วานนี้ (31 มกราคม) สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์รายการ THE STANDARD NOW เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD ดำเนินรายการโดย ออฟ-พลวุฒิ สงสกุล กรณีตะวัน-แบม 2 นักกิจกรรมอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม
สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามกฎหมายศาลต้องพิจารณาจากเอกสารหรือเรื่องที่เข้ามาเป็นคดีความแต่ละเรื่อง ส่วนข้อมูลที่ปรากฏในสื่อนั้นมีได้หลากหลาย แต่ว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลตามกฎหมายต้องมีเรื่องเอกสาร ซึ่งเป็นคำร้อง คำขอจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ศาลพิจารณาว่าตอนนี้เกิดข้อเท็จจริงอะไรบ้าง และสิ่งที่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาสั่งมีอะไรบ้าง หากยื่นตามขั้นตอนแบบนี้ ศาลจึงสามารถพิจารณามีคำสั่งรวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ ได้
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เข้าไปสู่สำนวนการพิจารณาของศาลอย่างเป็นทางการ
คดีอื่นบางคดีมีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง ใช้วัตถุระเบิดด้วย แต่สำหรับน้องทั้ง 2 คนไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ใช้ความรุนแรงอะไร เพียงแต่สาเหตุที่มีการใช้เงื่อนไขต่างๆ เพราะว่าในครั้งแรกที่มีการปล่อยชั่วคราวหรือประกันตัวไป บังเอิญมีการผิดเงื่อนไขในครั้งแรก ฉะนั้น ครั้งที่ 2 จึงมีการเพิ่มเงื่อนไขเข้าไป แต่เงื่อนไขเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามพฤติการณ์ของแต่ละคดีอยู่แล้ว ถ้าต่อไปไม่มีปัญหาข้อขัดข้อง เงื่อนไขต่างๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้
ขณะน้องทั้ง 2 คนได้ประกันตัวไว้อยู่แล้ว และจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ทั้ง 2 คนมายื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเอง ฉะนั้น ลักษณะพฤติการณ์เท่ากับว่าตอนที่มาขอถอนประกันยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นการผิดเงื่อนไขที่เกิดขึ้น พอยังไม่ผิดเงื่อนไขประกันตัว โดยสภาพก็มีความเป็นไปได้สูงอยู่แล้วว่าถ้ามีการร้องเข้ามาหรือปล่อยชั่วคราวอีกครั้งก็น่าจะได้รับการพิจารณาในทางที่เป็นคุณว่าจะให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวไป
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ยังไม่มีใครที่ทำเรื่องอย่างเป็นทางการยื่นเข้ามา สำนวนคดีที่จะให้ศาลพิจารณาว่า ขณะนี้จริงๆ แล้วสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคนที่ทำเรื่องได้จริงๆ อาจจะไม่ต้องเป็นตัวน้องทั้ง 2 คนเอง เพราะแม้แต่บิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งสมมติหน่วยราชการที่ดูแล ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลก็แล้วแต่ ถ้ามีการทำข้อเท็จจริงเข้ามาอย่างเป็นทางการ กระบวนพิจารณาของศาลจะได้เริ่มต้นต่อได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องเข้ามาอย่างเป็นทางการ
ศาลเป็นหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย จึงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะบังคับใช้กับใครหรือไม่บังคับใช้กับใคร
“ถ้าบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือญาติพี่น้องมีความเป็นห่วงน้อง และไม่อยากให้สภาพอย่างนี้ดำเนินต่อไป ทางที่ดีที่สุด และไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย คือสามารถเดินทางไปที่ศาล ไม่จำเป็นต้องเป็นศาลอาญาที่ถนนรัชดาภิเษก จะเป็นศาลอาญากรุงเทพใต้ก็แล้วแต่ ยื่นคำร้อง 1 ใบ ไม่ต้องมีเงินทอง ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ ขอเพียงแค่ยื่นคำร้องและบรรยายพฤติการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และอยากจะให้ศาลพิจารณาในลักษณะไหน อย่างไรบ้าง เรื่องต่างๆ ก็จะดำเนินการต่อไปได้ ในทางกฎหมายศาลไม่สามารถจะไปหยิบข่าวจากสื่อมวลชนมาดำเนินการได้เอง เพราะว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องมีการตรวจสอบ ต้องดูอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถหยิบอะไรมาวินิจฉัยโดยพลการ ต้องมีเรื่องอย่างเป็นทางการเข้ามาในสำนวนคดี ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยาก” สรวิศกล่าว
ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม