×

ทนายอัปเดตอาการ ‘ตะวัน-แบม’ อดอาหารและน้ำเข้าสู่วันที่ 13 รายงานทีมแพทย์เผยผู้ป่วยไม่กลัวตาย หากนำมาซึ่งความยุติธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
30.01.2023
  • LOADING...

จากกรณี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม สองนักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกาศถอนประกันตนเอง อดอาหารและน้ำประท้วงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองหลายคนถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัวอย่างไม่เป็นธรรม 

 

ล่าสุด วันนี้ (30 มกราคม) เป็นวันที่ 13 ที่ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ รวมทั้งปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวทั้งสองคนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  

 

ต่อมาทนายความของทานตะวันและอรวรรณ เปิดเผยความคืบหน้าต่อสาธารณชน กรณีทั้งสองคนอดอาหารและน้ำประท้วง ดังต่อไปนี้

 

ในวันที่ 30 มกราคม 2566 ทนายความได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อเข้าเยี่ยมตะวันและแบม จากการสอบถามพูดคุยพบว่าในวันนี้มีเพื่อนและครอบครัวมาเยี่ยม รวมถึงได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเยี่ยมด้วยเป็นจำนวน 3 คน นอกจากนั้นแล้วในวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2566 เวลา 15.15-17.00 น. ยังมีคณะอาจารย์แพทย์มาเข้าพบกับทั้งสองคน โดยเป็นอาจารย์แพทย์ทั้งสิ้นจำนวน 5 คน

 

จากการสรุปรายงานของแพทย์ระบุว่า ทานตะวันตื่นรู้ตัวดี อ่อนเพลีย ปากแห้ง หลับเป็นพักๆ เนื่องจากมีอาการร้อนในตัว แสบร้อนกลางอก เจ็บแปลบที่หน้าอกข้างซ้ายเวลาตะแคงตัว สามารถโต้ตอบได้และอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติเหมาะสมกับเรื่องที่พูดคุย 

 

อรวรรณตื่นรู้ตัวดี อ่อนเพลีย ปากแห้ง ปวดกรามทั้งสองข้าง นอนหลับเป็นพักๆ เนื่องจากไม่สุขสบายและกัดฟัน สามารถโต้ตอบได้และอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติเหมาะสมกับเรื่องที่พูดคุย โดยทั้งคู่มีค่าคีโตน (Ketone) สูงขึ้นกว่าเดิมมาก กล่าวคือ ตะวันมีค่าคีโตนอยู่ที่ 4.98 จากเดิม 2.40 และแบมมีค่าคีโตนอยู่ที่ 5.31 จากเดิม 2.16 (ผลตรวจจากวันที่ 25 มกราคม 2566) ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายเผาผลาญกล้ามเนื้อไปเป็นจำนวนมาก

 

ตะวันและแบมได้เล่าให้ฟังอีกว่า จากการพบเจออาจารย์หมอทั้ง 5 ท่าน ได้มีแพทย์ขอร้องให้จิบน้ำเพื่อบรรเทาอาการ สุดท้ายทั้งคู่จึงยอมจิบน้ำ และยอมทา K-Y Jelly ไป 

 

โดยในรายงานของทีมแพทย์ผู้ดูแล ใต้หัวข้อ ‘MSE’ ของตะวันและแบมระบุว่า “มีความตั้งใจในการอดอาหารเพื่อเรียกร้องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ไม่ได้ปรารถนาจะจบชีวิตตนเอง ซึ่งรับทราบว่าการอดอาหารมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ไม่ได้แสดงความกลัวต่อความเสี่ยงนั้น”

 

รายงานของแพทย์ยังระบุภายใต้หัวข้อ “การสื่อสารของนางสาวทานตะวันและนางสาวอรวรรณต่อสังคม” ว่า

 

  • ไม่กลัวตาย หากการตายนี้จะนำมาซึ่งความยุติธรรมและอิสรภาพของผู้ที่ออกมาเรียกร้องและถูกดำเนินคดี เพียงเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ลดลง การมีชีวิตและประเทศชาติที่ดีขึ้น ก็ยินดีเสียชีวิต

 

“การเลือกวิธีการอดอาหารและน้ำเป็นแนวคิดที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงมีผลชัดเจนและรวดเร็ว”

 

  • อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การตาย และเห็นว่าการมีชีวิตต่อเพื่อการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักสำคัญ ยังเป็นประเด็นที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

 

  • เยาวชนเป็นผู้ที่ดูแลประเทศชาตินี้ต่อไป ชาติควรดูแลให้เยาวชนเติบโตต่อไปอย่างแข็งแรงเพื่อให้ดูแลประเทศ แทนการกระทำอะไรบางอย่างให้เยาวชนเกิดอุปสรรคต่อการเติบโตพัฒนา

 

ทนายความขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ไปยังคณะแพทย์หรือ ‘อาจารย์หมอ’ ทั้ง 5 ท่าน ผู้ได้เข้าตรวจอาการของตะวันและแบม ในวันที่ 29 มกราคม 2566

 

ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X