ทวิดา กมลเวชช เป็นหนึ่งในทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง
สำหรับทวิดา ตำแหน่งสุดท้ายคือ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะลาออกมารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.
24 ปีในบทบาทความเป็นครู หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย หลายคนเชื่อว่าทวิดาคงมุ่นมั่นในบทบาทนี้ไปอีกยาวนาน แต่ทว่าทวิดาได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ เปลี่ยนเส้นทางชีวิตด้วยการก้าวเข้ามาเป็นรองพ่อเมือง
THE STANDARD ขอชวนทุกคนไปทำความรู้จัก ‘ทวิดา กมลเวชช’ จากบทบาทอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ สู่การลงมือปฏิบัติในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. ที่มีภารกิจใหญ่รออยู่ในหนทางข้างหน้า
ก่อนมานั่งตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. อาจารย์ทวิดาได้ติดต่อพูดคุย รู้จักกับอาจารย์ชัชชาติ มานานแค่ไหน
เป็นฝ่ายรู้จักอาจารย์ชัชชาติก่อน เพราะคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเชิญอาจารย์ชัชชาติมาบรรยาย เป็นวิทยากรพิเศษ สักประมาณ 8-9 ปีที่แล้วไม่เกิน 10 ปี แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย จนกระทั่ง 3-4 ปีที่แล้วช่วงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใหม่ๆ เป็นช่วงที่อาจารย์ชัชชาติประกาศเจตนารมณ์สนใจลงผู้ว่าฯ กทม.
ท่านมีทีมของท่านซึ่งพยายามหาคนที่ใกล้ชิดกับ กทม. ในแง่นักวิชาการ แล้วบังเอิญเราได้ทำโครงการวิจัยให้ กทม. ค่อนข้างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสได้เจอกัน
พอเจอก็คุยกันแบบนักวิชาการ เป็นการติดต่อกันแบบนั้น แต่ที่ชอบคือวิธีการของอาจารย์ชัชชาติแตกต่างจากผู้ที่สนใจ กทม. คนอื่นๆ เวลาให้เราช่วยในแง่การเมืองหรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นคนอื่นคงมาถามเราเป็นเรื่องๆ ไปแล้วก็เลิกกัน แต่อาจารย์ชัชชาติบางทีใช้วิธีมานั่งฟังเราเป็นชั่วโมงๆ ว่าเราคิดเห็นอย่างไร ทั้งเรื่องภายใน กทม. การทำงานของ กทม. คน กทม. และงานของ กทม. คือมาใช้เวลา ส่งทีมมาถามข้อมูล ทำให้เรารู้สึกมีนักเรียนนอกห้องอยู่กลุ่มหนึ่ง บางคำถามเราก็ตอบไม่ได้ บอกให้รอก่อน เดี๋ยวไปหาคำตอบ ก็รู้สึกดีมีคนคุยด้วย
อาจารย์ชัชชาติมาชวนตอนไหน
จริงๆ ทราบว่ามีข่าวลือในช่วง 3-4 เดือนหลังมาตลอดว่าใช่หรือเปล่าเห็นทำงานเยอะ ก่อนหน้าที่อาจารย์ชัชชาติจะคุยด้วย แต่ไม่มีการทาบทามหรือคุยอะไรจริงจังเลย จนกระทั่งประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ท่านอาจารย์ชัชชาติก็ถามมาค่อนข้างบ่อยว่าเห็นเป็นอย่างไรต่อแคมเปญ หรือต่อนโยบายต่างๆ ที่ทำ ลองให้วิพากษ์วิจารณ์ดู จนกระทั่งวันที่นับคะแนนวันนั้นเลย
แล้วก็ทราบจากท่านประธานที่ปรึกษา ท่านต่อศักดิ์ โชติมงคล ว่าอาจารย์ชัชชาติค่อนข้างเก็บการตัดสินใจเรื่องนี้ไว้กับตัวและคนสนิทเพียงไม่กี่คนจริงๆ ดังนั้นก็คงเงียบหน่อยและก็เข้าใจว่าตัวเองเป็น 1 ใน 2 ของเซอร์ไพรส์คือ ทวิดา กับ ศานนท์
พอได้รับการชวนแล้วตอบตกลงเลยหรือไม่
ไม่ ตอนนั้นนิ่งไป สตันท์มาก เพราะแกก็ไม่มีปี่มีขลุ่ย วันนั้นยังนั่งวิพากษ์วิจารณ์ผลการเลือกตั้งตามสถานีโทรทัศน์อยู่เลย ตอนนั้นจะไปแสดงความยินดี แล้วแกก็ถามว่า อาจารย์เป็นรองผู้ว่าฯ ให้ผมไหม ถามเหมือนกินข้าวยัง
ตอนนั้นในใจก็ตีกันอยู่ เพราะเป็นคนรักคณะรัฐศาสตร์มาก อยู่ดีๆ ลุกมา แล้วอนาคตข้างหน้ามันไม่เท่าสิ่งที่เราลุกมา ตอนนั้นตอบไม่ได้ คำถามแรกถามสวนกลับไปว่ามีเวลาคิดกี่วัน อาจารย์ชัชชาติตอบกลับมาว่า 2 วัน แล้วให้จัดการตัวเองให้เรียบร้อย คือภายในวันที่ 1 มิถุนายน
เหตุที่ตัดสินใจมา
เป็นความรู้สึกในใจ มีความประทับใจในตัวแกแน่นอน คือเรารู้สึกว่าเราอยู่กับ กทม. มาพอสมควร เรารู้ว่า กทม. จริงๆ มีศักยภาพ แล้วคนหลายๆ คนใน กทม. รอผู้นำในลักษณะนี้อยู่ เรารู้ เราอยากให้คนคนนี้เข้าไปทำ แล้วเขามาขอให้เราช่วย แล้วในมุมหนึ่งเราเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการมาก ในแวดวงวิชาการเราอาจจะไม่ใช่คนเก่งอะไรมากมาย เราอยู่ในสายปฏิบัติเสียเยอะ บางทีก็อยากลอง ถ้าเราลองช่วยสักตั้ง ทำเต็มสุดกำลังความสามารถ แล้วเราเป็นคนกรุงเทพฯ
เหมือนออกจากเซฟโซนไหม
ออกจากเซฟโซนเลย ในฐานะนักวิชาการแต่ก่อนเราเคยวิพากษ์ไว้ ต้องแก้อย่างนั้นทำอย่างนี้ เรามีหลักการของเรา วันนี้สลับกัน เราจะเป็นฝ่ายโดนบ้าง ลองดูว่าเราไปได้ถึงไหน เป็นการออกจากเซฟโซนโดยที่รู้แน่ๆ ว่าจะมาเจอเสียงก่นด่าอะไร รู้เลยกำลังออกมาอยู่ในโซนอันตรายเพราะเราเป็นฝ่ายเคยทำเช่นนั้นก่อน อันนี้ก็กดดัน
หน้าที่ของรองผู้ว่าฯ ที่ได้รับมอบหมาย
ดูแลเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ สาธารณสุขอนามัย และสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้น เป็นงานหลักที่ต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ของ กทม. และดูแลแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้กำกับการทำงานของ กทม. รวมทั้งคณะกรรมการข้าราชการ คือ 7-8 หมื่นคนที่เป็นข้าราชการ
ปกติการบริหารมี งาน-เงิน-คน ตอนนี้ งาน กับ คน อยู่กับเรา แล้วต้องดูมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชด้วย อยู่ภายใต้การกำกับของ กทม. มหาวิทยาลัยสำหรับการพัฒนาเมือง
ได้ไปคุยกับข้าราชการประจำใน กทม. หรือยัง ฟีดแบ็กการต้อนรับเป็นอย่างไร
สงสัยจะได้อิทธิพลชัชชาติฟีเวอร์กันทั้งคู่กับรองฯ ศานนท์ เรารู้เขาไม่ได้กรี๊ดให้เรา แต่ขอรับกระแสออร่ากระแสนี้มาด้วย จริงๆ อยู่ กทม. มาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อก็เคยทำงานใน กทม. ก็ติดตามคุณพ่อตั้งแต่เด็ก บรรยากาศแบบนี้เลยตั้งแต่เด็กจนโต
จริงๆ ด้วยความที่ร่วมทีมอาจารย์ชัชชาติ จึงได้กระแสแบบนี้มาด้วย ทุกคนอยากจะทำงานและกระตือรือร้นขึ้นในสปีดที่ทำ โดยส่วนตัวก็พอจะมีลูกศิษย์อยู่ใน กทม. พอสมควร เป็นคนคุ้นเคยจากการทำงานช่วย กทม. มาพอสมควร เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าเท่าไร แต่พอเราเปลี่ยนบทบาทอาจจะมีบางท่านมองว่าเราจะไปจับผิดไหม จะไปกดดันอะไรเขาไหม ก็คงมีความรู้สึกกลัวๆ นี้อยู่ แต่เท่าที่พูดคุยทุกคนก็อยากทำงาน เราก็เชื่อเช่นนั้น
สิ่งที่ กทม. ต้องทำเร่งด่วน ในมุมอาจารย์คืออะไรบ้าง
สองเรื่องใหญ่ๆ ที่ติดอยู่ในใจ ถ้าเสกได้อยากเสกพรุ่งนี้เลย
- ระบบข้อมูล กทม. ต้องสังคายนายกใหญ่ ทั้งตัวคุณภาพและวิธีการใช้ข้อมูลเพื่อให้เราตัดสินใจดำเนินกิจการไปได้ จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรง ต้องมีข้อมูล ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทำ ตอนนี้ระบบข้อมูล งาน-เงิน-คน ยังไม่เชื่อมกัน จะส่งผลต่อการติดตามและประเมินผลความคุ้มค่าการใช้งบประมาณหรือผลงานเกิดขึ้นได้ค่อนข้างลำบาก ถ้าไม่ทำงานนี้งานอื่นทำต่อไม่ได้
- โครงสร้างการบริหารงาน ระบบบริหารงานทั้งหมดของ กทม. ต้องยกกระชับ ไม่ใช้คำว่ายกระดับ เดี๋ยวจะเป็นการบอกว่าไม่ดี ต้องยกกระชับเนื่องจากเป็นระบบราชการมานาน เราจะต้องทำให้ระบบกระชับฉับไวแคล่วคล่องและทันสมัยกว่าในคอนเซ็ปต์ที่มี ไม่อย่างนั้นไม่น่าจะตอบสนองงานซึ่งต้องอาศัยความเชื่อมโยงหลายเรื่องไม่ว่าจะดิจิทัลหรืออะนาล็อก
การรับมือโรคระบาด ที่ผ่านมายุคผู้ว่าฯ อัศวิน เคยมีเหตุการณ์ที่ กทม. ตัดสินใจออกประกาศไปแล้ว ปรากฏ ศบค. ออกมาประกาศหักล้างของ กทม. อาจารย์คิดว่ามีโอกาสจะเกิดปัญหานี้อีกหรือไม่
พูดอย่างยุติธรรม เราต่างฝ่ายต่างก็เรียนรู้จากเหตุการณ์คราวที่แล้ว อันนี้ใช้คำว่าเราในฐานะรองผู้ว่าฯ แต่ในอีกมุมหนึ่งในฐานะเคยเป็นนักวิชาการ เราเป็นคนพูดเองว่าครั้งที่แล้วเกิดจากการสื่อสารกันไม่ครบความ ไม่ได้คุยกัน เราพยายามตัดโหมดคำว่าการเมืองออก เพราะงานนี้เป็นสองเรื่องคู่กัน คือชีวิตของประชาชนในมุมที่เป็นโรคภัย กับชีวิตของประชาชนในแง่ที่เขาจะใช้ชีวิตของเขา
เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเป้าหมายแบบนี้ จริงๆ ทั้งสองฝ่ายตอนนี้ การประชุมเราก็มีเกณฑ์ของสาธารณสุขมาปู เราไม่ได้คิดเอง เราคิดบนกรอบกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมอนามัย เราทำทั้งสองอย่าง แล้วก็ปูของ กทม. ว่าเราจะไม่หย่อนยาน ในขณะเดียวกันจะกำกับอย่างไรให้ประชาชนของเราผ่อนได้อย่างที่เขาอยากทำโดยที่เขาปลอดภัย
อาจารย์ชัชชาติเองก็มีเจตนาที่จะรอฟังว่าทาง ศบค.ใหญ่เอาอย่างไร ระเบียบเดิมที่มี ประกาศเดิมที่มี มันทำให้เราทำอะไรไม่ได้แค่ไหน เราก็จะทำเท่าที่เราสามารถทำได้ และหวังจะได้ความเห็นชอบในการช่วยเรากำกับจากสาธารณสุข วิธีการทำงานแบบนี้เป็นวิธีการที่เรายอมรับว่าเราทำอะไรได้เท่ากับศักยภาพที่เราไปนำเสนอ ขอความกรุณาให้ทางกระทรวงพิจารณา และช่วยให้ประชาชนยิ้มได้มากกว่านี้สักหน่อย คิดว่าน่าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยงานกัน กทม. ทำคนเดียวไม่ได้ เราคิดเผื่อว่าจะเชื่อมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างไร
วันนี้เพิ่งไปขอความร่วมมือผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งประชุมกัน ทุกท่านยินดีให้ความช่วยเหลือ น่าจะไม่มีปัญหาแบบเดิมอีก
ตอนนี้อาจารย์ชัชชาติและทีมเป็นความหวังที่จะทำให้ กทม. เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อาจกดดัน แต่มีความเชื่อมั่นหรือไม่ว่า 4 ปี กทม. เปลี่ยนแปลงไปแน่นอน
ถ้าตอบแบบท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะบอกว่า 4 ปีนานไป ที่ว่ากดดันนี่ เราอาจจะไม่ได้กดดันจากความคาดหวังอย่างเดียว เรากดดันจากตัวท่านผู้ว่าฯ เราเองด้วย
อาจารย์ชัชชาติเคยตอบคำถามนี้ไว้แล้ว ตอบได้ดีมากจนไม่รู้จะตอบดีไปกว่านี้อย่างไร ปกติไม่ลอกเลียนคำพูดใคร คือทุกครั้งที่ใครมาแสดงความยินดีฝากความหวัง อาจารย์ชัชชาติจะตอบว่ามาร่วมมือกันครับ ผมทำคนเดียวไม่ได้ คำนี้มีความหมายเยอะมาก การที่เรารู้ว่าคนมีความหวังกับเรา มีความหวังเยอะ อาจารย์ชัชชาติเองก็ทราบ
เราพยายามรันงานให้เห็นไวๆ แต่ทำเองไม่ได้ ความร่วมมือไม่ใช่แค่จาก กทม. ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ หรือจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่หลายท่านไฟแรงมาก แต่ทุกๆ นโยบายในมุมกลับ เราต้องการให้ประชาชนช่วยเรา อย่างเช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ถ้าทุกคนเข้าไปบอกว่าอะไรอยู่ตรงไหนก็ช่วยได้เยอะมาก เพราะเราไม่สามารถมีเจ้าหน้าที่ปูพรมได้ เพราะฉะนั้นการที่ประชาชนช่วยเรา เรารู้จุดที่ซีเรียส เราสามารถไปได้ก่อน อันนี้ทุ่นเวลามหาศาลและทำได้ตรง เพราะประชาชนบอกเราเอง หรืออย่างสิ่งที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องการแพทย์สาธารณสุขครบวงจร ซึ่งอันนี้เราจะพยายามทำตั้งแต่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ตามภาษาพวกเรา
นอกจากจะต้องร่วมมือกันเองระหว่างรองผู้ว่าฯ แต่ละท่านที่จะทำให้งานไม่เป็นเบี้ยหัวแตกอย่างที่นักวิชาการรัฐศาสตร์ชอบว่ากัน พอพูดแบบนี้ อนามัยและสุขภาพที่ดีเริ่มจากบ้าน เริ่มจากการที่สนใจ เข้าใจ ใส่ใจ เราหยิบยื่นส่วนที่เขาขาดให้ เราช่วยเหลือสนับสนุน เพราะฉะนั้นมันเกิดขึ้นเองไม่ได้ ดังนั้นทุกท่านมีความหวังกับทีม มีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงของ กทม. เรารับความหวังนั้นไว้ แล้วเราพยายามสุดความสามารถ แต่เราก็หวังความร่วมมือจากทุกท่านให้ช่วยเรา เพราะว่าพอประชาชนช่วยเราปุ๊บ งานมันจะง่ายขึ้น นี่ขอกันแบบโต้งๆ เลยนะคะ งานจะง่ายขึ้นแล้วเราได้ตอบประชาชนของเรา
มีคนจับผิดว่า Over PR ประชาสัมพันธ์เก่ง บางคนบอกว่าการไลฟ์ทำให้ข้าราชการที่เขาไม่ถนัดพูดหน้ากล้องเขาตกใจเตรียมตัวไม่ทัน ในทีมได้คุยเรื่องฟีดแบ็กไหม
เวลาอาจารย์ชัชชาติไปไลฟ์ ถ้ามองในมุมข้าราชการว่าไปทำให้ข้าราชการ กทม. เขาอึดอัดก็เป็นไปได้ เพราะว่าเขาไม่คุ้นชิน กลายเป็นว่าทุกคนต้องเป็นนักสื่อสารด้วยตัวเองหมด ซึ่งโดยปกติตามคอนเซ็ปต์ก็ต้องเป็นแบบนี้ เราเป็นคนทำงานเมือง เพราะฉะนั้น เรา พนักงานกวาด พนักงานทำความสะอาดทุกคน เป็นนักสื่อสารงานเมืองทั้งสิ้น
ดังนั้น วิธีการของอาจารย์ชัชชาติ จริงๆ ไม่รู้แกเจตนาเช่นนี้หรือเปล่า แต่ว่ามันเป็นการแนะนำงานของ กทม. ให้ประชาชนคน กทม. เข้าใจ ดังนั้นบางอย่างเวลาอาจารย์ชัชชาติเดินไปเจอข้อจำกัด เจอปัญหาที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่ ก็จะมีคนบอกได้ทันที นี่เป็นการหาคำตอบที่เร็วที่สุด โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดประชาพิจารณ์ใดๆ เลย ถ้าเรามองแบบนี้มันจะช่วยทำให้เราเข้าใจว่าเราได้อะไรบ้างจากเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่อง PR เลย
ตัวเองก็ทำสรุปงานแต่ละวัน แต่จะ PR ทำไมในเมื่อทุกคนจับตามองอยู่แล้ว ความคาดหวังมาพร้อมกับการติดตามตรวจสอบอยู่แล้ว ฉะนั้นอันนี้ไม่ใช่เรื่อง PR
ในมุมกลับกัน อาจารย์ชัชชาติรับผิดชอบไหมต่อการ PR ของตนเอง จำเรื่องคุณพี่แท็กซี่ได้ไหม อาจารย์ชัชชาติตามจนเจอแล้วขอโทษ เป็นการขอโทษผ่านสาธารณะด้วย ไม่ทำให้เกิดคุณโทษกับใครแล้วไปขอโทษลับหลัง หรือแม้แต่กรณีสำนักระบายน้ำที่อาจจะมีการสื่อสารสั้นไปหน่อย อาจารย์ชัชชาติก็ออกมาอธิบายให้
คือเป็นการรับผิดชอบต่อวิธีการที่จะช่วยแล้วมันเกิดผลกระทบ แกก็ใช้วิธีการของแก คือในเมื่อตั้งใจให้เกิดความโปร่งใส แต่ทำให้เกิดผลลบบางอย่าง แกก็แก้ผลลบนั้นด้วยความโปร่งใสกลับเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นถ้ามองแบบนี้มันคือความรับผิดและรับชอบของคนเป็นผู้นำที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง คืออยากชวนให้มองแบบนี้ด้วย
แต่ส่วนตัวมองเรื่องที่ว่าเป็นการเอาพวกเรามาขายผ่านหน้าจอ PR ทุกวัน ตอบแบบจริงๆ เลยนะ ผู้นำทุกระดับและเจ้าหน้าที่ทุกคนคือนักสื่อสารงานเมืองด้วยตัวเอง ดังนั้นไม่ผิดอะไรที่จะบอกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
ประเด็นความร่วมมือ ที่ผ่านมา กทม. ยังขาดอะไรอยู่ไหม ความร่วมมือจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น
ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต มองอย่างยุติธรรม กทม. ก็ยุ่งมาก ด้วยความเป็นหน่วยงานของ กทม. เองก็ยุ่งมาก ภาระงานก็เยอะ เจ้าหน้าที่ กทม. และลูกจ้างหลายๆ คนก็ยังมีวิถีชีวิตและภาวะที่เครียด เหนื่อย พอยุ่งขนาดนี้ งานไม่เคยถูกจัดระบบให้เอื้อต่อการมีชีวิตที่แฮปปี้บ้าง เป็นคนดูแลเมืองทั้งที เพราะฉะนั้นการจะให้เปิดพื้นที่สู่ความร่วมมือ การจะให้เอื้อมมือไปหาคนนั้นคนนี้ การที่จะไปนั่งเย็นๆ ดื่มกาแฟคุยปัญหา อาจไม่มีเวลาเหล่านั้นเลย
เพราะฉะนั้นจะพูดว่า กทม. ไม่ใส่ใจเลย อย่าเพิ่งตัดสินกันแบบนั้นเลย แต่ในอดีตเราอาจไม่เคยสื่อสารแบบนี้ด้วยว่า เราเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมมือกับเราได้ ประชาชนเป็นกำลังหลักในแง่ข้อมูลและการทำงาน ดังนั้นการไลฟ์ของอาจารย์ชัชชาติ การพยายามเปิดต้อนรับทุกอย่างแม้กระทั่งข้อเสนอของคนที่ลงแข่งผู้ว่าฯ ด้วยกันมา อันไหนเอามาปรับได้ก็ปรับ เป็นการทำให้เห็นว่าความร่วมมือมาได้จากทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ขอให้เรามีเวลา ใส่ใจ มีพื้นที่ให้เขาหน่อย แล้วเราก็พยายามทำตาม
เพราะฉะนั้นความร่วมมืออาจจะเคยน้อย อาจจะเคยมีข้อจำกัด แต่จากนี้ไป ตอนนี้กำลังจัดทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง คือพวกเราเองก็มือใหม่ส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกันข้าราชการก็ช่วยเราเยอะมาก แต่ด้วยความที่ไม่เคยจัดการกับอะไรแบบนี้มาก่อน จะวุ่นวายยุ่งอยู่แป๊บหนึ่ง เราจะพยายามเร่งสปีดเต็มที่ทำให้เอามาหยิบใช้ได้โดยง่าย ให้สมกับที่เราได้มาจำนวนมาก ความร่วมมือต้องดีกว่านี้
การที่คนเอาอาจารย์ชัชชาติไปเปรียบกับนายกฯ จะทำให้รัฐบาลเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้แอ็กทีฟขึ้นหรือไม่
คงเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เราตั้งใจแบบนี้ วิธีไหนก็ได้ คำตอบควรต้องเป็นแบบนี้มากกว่า คือวิธีไหนก็ได้ที่ประชาชนที่รอคอยเราอยู่ ไม่ว่าจะในฐานะผู้รับบริการสาธารณะใดๆ ก็ตาม หรือคนที่คาดหวัง ถึงแม้ทรัพยากรของ กทม. ที่ว่ามีเยอะ แต่ก็ไม่เคยพอต่อการทำอะไร ดังนั้นวิธีการใดก็ได้ที่ทำให้ประชาชนทราบว่าปัญหาหน้าบ้านของเขา เรื่องของเขาที่ทำให้เขาเป็นทุกข์อยู่ แล้วไม่มีความสุข ได้รับการตอบสนองแบบไหน
ดิฉันคิดว่าวิธีการไหนก็ได้ที่ให้ประชาชนได้รับสิ่งนี้ ได้รับการอธิบาย ได้รับบริการ ได้รับรู้ว่าเราฟังปัญหา
จริงๆ กระบวนการนี้ไม่ใช่ได้ประโยชน์แต่เฉพาะคนที่ทำหรือรัฐบาลทำ การที่เราทำแบบนี้ทำให้เราได้ฟีดแบ็กทันที เราได้รับการตอบกลับทันทีว่าเขาคิดอย่างไร
ทรัพยากรไม่พอ แต่พอมีเครือข่ายอยากร่วมทำด้วย สิ่งที่จะตามมา เราเคยไม่เข้าใจเขาเรื่องไหนเรารู้เลย คำตอบมาเลย ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แล้วก็อันไหนที่เราคิดว่าทรัพยากรเราไม่พอ คนพวกนี้พร้อมช่วยหมด ดังนั้นหากถามว่ารัฐบาลจะปรับไหม อย่าใช้คำว่าปรับตามเราหรือลอกเราเลย ถ้าคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ประชาชนแฮปปี้มีความสุข ประชาชนรู้สึกว่าเขาได้บอก แล้วเรารับฟัง เราทำ วิธีการแบบนี้ไม่ใช่ของใคร ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะทำไหม
ดังนั้น หากทำแล้วประชาชนมีความสุขขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้นก็ทำเถอะ อย่าไปคิดเลยว่าใครทำก่อนทำหลัง ทำไปเลย พอทำปุ๊บคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าลอก วิพากษ์วิจารณ์ว่าเลียนแบบ แต่พอประโยชน์ไปถึง ชีวิตดีขึ้น รับรองว่าคำชมตามมา ส่วนคำที่แซะกันนิดๆ ก็มองให้เป็นความสุขของสังคมค่ะ
คนไทยชอบคนมีอารมณ์ขัน เป็นคนมีสุนทรียะมาก่อน ก่อนโควิดเราเคยแฮปปี้กันมาก เพราะฉะนั้นมองให้เป็นแบบนี้ ตอบโจทย์ประชาชนกันดีกว่า แข่งกันตอบโจทย์ประชาชนกันดีกว่า อันนี้สนุกกว่า
มีแต่เสียงชื่นชมทีมอาจารย์ชัชชาติ สมมติว่าวันหนึ่งตอบสนองความคาดหวังเหล่านั้นไม่ได้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานเข้ามา เราจะรับมือกับจุดนั้นไหวหรือไม่
ถ้าทำไม่ได้เสียใจแน่ค่ะ หลายเรื่องมาตรงนี้ก็อยากทำให้ได้ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็คงเสียใจ แต่ว่าเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเราทำงานทุกวันอย่างตั้งใจ เราพยายามสุดความสามารถสุดสติปัญญา เราไม่อายที่จะบอกว่าเราไม่รู้ เราทำที่สุดแล้ว แล้ววันหนึ่งอาจจะเกือบตอบได้แล้วแต่ดันยังตอบไม่ได้ขึ้นมา ช้าไปไม่ทัน หรือแม้กระทั่งทำแล้วมันไม่ได้จริงๆ แต่เราทำเต็มที่แล้ว เสียใจแน่
แต่ถามว่าเราผิดหวังถึงขนาดยอมแพ้ไหม 4 ปีไม่ได้ให้เรายอมแพ้ปีที่ 4 มันสั่งให้เราตรวจตัวเองทุกวันที่เราทำงานแล้วย้อนกลับไปดู ดังนั้นถ้าเรารู้จักจะยอมรับว่าเราก็พลาดเป็น แล้วจัดการให้ไวสุดความสามารถที่คนรอช่วยเราเยอะแยะ ถ้าไม่ได้ก็ยอมรับว่าไม่ได้
เราเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อเราถูกเวียนเข้ามาในยุคสมัยของเรา แล้วเราทำไม่ได้ เราควรพิจารณาตัวเอง ในเมื่อเราทำไม่ได้เราควรให้โอกาสคนอื่น แล้วถ้ากลไกมันพาเราให้ออกจากตรงนี้ไป เราก็ยอมรับเลยว่าเราได้ทำที่สุดแล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนคนที่อาจจะรุ่นใหม่กว่าเราด้วยซ้ำ เราก็ชื่นชมเพราะเราก็คน กทม. ใครทำได้ เราก็ได้
มีอะไรอยากเมาท์อาจารย์ชัชชาติไหม เอาแรงมาจากไหน รองผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องมีพลังเยอะตาม
เวลาแกโทรมาเช็กงานโน่นนั่นนี่ แกเป็นคนสั่งเยอะ บางทีแกสั่งซ้อน ขณะที่เราไปงานหนึ่งที่แกสั่งให้เราไป แกก็ชวนไปอีกที่หนึ่ง ก็เลยบอกอยู่อีกงานหนึ่ง แกก็บอก เออ ใช่ เดี๋ยวผมไปเอง คือจริงๆ แล้วเราอยากไปกับแก แต่มันไม่ได้
สิ่งหนึ่งที่แกถามเสมอคือ ยังสนุกนะ? อันนี้เป็นคำถามที่โดนถามประจำ ยังสนุกนะ? เขาจะไม่ถามว่าเหนื่อยไหม พักพอไหม เขาจะไม่ถาม เขาจะถามคำนี้ตลอดเวลา ยังสนุกอยู่นะ? แสดงว่าตัวเขาเองมองว่า เรารับมาทำเรารู้อยู่แล้วว่ามันเหนื่อยตั้งแต่นาทีแรก และยากด้วย แล้วเขาก็รู้ว่าเรามาจากงานอื่นของเรา แต่คำว่าสนุกไหม หมายถึงเขาให้กำลังใจมาด้วยตราบใดที่ยังสนุกอยู่ แม้จะยากจะเหนื่อย สนุกกับมันเพื่อให้ได้ในสิ่งตอบสนองตัวเราเองด้วยไม่ว่าจะเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่ถ้าวันไหนแพสชันตรงนี้มันหมด ความหลงใหลหลงรักการทำงานพัฒนาเมืองมันหายไปแล้ว ก็บอกเขา คิดว่าเป็นแบบนี้ ก็บอกเขาเขาคงพร้อมให้เราหยุด ฉะนั้นมุมนี้เป็นมุมที่เรารู้ว่าวันหนึ่งถ้าเราพลาดอะไรไปบ้าง หรือเราไม่ไหวแล้วจริงๆ เขาคงเข้าใจ เราก็ไม่อยากทำให้ผู้ว่าฯ เราผิดหวัง เราไม่อยากให้คนที่ตั้งใจขนาดนี้ผิดหวัง
บทสัมภาษณ์นี้ถอดการสนทนาและเรียบเรียงจากรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD วันที่ 8 มิถุนายน สัมภาษณ์ ทวิดา กมลเวชช และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.)