หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 ได้เพียงไม่กี่เดือน นายโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าสงครามการค้ารอบใหม่ หรือ Trade War 2.0 ทันที ครั้งนี้ เป้าหมายไม่ได้มีแค่จีน แต่รวมถึงเม็กซิโกและแคนาดาที่สหรัฐใช้มาตรการทางการค้าไปตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และอีกกว่า 200 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกในวันที่ 2 เมษายน 2568 และเรียกวันดังกล่าวว่าวันปลดแอก หรือ Liberation Day
บทความนี้พาทำความเข้าใจหลักคิดของทรัมป์ในการใช้ภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้าและพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา รวมถึงวิเคราะห์จุดอ่อนของแนวคิดดังกล่าว
ทรัมป์เชื่อว่า การขาดดุลการค้า (Trade decifict) หรือการนำเข้ามากกว่าการส่งออก เป็นเรื่องไม่ดี และมีสาเหตุมาจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade) เช่น การใช้นโยบายทางการค้า/นโยบายภายในประเทศของประเทศคู่ค้า และการขโมย และ/หรือ ไม่เคารพทรัพย์สินทางปัญญา ในอีกแง่หนึ่ง ทรัมป์มองว่าการขาดดุลการค้าเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน รายได้ที่แท้จริง และความกินดีอยู่ดีของชนชั้นแรงงาน สำทับกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นหัวใจของเศรษฐกิจได้หายไป และถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ
เมื่อดูสถิติ จะพบว่าสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่มาจากภาคอุตสาหกรรมใน GDP (Manufacturing value added in GDP) ของสหรัฐอเมริกามีค่าประมาณร้อยละ 10 ของ GDP มากว่าศตวรรษ และสัดส่วนของแรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ลดลงจาก 25% ในปี 1950 เหลือเพียง 8% ในปี 2010 โดยทรัมป์เชื่อว่า หากขึ้นภาษีนำเข้าแล้ว สินค้าต่างประเทศจะขายไม่ได้เพราะมีราคาแพงขึ้น กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่ผลิตในอเมริกา ขณะเดียวกัน นโยบายทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เคยไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่ต่างประเทศกลับมาตั้งโรงงานในอเมริกา การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และสามารถ Revitalise ภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละคู่ค้า เพื่อสร้างการค้าที่สมดุล (Balanced trade) ในแต่ละคู่ค้า สะท้อนถึงความไม่เข้าใจว่าทำไมแต่ละประเทศถึงค้าขายกัน หรือทำไมสหรัฐถึงขาดดุลการค้ากับบางประเทศแต่ได้ดุลการค้ากับบางประเทศ ซึ่งเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำอธิบายคือแนวคิดความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative advantage) การค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะแต่ละประเทศแตกต่างกัน ความแตกต่างนี้มาจากการมีต้นทุนในการผลิตที่ต่างกัน (ต้นทุนนี้ ขึ้นอยู่กับทรัพยากร ทุน แรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน) การค้าระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ทำให้ประเทศมีความชำนาญ (Specialise) ในการผลิตสินค้าและบริการที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด และส่งออกสินค้าและบริการนั้นไปยังประเทศอื่นได้ (มี surplus) ขณะเดียวกันก็นำเข้าสินค้าและบริการที่ตัวเองไม่มีความได้เปรียบในการผลิต (เกิดเป็น deficit)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นการขาดดุลการค้าและการได้ดุลการค้าอยู่เสมอ การขาดดุลการค้าหรือได้ดุลการค้า แน่นอนว่ามันหมายถึงการไหลเข้าไหลออกของเงินตรา แต่มันไม่ได้ให้สื่อว่า เรากำลังเสียเปรียบหรือได้เปรียบใคร แม้มาตรการกีดกันทางการค้าอาจส่งผลต่อมูลค่าของการขาดดุล/ได้ดุลกับบางคู่ค้า แต่มันไม่ได้หมายความว่าการขาดดุลหรือได้ดุลการได้มาจากมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งหมด ความสมดุลทางการค้า (Balanced trade) จึงไม่เคยเป็นเป้าหมาย (Goal) ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์สำนักใด
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือว่า ผมทำงานให้กับองค์กรหนึ่ง นั่นเป็นเพราะผมมีสิ่งที่องค์กรต้องการ ผม specialise ในงานบางอย่าง ที่มันแพงเกินไป/เป็นไปไม่ได้ สำหรับองค์กรที่จะทำด้วยตนเอง องค์กรนั้นก็จ่ายเงินเดือนผมมาเป็นค่าตอบแทน ขณะเดียวกัน ผมไม่ได้จ่ายเงินให้กับองค์กรเลยเพราะผมไม่ได้ซื้อหรือสนใจในผลิตภัณฑ์ที่องค์กรจำหน่าย ดังนั้น ผมจึงมี surplus กับองค์กร
ขณะเดียวกัน ผมซื้อข้าวผัดกะเพราหมูสับของป้าแมวทุกวัน เพราะผมทำเองแล้วพบว่าแพงกว่าซื้อกินมาก แต่ป้าสามารถขายได้ในราคาจานละ 50 บาท เพราะป้าแมวบริหารจัดการต้นทุนได้เนื่องจากเป็นร้านอาหาร ขณะเดียวกัน ป้าแมวก็ไม่ได้มาซื้ออะไรจากผม ผมจึงมี decifit กับป้าแมว จะเห็นว่า ชีวิตก็ดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ต้องมี balanced trade กับองค์กรหรือป้าแมว สิ่งที่ทรัมป์ทำ คือพยายามให้ผมซื้ออะไรบางอย่างจากองค์กร (ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องการ หรือซื้อจากที่อื่นแล้วถูกกว่า) และพยายามให้ป้าแมวซื้ออะไรบางอย่างจากผม
อีกประเด็นที่สำคัญคือการหมกมุ่นกับสมการ Growth Indentity โดยคิดว่า การขาดดุลการค้าทำให้ GDP ลดลง ซึ่งเรามีเรื่องของการขาดดุลการค้าเพราะเราต้องการคำนวณ GDP จริงอยู่ ที่ตามการคำนวณ GDP ด้านรายจ่ายนั้น เราจำเป็นต้องหักค่าใช้จ่ายในสินค้านำเข้าออก เพื่อให้ได้รายจ่ายสำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ แต่ในโลกโลกาภิวัตน์ มีสินค้ามากมายที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศหรือมีราคาแพง ไม่นับรวมการนำเข้าสินค้าขั้นกลางที่เอามาใช้ภาคอุตสาหกรรม การพยายามลดการขาดดุลการค้าเพื่อเพิ่ม GDP จึงเป็นอะไรที่ไม่มีเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ และเราไม่เคยมีเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลดการขาดดุลการค้า
อีกหนึ่งประเด็นคือการใช้ Tariff เพื่อพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่คำถามที่ควรตั้งก็คือ สหรัฐอเมริกายังมี Comparative Advantage ในสินค้าอุตสาหกรรมหรือไม่ และจริงๆ แล้ว กิจกรรมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดควรไปอยู่ในเซ็กเตอร์อื่นๆ เรื่องนี้ ผมได้ประเด็นมาจาก American Factory ซึ่งเป็นสารคดีใน Netflix ที่ได้รับรางวัลออสการ์ ผลิตโดยบริษัทของอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่าง บารัก โอบามา และ มิเชล โอบามา
เนื้อหาหลักเป็นการนำเสนอการต่อสู้ดิ้นรนของโรงงานรถยนต์เชฟโรเลตที่รัฐโอไฮโอ Key Takeaway คือ แรงงานอเมริกันไม่เหมาะกับการทำงานในโรงงาน (อย่างน้อยก็ในกรณีของโรงงานรถยนต์) ทั้งในเรื่องของความต่อเนื่องของการทำงานและด้านกายภาพ (มีโจ๊กว่านิ้วของคนอเมริกันใหญ่เกินไปสำหรับการผลิตกระจก) นอกจากนั้น เทคโนโลยีที่สมัยอเมริกามีและเป็นเจ้าของก็สูงมากเกินกว่าจะเอาไปใช้ในโรงงานเย็บปักถักร้อย ทำรองเท้า ทำผลไม้กระป๋อง หรือแม้แต่ทำกระจกสำหรับรถยนต์ เรื่องนี้ชี้ให้ประเด็นว่า หากโจทย์ของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องการจ้างงานและค่าแรง การเอาภาคอุตสาหกรรมกลับมายังประเทศอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็เป็นไปได้
มาตรการทางภาษีของทรัมป์ได้พาเรากลับไปสู่ยุค ISI (Import-substitution Industrialization) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการใช้เครื่องมือทางการค้าเพื่อกีดกันการค้าและฟูมฟักอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเข้มข้น ทั้งภาษีนำเข้า การจำกัดการส่งออก รวมถึงการอุดหนุนการผลิตภายในประเทศ (Subsidy) แต่งานศึกษาจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่า ISI สร้างผลเสียมากกว่าผลดีให้แก่เศรษฐกิจและการจ้างงาน สาเหตุก็เป็นเพราะ ISI นั้น เป็นการบิดเบือนการผลิต ทำให้ทรัพยากรถูกใช้ไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูง หลายประเทศที่ดำเนินนโยบาย ISI อย่างเข้มข้น เช่น ประเทศในลาตินอเมริกาและเอเชียใต้ ต่างมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ขณะที่ประเทศที่หันมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดกลับมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีการจ้างงาน และลดความยากจนได้
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในภูมิทัศน์การค้าโลก นั่นคือ สัดส่วนของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (Manufactured Goods) จากประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) ลดลงและถูกแทนที่ด้วยการส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศกำลังพัฒนา (เช่น จีน ไทย และเวียดนาม) ค่อยๆ พัฒนาประเทศ จากประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน มาเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีอุตสาหกรรมเป็นกลจักรขับเคลื่อน เรื่องนี้ สอดคล้องกับระดับของทุนมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อยๆ ดีขึ้นตามช่วงเวลา โมเดลการพัฒนาประเทศโดยใช้การส่งออก (Export-led Economic Development) จึงถูกใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นต้นตอของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและมั่นคง
ทรัมป์ได้สร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจให้กับภูมิทัศน์การค้าโลกในรอบ 100 ปี ดังที่นายกฯ สิงคโปร์ ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศเคารพในกฎและกติการ่วมกันได้จบสิ้นลงแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความไม่เข้าใจเรื่องการขาดดุลการค้าของผู้นำโลกที่ในท้ายที่สุดอาจกลายมาเป็นความพยายามที่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก
ภาพ: aprott / Getty Images