วานนี้ (16 กันยายน) สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกแถลงเกี่ยวกับการติดตามเงินจำนวน 10.46 ล้านบาทจากผู้กระทำผิดในโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ความว่า
คดีนี้เมื่อปี 2565 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับเรื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหา จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ ททท.) และบุตรสาว ซึ่งร่วมกันทุจริตโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2545-2550 ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ประสานงานกับอัยการสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตส่งคืนให้กับประเทศไทย
สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงความเป็นมาเกี่ยวกับคดี ดังนี้
- ทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการเจรจาให้ส่งคืนดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนของอัยการสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินคดีกับ Mr.Gerald Green (ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว) และภรรยาของเขาคือ Ms.Patricia Martha Green และคนไทยสองคนคือ จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. และ จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว ซึ่งได้ร่วมกันทุจริตรับสินบน
จากการตรวจสอบ ทางการสหรัฐอเมริกาพบเส้นทางการเงินของสินบนส่วนหนึ่งจ่ายให้แก่ จุฑามาศ ศิริวรรณ โดยส่งไปยังเกาะเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเอง ภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร
- ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2565 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ทางการเกาะเจอร์ซีย์ดำเนินการริบเงินสินบนของ จุฑามาศ ศิริวรรณ ดังกล่าว ส่งคืนประเทศไทย หลังจากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์ได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาริบทรัพย์สินตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงานจนกระบวนการพิจารณาของทางการเกาะเจอร์ซีย์มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวและคดีถึงที่สุด ทางสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์ได้สอบถามมายังสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ว่าเงินดังกล่าวจะให้ส่งคืนให้ทางการสหรัฐอเมริกาหรือประเทศไทย เนื่องจากมีการยื่นคำร้องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์ทั้งสองประเทศ
- สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้หารือประเด็นดังกล่าวกับพนักงานอัยการสหรัฐอเมริกาและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา จนได้ข้อยุติว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์จะส่งทรัพย์สินให้ทางสหรัฐอเมริกาก่อน เพราะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ยึดก่อน รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ในหลายประเทศ เมื่อทางการสหรัฐอเมริกาได้รับทรัพย์สินจากทางการเกาะเจอร์ซีย์แล้วจะรวบรวมส่งเงินคืนให้กับประเทศไทยเอง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1986
- ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดจึงแจ้งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์ รวมถึงการประสานกับพนักงานอัยการสหรัฐอเมริกาและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้สหรัฐอเมริกาได้ส่งเงินจำนวน 10.46 ล้านบาท คืนให้กับประเทศไทยเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
นอกจากนี้เงินสินบนจากคดีนี้ได้โอนผ่องถ่ายไปยังหลายประเทศ รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบและส่งคืนทรัพย์สินมายังประเทศไทยในทุกประเทศ ขณะนี้ทุกเรื่องอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเทศนั้นๆ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานอัยการในแต่ละประเทศ และจะรายงานผลความคืบหน้าต่อไป
ในเรื่องดังกล่าว อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการ ซึ่งความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการประสานงานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุดสหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา และสำนักงานอัยการสูงสุดเกาะเจอร์ซีย์ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นภารกิจโดยตรงของสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายของประเทศไทย
มีรายงานว่า สำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก จุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 77 ปี อดีตผู้ว่าการ ททท. และ จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว อายุ 50 ปี เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 จากกรณีรับเงินตอบแทนสามี-ภรรยาชาวอเมริกัน นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ พ.ศ. 2545-2550 มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
โดยให้จำคุกจุฑามาศ 66 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี ส่วนจิตติโสภาจำคุก 40 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคงจำคุกสูงสุดจุฑามาศ 50 ปี และจำคุกจิตติโสภารวม 40 ปี