×

นักวิชาการคุยภูมิธรรม ยื่น 4 ข้อให้ชะลอดำเนินคดีการเมือง ตั้งกรรมการกลั่นกรอง

โดย THE STANDARD TEAM
04.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (4 มีนาคม) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงพาณิชย์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย

 

  • รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ จากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
  • โน้ต-ธนพล พันธุ์งาม จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)
  • อันนา อันนานนท์ 

 

เดินทางเข้าพบ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เรื่อง ‘ขอให้ดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมืองด้วยความเป็นธรรม’

 

รศ.อนุสรณ์ กล่าวภายหลังพบรองนายกรัฐมนตรีว่า รองนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องของการแสดงออกทางการเมืองว่ามีการดำเนินคดีที่น่าเป็นห่วง 

 

รศ.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี เหมือนมีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ทำให้เรามีข้อจำกัดในการคลี่คลายปัญหาดังกล่าว วันนี้ คนส. จึงมองหาโอกาสหรือช่องทางที่ทำได้ ให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้ โดยทางรองนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะนำข้อเสนอจาก คนส. 4 ข้อไปตั้งคณะกรรมการและพิจารณาหารือ

 

“เราควรที่จะมีพื้นที่ทางเลือกที่เป็นตรงกลางที่ทั้งสองฝ่ายพอจะรับกันได้ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านี้” รศ.อนุสรณ์ กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า สิ่งที่หารือกับรองนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 วัน เรามีความพยายามที่จะส่งสัญญาณไปว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันเริ่มคลี่คลายแล้ว คดีต่างๆ ที่เป็นคดีเก่าทางการเมืองทั้งหมดมันจะมีส่วนที่จะคลี่คลายได้บ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับสังคมไทย ตนเชื่อว่าทุกภาคส่วนยินดีที่จะหารือกับรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อทำให้สิ่งที่มันยากสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีวันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

 

สำหรับจดหมายเปิดผนึกของ คนส. มีรายละเอียดดังนี้ 

 

สถานการณ์การเมืองไทยเหมือนกลับสู่สภาวะปกติ เพราะมีรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศมาเป็นเวลา 7 เดือนแล้ว อีกทั้งยังมีระบบรัฐสภาเป็นกลไกแก้ปัญหา แต่การดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมืองกลับไม่ได้กลับสู่สภาวะปกติตามไปด้วย นับตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนที่มีการเร่งสอบสวนผู้ต้องหา และมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีโดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบว่าครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ขณะที่ในชั้นอัยการนอกจากมักมีการสั่งฟ้องคดีแม้จะเป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว ยังมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีการแสดงออกทางการเมืองบางประเภทขึ้นมาเพื่อจะสามารถสั่งฟ้องได้สะดวกขึ้น ประการสำคัญคือ ในชั้นศาลที่ผู้ต้องหาถูกพรากสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีไปอย่างมาก โดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนในชั้นการลงทัณฑ์ ผู้ต้องขังในคดีถึงที่สุดยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม 

 

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ยังคงถกเถียงกันว่าจะครอบคลุมความผิดประเภทใดและต้องใช้เวลาอีกมาก ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงอยู่ในขั้นตอนการถกเถียงกันเรื่องการออกเสียงประชามติ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ทว่าสภาวการณ์ที่เกิดกับผู้แสดงออกทางการเมืองอยู่ในขั้นวิกฤต ไม่สามารถรอกระบวนการรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้ ประกอบกับหลายกรณีรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจหน้าที่ที่สามารถช่วยบรรเทาสภาวการณ์นี้ได้ 

 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) รวมถึงกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆ จึงเรียกร้องนายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้มีนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้    

 

  1. ชะลอการดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมืองระหว่างที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา โดยให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเฉพาะกรณีที่ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิด และให้อัยการชะลอการสั่งคดี หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกา โดยเฉพาะในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือไม่อุทธรณ์กรณีศาลชั้นต้นยกฟ้องหรือมีคำพิพากษาให้รอลงอาญา      

 

  1. เคารพสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศ และหลักยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติหรือการแทรกแซงใดๆ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย และมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่จะต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด การไม่อนุญาตต้องเป็นข้อยกเว้นและกระทำอย่างเคร่งครัด และมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น และการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวต้องไม่เอื้อให้เกิดการถอนคำสั่งการปล่อยตัวอย่างผิดหลักการ 

 

  1. ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมืองในชั้นพนักงานสอบสวน และพิจารณายุบเลิกคณะกรรมการพิจารณาคดีผู้แสดงออกทางการเมืองในชั้นอัยการ   

 

  1. คุมขังผู้ต้องหาและผู้ต้องขังคดีทางการเมืองแยกจากผู้ต้องหาและผู้ต้องขังคดีอื่น รวมถึงพิจารณาทางเลือกอื่นแก่ผู้ต้องขัง เช่น การกักบริเวณ และการควบคุมตัวในรูปแบบอื่น ตลอดจนปรับปรุงทัศนคติบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการคุมขังว่าผู้แสดงออกทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร   

 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เห็นว่า แม้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมากว่าทศวรรษดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่ประชาชนที่ถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งกลับยังต้องเผชิญกับผลที่ติดตามมาจนไม่สามารถหลุดไปจากความขัดแย้งนี้ได้ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจหน้าที่ที่มีในการช่วยคลี่คลายปัญหานี้ ควบคู่ไปกับกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ในรัฐสภา เพื่อสังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X