาะญาตินำพาเข้าเท่านั้นใช่หรือไม่

 

เผย ทักษิณออกค่าใช้จ่ายเอง

 

ชุติพงศ์ถามอีกว่า กมธ.ความมั่นคงฯ จะขอเชิญ พ.ต.อ. ทวี เพื่อขออนุญาตขึ้นไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วยกันได้หรือไม่ สำหรับกรณีห้องพักพิเศษนั้น เมื่อกรมราชทัณฑ์ส่งผู้ต้องขังออกไปคุมขังนอกเรือนจำ โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาหรือไม่ หากเก็บค่ารักษาในกรณีการส่งตัวผู้ป่วยไปฝากไว้ที่ชั้น 14 เป็นเวลา 180 วันนั้น กรมราชทัณฑ์เสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไร และเป็นความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์หรือผู้ป่วยเองที่จะต้องจ่าย

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์เรื่องการติดต่อญาติ จะให้ผู้ต้องราชทัณฑ์เขียนรายชื่ออย่างน้อย 10 ชื่อ หากมากเกินไปจะไปตัดสิทธิในการเยี่ยมของคนอื่น ส่วนการที่จะให้ตนขึ้นไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจนั้นไม่มีปัญหา ขนาดการมาในวันนี้มีคนห้ามไม่ให้มาเพราะอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนก็ยังมา เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้ความจริงปรากฏ

 

สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น เมื่อตนได้คุยกับนายแพทย์ใหญ่ระบุว่าส่งเอกสารให้ ป.ป.ช. แล้ว ซึ่งระบุข้อมูลทั้งหมด เหลือเพียงเวชระเบียน เพราะเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และเป็นสิทธิของผู้ป่วยหากจะออกเอง เนื่องจากสิ่งที่เราทำร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือมอบหมายให้โรงพยาบาลที่รับลูกเป็นคนคิด หากจะถามเรื่องนี้ขอให้ถามกับโรงพยาบาลตำรวจและนายแพทย์ใหญ่ ทั้งยังระบุอีกว่าการส่งใบรักษาพยาบาลจะแก้ไขไม่ได้หากวันไหนต้องจ่ายค่ายาเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งตนเปิดเผยไม่ได้ แต่เป็นจำนวนที่สูง ผู้ป่วยจึงเป็นผู้ออกเองเนื่องจากไม่มีกฎหมายเขียนไว้

 

พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล เลขานุการ กมธ.ความมั่นคงฯ ถามว่าทักษิณได้รับส่วนลดหรือไม่ เนื่องจากค่าห้องพักแยกออกจากค่ารักษาพยาบาล และหากในอนาคตมีผู้ต้องขังที่อยากได้รับการรักษาเช่นนั้นบ้างจะต้องแจ้งหรือทำอย่างไร จากนั้น นพ.วาโย สอบถามถึงเรื่องการพักโทษด้วย

 

พ.ต.อ. ทวี​ กล่าวว่า​คนทั่วไปก็อยู่ห้องนั้นได้ ส่วนการรักษาพยาบาลทักษิณ​ไม่ขอใช้สิทธิ แต่ขอจ่ายเงินเอง ราคาห้องอาจมากกว่าที่คำนวณ เนื่องจากยังมีค่าหมอและค่ายา​ และการที่ทักษิณ​อยู่ในโรงพยาบาล​ตำรวจก็เหมือนอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว​ เพราะไม่ได้ออกไปไหน ส่วนการที่ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เพียงพอ​

 

รังสิมันต์​​แย้งว่า​มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน​ เนื่องจากครั้งที่แล้วกรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลกับ กมธ.ความมั่นคงฯ ว่าพยาบาล 2 ท่านเป็นผู้วินิจฉัยในการส่งตัวทักษิณ​ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ​ แต่ พ.ต.อ. ทวี เพิ่งบอกว่ามีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย​

 

พ.ต.อ. ทวี​ จึงชี้แจงว่า​แพทย์มาตรวจเวลา 11.00 น. ถึงรู้ว่าทักษิณเป็นโรคเยอะ ดังนั้นในช่วงกลางคืน​พยาบาลจึงส่งตัวตามคำแนะนำของแพทย์​ในตอนเช้า​ และตามกฎหมายก็เขียนให้พยาบาลเป็นผู้ส่งตัว​ ไม่ได้ให้แพทย์เป็นผู้ส่งตัว​ ไม่มีอะไรที่จะผิดกฎหมาย

 

พ.ต.อ. ทวี​ กล่าวย้ำว่า​ในฐานะรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นแพทย์ได้ให้ความเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุทั้งหมด อีกทั้งยังเหลือโทษไม่มาก การให้คะแนนจึงเป็น 9 คะแนน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยโรคดีกว่าและเป็นผู้วินิจฉัยว่าเข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด มีโรคหลายโรคโดยไม่มีผู้อื่นเห็นแย้ง และอัยการก็ระบุถึงการพิจารณาเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ และการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจถือเป็นการจำคุก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำ เพราะมีผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

 

“เพราะฉะนั้นหากจะให้ผมวินิจฉัยโรค ผมคงชอบให้หมอวินิจฉัยมากกว่า เพราะถ้าให้ผมเป็นคนให้ยา คุณรังสิมันต์ก็คงไม่เอาเหมือนกัน ผมยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เอกสาร ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” พ.ต.อ. ทวี กล่าว

 

รังสิมันต์ถามต่อว่า​เข้าใจว่า พ.ต.อ. ทวี ไม่ใช่แพทย์ แต่ผลที่ออกมาเหมือนจะเป็นไปตามนั้น เพราะดูทักษิณสุขภาพดี ช่วยเหลือตัวเองได้ จึงขอถามอีกว่าได้ตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเป็นการใช้อำนาจมิชอบด้วยหรือไม่

 

พ.ต.อ. ทวี ชี้แจงอีกว่าให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมไปตรวจสอบ และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ตรวจสอบกรณีนี้แล้ว ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และยุติเรื่องไปแล้ว ยืนยันว่าการพิจารณาการพักโทษของแต่ละคนจะพิจารณากันหนักมาก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X