×

ทวิดา ขยายความสิ่งที่สะท้อนจากระบบ Traffy Fondue คือประชาธิปไตย-ทลายไซโล-ตัดตอนสายการบังคับบัญชา

โดย THE STANDARD TEAM
08.08.2022
  • LOADING...
Traffy Fondue

วานนี้ (7 สิงหาคม) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงการใช้งานระบบ Traffy Fondue ในการปฐมนิเทศนักศึกษา โครงการปริญญาโท สาขาวิชาบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ สำหรับนักบริหาร รุ่นที่ 34 (EPA 34) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า

 

การทำงานของ Traffy Fondue ที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นำมาใช้นั้น มี 3 คำที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. ประชาธิปไตย 2. ทลายไซโล 3. ตัดตอนสายการบังคับบัญชา ซึ่งหมายถึงคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ย่อมมีสิทธิได้รับการรับฟังความเดือดร้อน ซึ่งคือความเป็นประชาธิปไตย และเกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานใน กทม. เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนโดยอัตโนมัติ เป็นการทลายไซโลที่มีลักษณะแบบแยกส่วนหรือต่างคนต่างทำ อีกทั้งเมื่อความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่ระบบแล้ว ทุกคน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่เขต, ผู้อำนวยการเขต, ผู้อำนวยการสำนัก, รองปลัด กทม., ปลัด กทม. และรองผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นพร้อมกันกับผู้ว่าฯ กทม. ว่าเรื่องราวเหล่านั้นถูกรับมือโดยเขตพื้นที่อย่างไร เป็นการตัดตอนสายการบังคับบัญชา

 

ทวิดากล่าวต่อไปว่า เป็นเวลากว่า 60 วันหลังจากการใช้ระบบดังกล่าว กทม. มีเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนกว่า 120,000 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จไปเกือบ 60,000 เรื่อง แม้ว่าการแก้ไขปัญหาแล้ว 50% อาจไม่ใช่สัดส่วนที่สูง แต่หากมองในมุมการจัดการบริการสาธารณะแล้ว เรื่องกว่า 60,000 เรื่องได้รับการแก้ไขจนเสร็จจาก 50 เขตพื้นที่ ภายในเวลาน้อยกว่า 2 เดือน ทั้งที่สำนักงานเขตไม่ได้มีบุคลากรเพิ่มแม้แต่คนเดียว แต่ทุกคนในสำนักงานเขตทุกเขตพร้อมใจกันทำงาน ทุกคนทำเต็มที่และเหนื่อยมาก 

 

“ในทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสายนโยบายและการบริหารระบบราชการ Traffy Fondue สะท้อนให้เห็นตั้งแต่นโยบายการลงมือกระจายอำนาจ การตัดสินใจไปที่สำนักงานเขต การประสานงานข้ามสำนักหลักต่างๆ และหน่วยงานนอกขอบเขตของ กทม. การตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนบนประสิทธิภาพความรวดเร็วที่มีประสิทธิผลที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึง การทำให้ความเดือดร้อนของตนเองได้รับการได้ยินเท่ากัน ผ่านเทคโนโลยีบนผ้าใบผืนใหญ่ของ 50 เขต 

 

“คำสำคัญทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นคำพื้นฐานของการบริหารจัดการความร่วมแรงร่วมใจ เพราะมีพื้นฐานจากการทำให้ความเชื่อใจว่างานถูกทำ ปัญหาถูกแก้ มีกลไกมารองรับในการบันทึกรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ด้วยเป้าหมายเดียวกันง่ายๆ คือ ปัญหาประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไข” ทวิดากล่าว 

 

ทวิดายังกล่าวถึงสิ่งที่ควรระวังสำหรับ Traffy Fondue คือความไม่เท่าทันของระบบต่อปัญหาการปฏิบัติงาน และภาระงานที่ระบบจะสะท้อนให้เห็นในเร็ววัน ซึ่งทีมพัฒนา Traffy Fondue วสันต์ ภัทรอธิคม และผู้ว่าฯ กทม. ตระหนักในเรื่องนี้ โดยวสันต์ติดตามแก้ไขความสะดวกในการใช้งานระบบให้สำนักงานเขตตลอดเวลา โดยมีผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ดูข้อขัดข้องของระบบที่สำนักงานเขตแทบทุกสัปดาห์ และทุกครั้งของกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ชัชชาติจะถามเจ้าหน้าที่เป็นคำถามแรกเสมอว่า “Traffy Fondue มันช่วยหรือมันทำให้ลำบากกว่ากัน บอกผมได้นะ”

 

สำหรับการแก้ปัญหาตามระบบ Traffy Fondue ภายใน 24-72 ชั่วโมงนั้น ทวิดากล่าวว่า มีทั้งที่ได้เลยและไม่ใช่ เช่น ผิวถนนของทางหลวง เสาของการไฟฟ้า ท่อของการประปา หรือบางเรื่องเป็นส่วนของตำรวจ เรื่องเหล่านี้แรกๆ กลายเป็นกองงานค้างในระบบของ กทม. วสันต์จึงแก้ไขให้มีการประสานส่งต่อ ทำให้เรื่องค้างในระบบหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง เขตก็มีกำลังใจขึ้น ในขณะเดียวกัน ได้มีข้อบ่นปนข้อเสนอของประชาชนมามากมายที่ต้องการการแก้ไขเชิงนโยบายในระยะกลางถึงระยะยาว ผู้ว่าฯ กทม. จึงให้ย้ายเข้ากล่องแก้ไขเชิงนโยบาย

 

ทวิดากล่าวต่ออีกว่า หากทำความเข้าใจระบบ Traffy Fondue ให้ดีจะพบว่าสามารถตัดตอนได้หลายอย่าง โดยไม่ต้องรื้อถอนโครงสร้าง ทำให้งานประสานกันโดยกลไกไม่ใช่จิตสำนึก กระจายอำนาจโดยไม่ต้องอาศัยว่าเบอร์หนึ่งในพื้นที่คือใคร ประเมินผลงานผู้อำนวยการเขตได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยความรู้สึกรับผิดชอบในฐานะพลเมืองมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising